การมีลูกเป็นเด็กออทิสติกนับเป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่ยากที่สุดสำหรับชีวิตของคนเป็นพ่อแม่ ยิ่งมาเกิดกับแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยแล้ว แทบจินตนาการไม่ออกเลยว่า ชีวิตจะยากลำบากเพียงใด
แต่ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล ผ่านสถานการณ์นั้นมาแล้ว เธอเลี้ยงดู เทย์เลอร์-ณัฐธัญ ธรรมกิจวิบูลย์ ลูกชายออทิสติกเพียงลำพัง จนวันนี้เทย์เลอร์อายุ 20 ปี และเป็นนักเปียโนออทิสติก
ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากสังคมที่ค่อนขอดว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรกับเด็กออทิสติก แต่แม่ต่ายกลับเลือกทำในสิ่งตรงข้าม มองหาจุดเด่นในตัวลูกชาย ส่งเสริมเขาอย่างเต็มที่ แล้วใช้จุดเด่นนั้นกลบจุดด้อยอย่างความบกพร่อง เพื่อให้สังคมหันมายอมรับและเข้าใจในตัวลูกชายมากขึ้น
เทย์เลอร์เข้างานที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น. เพื่อเล่นเปียโนให้ผู้เข้ารับบริการได้ฟัง ปลอบประโลมหัวใจที่อาจกำลังวิตกกังวล หรือหวาดกลัว
Curious People มีโอกาสพูดคุยกับแม่ต่ายและเทย์เลอร์ ถึงชีวิตที่ผ่านมา กว่าที่จะแบ่งปันความสุข การปลอบประโลมผ่านเสียงดนตรีเช่นวันนี้ พวกเขาทั้งคู่ต่างต้องต่อสู้บนวิถีทางของตัวเอง ปลอบประโลมหัวใจกันและกัน จนถึงวันนี้ ที่คำว่า ‘ออทิสติก’ ทำอะไรพวกเขาไม่ได้อีกต่อไป
01 ความสับสนของผู้เป็นแม่
ห้วงวัยเยาว์ของเทย์เลอร์เริ่มต้นเหมือนเด็กทั่วไป แม่ต่ายส่งเขาเข้าโรงเรียน เริ่มต้นจากชั้นอนุบาลศึกษา เรียนรู้ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ กระทั่งขึ้นชั้นประถม สัญญาณบางอย่างก็เริ่มบ่งชี้ว่า เทย์เลอร์ต่างจากเด็กทั่วไป
“ตอนเขาเรียนชั้นอนุบาล ทั้งครูและแม่ก็ยังดูไม่ออก เพราะเทย์เลอร์สามารถสื่อสารได้ สบตาได้ อาจจะมีซนบ้าง อยู่ไม่นิ่งบ้าง ติดของเล่นบ้าง แต่เด็กเล็กส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว เลยไม่ได้เอะใจอะไร”
เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษา การเรียนในห้องเรียนจริงจังมากขึ้น เด็กทุกคนต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะ ฟังครูสอน ควบคู่ไปกับการเปิดหนังสือเรียน แต่เทย์เลอร์ไม่สามารถนั่งอยู่ที่โต๊ะได้ และมักวิ่งออกนอกห้องตามใจ
ขณะเดียวกันช่วงชั้นปีนี้ โรงเรียนเริ่มปลูกฝังให้เด็กทำกิจกรรมทางสังคม ทั้งการเข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ ซึ่งเทย์เลอร์ไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้
