รพ.ราชวิถีผุดแอพพลิเคชัน ‘Eartone’ ตรวจการได้ยิน รณรงค์ลดผู้ป่วยประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผอ.รพ.) ราชวิถี และ ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดกิจกรรมรณรงค์ “โรงพยาบาลราชวิถี ลดเสียง ลดหูหนวก” เนื่องในวันการได้ยินโลก (World Hearing Day) ประจำปี 2561
นพ.เจษฎา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี เป็นวันการได้ยินโลก เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยิน และการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน หรือหูเสื่อม ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรที่มีปัญหาการได้ยิน 360 ล้านคนในประเทศไทย พบกว่า 2.7 ล้านคน โดยกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น ปัญหาการสูญเสียการได้ยิน มีหลายสาเหตุ เช่น จากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือจากการทำงานหรือไปเที่ยวในสถานที่เสียงดัง โดยกลุ่มเสี่ยงสูงคือ กลุ่มคนที่ทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง
“อาการเบื้องต้นของผู้ที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน เช่น ได้ยินเป็นเสียงซ่าๆ เหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีขี้หูอุดตัน หรืออาจมีแก้วหูทะลุ ประสาทหูเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แก้ไขได้ด้วย 2 วิธี คือ การใช้เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล” นพ.เจษฎา กล่าวและว่า สำหรับการป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่เสียงดังเป็นเวลานาน หรือหากต้องอยู่ในที่เสียงดัง มีความเสี่ยง ควรป้องกันโดยการใส่เครื่องป้องกันเสียง พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อป้องกันประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ให้คุณครูและผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็ก หมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็ก ซึ่งหากพบว่าเด็กมีพฤติกรรม เช่น เรียกไม่ได้ยิน พูดช้า พูดไม่ชัด เป็นต้น อาจเข้าข่ายการบกพร่องทางการได้ยิน ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
ขอบคุณ https://www.prachachat.net/world-news/news-125103