“ครูเริ่มดูออกแล้ว ด้วยความที่คลุกคลีกับเด็กจำนวนมาก มีประสบการณ์มามาก ตอนครูมาบอกแม่แรกๆ แม่ไม่เชื่อ คิดว่าลูกอาจจะแค่ไฮเปอร์ หรือสมาธิสั้น เป็นความดื้อรั้นของแม่ในตอนนั้น”
เมื่อมิอาจทัดทานความเป็นจริงตรงหน้า แม่ต่ายตัดสินใจพาเทย์เลอร์เข้าพบแพทย์ รับยามากิน เป็นยาที่ช่วยลดพฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่ง ความไม่มีสมาธิ และลดความก้าวร้าว แต่การรับยาเป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรเทย์เลอร์ก็ไม่อาจอยู่นิ่งในระดับที่เป็นปกติ
“ทางโรงเรียนขอกับแม่มาเลยว่า ต้องการคนประกบเทย์เลอร์ เพราะวิ่งออกนอกห้องตลอดเวลา โรงเรียนต้องเสียบุคลากรไปหนึ่งคนสำหรับไล่ตาม”
แม่ต่ายตอบรับคำขอของทางโรงเรียน โดยจ้างพี่เลี้ยงมาดูแล แต่ก็ไม่เป็นผลดีเท่าไรนัก เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเทย์เลอร์
“แม่เริ่มต้นจากการจ้างพี่เลี้ยงทั่วไป ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร เพราะการดูแลเด็กออทิสติก ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจริง พี่เลี้ยงทั่วไปทำได้แค่จับน้องให้นิ่งเท่านั้น แต่ไม่สามารถอธิบาย หรือสอนให้เทย์เลอร์เรียนรู้เมื่อทำผิด หรือเรื่องที่จำเป็นได้”
แต่ละวันผ่านไป สัญญาณต่างๆ ได้รับการพิสูจน์แล้ว ตรงกันข้าม แม่ต่ายยังคงดื้อรั้น จมอยู่กับความสับสน เพราะจากประสบการณ์ที่เคยรับรู้มาเกี่ยวกับเด็กออทิสติก ทำให้มิอาจก้าวข้ามความหวาดกลัว
“ตอนนั้นแม่ยอมรับว่า แม่ทำตัวไม่น่ารัก เลือกที่จะไม่เข้าใจ อยู่กับความสับสน แต่ด้วยความที่เทย์เลอร์มีแม่เลี้ยงดูใกล้ชิดเพียงคนเดียว ถ้าไม่ใช่แม่แล้ว จะเป็นใครได้อีก ที่จะเข้าใจเขา”
02 เปิดใจเรียนรู้และอยู่เคียงข้าง
ด้วยความที่อยากให้เทย์เลอร์เรียนรู้เหมือนเด็กทั่วไป แม่ต่ายจึงพาเทย์เลอร์ไปฝึกที่สถาบันฝึกเด็กพิเศษ ควบคู่ไปกับการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และจัดหาผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มาดูแลเทย์เลอร์ที่โรงเรียน
“พอเป็นผู้เชี่ยวชาญ แม่ก็เบาใจ เพราะเขาดูแลโดยการส่งเสริมมากกว่าควบคุม ผู้เชี่ยวชาญจะปล่อยให้เทย์เลอร์ทำกิจกรรมด้วยตัวเองตามปกติ คอยรักษาระยะห่าง ถ้าเตลิดค่อยเข้าประกบ แล้วหาทางทำให้เทย์เลอร์กลับสู่กิจกรรมที่ทำอยู่ ทั้งการเรียน การเข้าสังคม พัฒนาการแต่ละด้านจึงดำเนินไปพร้อมกัน”
เทย์เลอร์เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แม่ต่ายมองหาโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อให้เทย์เลอร์รับการศึกษาต่อ
“โรงเรียนที่เทย์เลอร์เข้าเรียน เป็นโรงเรียนรัฐบาล ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง ยังเรียนร่วมกับชั้นเรียนปกติ พอขึ้นสู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ทางโรงเรียนก็ให้เปลี่ยนมาเข้าชั้นเรียนคู่ขนาน ซึ่งมีชั้นปีละหนึ่งห้อง เป็นห้องเรียนที่รวมเด็กพิเศษไว้ด้วยกัน มีประมาณสิบคน เป็นห้องเรียนที่มีครูพี่เลี้ยงประจำ แม่ก็ค่อนข้างเบาใจ ไม่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญประกบ”
ห้องเรียนคู่ขนานช่วยให้เทย์เลอร์สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้รับวุฒิการศึกษา เพื่อไปต่อยอดการศึกษาที่สูงขึ้น แต่แม่ต่ายเลือกที่จะหยุดการเรียนในระบบปกติ
“ต้องยอมรับเลยว่าเป็นแค่วุฒิการศึกษา แต่ความเข้มข้นทางวิชาการของห้องเรียนคู่ขนานไม่อาจเทียบเท่าห้องเรียนปกติ ด้วยความที่เป็นเด็กพิเศษ ข้อจำกัดต่างๆ แม่เลยไม่คาดหวัง ได้เท่านี้สำหรับแม่ ก็ถือว่าพอใจแล้ว”
แม่ต่ายเลือกที่จะมองทักษะชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมมาก่อน พร้อมกับมองหาโอกาสด้านอื่นให้เทย์เลอร์ ซึ่งประจวบเหมาะว่า ที่ผ่านมานอกจากให้เทย์เลอร์พบแพทย์ และเข้าสถาบันฝึกเด็กพิเศษ แม่ต่ายยังส่งเสริมให้เทย์เลอร์เล่นดนตรี มีแววว่าจะเอาดีทางนี้ได้
ถึงกระนั้น เส้นทางดนตรีของเทย์เลอร์ก็ชวนให้แม่ต่ายต้องปวดหัว ท้อใจ และล้มเลิกกลางคัน แต่ก็เหมือนโชคชะตา ที่ลึกๆ ในจิตใจของเทย์เลอร์ ไม่เคยหลงลืมดนตรีแม้แต่น้อย นั่นทำให้แม่ต่ายเปลี่ยนความคิด และกลับมาส่งเสริมให้เทย์เลอร์ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอีกครั้ง
03 เริ่มต้นและเริ่มต้นอีกครั้ง
ในช่วงที่แม่ต่ายเริ่มเปิดใจยอมรับ มีข้อมูลหลายแหล่งที่มาบอกตรงกันว่า ดนตรีและศิลปะช่วยพัฒนาสมาธิเด็กออทิสติกได้ แม่ต่ายจึงลองให้เทย์เลอร์เรียนศิลปะก่อน
“ศิลปะนี่ไปไม่เป็น ส่วนดนตรีนี่เป็นความบังเอิญ เพราะช่วงที่เทย์เลอร์อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สอง ทางโรงเรียนมีวิชาดนตรี แล้วครูสอนเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ เทย์เลอร์กลับมาเป่าให้แม่ฟังที่บ้าน แล้วแม่เห็นเขาเป่ามือซ้ายมือเดียว มือขวาดีดคีย์บอร์ด เป็นเพลงเดียวกัน เห็นเล่นแบบนี้สองสามครั้ง เลยลองส่งเสริมด้านนี้ดู”
แม่ต่ายพาเทย์เลอร์ไปเรียนดนตรีในวันหยุด โดยเลือกเรียนเปียโน เพราะข้อมูลวิจัยทางการแพทย์ชี้ว่า เปียโนสร้างเสริมสมาธิ และบำบัดเด็กออทิสติกได้ดี เทย์เลอร์ค่อยๆ เริ่มเรียนรู้คลาสละ 30 นาที แต่ด้วยความที่ไม่สามารถอยู่นิ่งได้นั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ขัดขวางการเรียนรู้
“แค่ปีแรกของการเรียนเปียโน แม่ก็เริ่มท้อ เพราะเทย์เลอร์ออกนอกห้องตามใจ ไปหลอกครูว่าจะไปห้องน้ำแล้วหายไปเลย ต้องมาไล่ตามหากันให้วุ่น เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย้ายไปโรงเรียนแล้วโรงเรียนเล่า ครูสอนไม่ไหว แม่ก็เครียด จนวันหนึ่งแม่บอกกับเทย์เลอร์เองว่า แม่ไม่ไหวแล้ว ไม่สู้เรื่องดนตรีแล้ว ขอเลิกตรงนี้”
หลังจากหยุดเรียนเปียโนไปสักพัก วันหนึ่งเทย์เลอร์เดินเข้ามาบอกกับแม่ต่ายว่า พร้อมจะเรียนเปียโนอีกครั้ง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แม่ต่ายไม่ตอบรับในทันที หากรอดูอีกสักระยะ เมื่อเทย์เลอร์ตื๊อหนักเข้า แม่ต่ายจึงพร้อมที่จะลองอีกครั้ง
ด้วยความกล้าๆ กลัวๆ แต่ครั้งนี้เหมือนโชคชะตาที่พาให้มาเจอกับครูเปียโนที่เข้ากับเทย์เลอร์ได้ แม้ว่าครูคนนี้จะไม่เคยมีประสบการณ์สอนเด็กพิเศษเลยก็ตาม
“เหมือนครูเขาเปิดใจ อยากที่จะสอนเทย์เลอร์ พาเรียนเต็มชั่วโมงได้ โดยไม่ต้องไล่จับ เทย์เลอร์เรียนกับครูคนนี้คนเดียว นับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันก็เกือบสิบปีแล้ว”
เทย์เลอร์เรียนเพลงคลาสสิก ซึ่งแม่ต่ายสำทับว่า เพลงคลาสสิกจะยาก มีความเป็นแบบแผน กว่าที่เทย์เลอร์จะเล่นได้ ต้องใช้เวลานับเดือน แต่ครูก็สอดแทรกพวกเพลงป๊อบ เพลงร็อก ซึ่งเทย์เลอร์จะเล่นได้เร็ว เพียงแค่อ่านโน้ต มีครูไกด์ให้ ไม่กี่ชั่วโมงก็เล่นได้
“เมื่อเทย์เลอร์เล่นเพลงได้ แม่ก็เริ่มมองไกลกว่าการฝึกสมาธิ หรือบำบัดความไม่นิ่ง เริ่มมองเป็นโอกาสแนะนำเขาสู่สังคมภายนอก เพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่า เขาก็สามารถทำตรงนี้ได้ อย่างน้อยก็ให้สังคมมองเทย์เลอร์ด้วยความเข้าใจมากขึ้น และชื่นชมเขาสักหน่อยก็ยังดี”
04 เทย์เลอร์ – นักเปียโนออทิสติก
ที่สุดแล้วเปียโนก็ช่วยให้เทย์เลอร์เติบโตขึ้นระดับหนึ่ง เช่นเดียวกัน แม่ต่ายก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งจากการอยู่ข้างๆ และคอยส่งเสริมให้ลูกชายได้ทำในสิ่งที่ชอบ
“แม่เคยได้ยินหลายคนพูดนะว่า เด็กเป็นออทิสติกไม่ต้องไปลงทุนอะไรกับเขามาก เพราะยากที่จะพัฒนา แม่ดีใจที่ไม่เชื่อคำพูดเหล่านั้น พยายามมาตลอด อาจจะล้มบ้าง แต่ไม่เลิก พอมาเห็นวันที่เขาเล่นเปียโนได้ แม่เลยอยากหาพื้นที่ให้เทย์เลอร์ได้เล่น ประกอบกับที่แม่ตัดสินใจไม่ให้เทย์เลอร์เรียนมหาวิทยาลัย ฉะนั้นแม่ไม่สามารถรอโอกาสวิ่งเข้ามาหาเองได้ ต้องหาโอกาสเหล่านั้นด้วยตัวเอง”
แม่ต่ายเริ่มหาช่องทางเพื่อให้เทย์เลอร์ได้เล่นเปียโนในที่สาธารณะ จนได้ไปเป็นจิตอาสา เล่นร่วมเล็กๆ น้อยๆ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การพาเทย์เลอร์ออกสู่สาธารณะ ทำให้แม่ต่ายมีโอกาสรู้จักผู้บริหารเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ซึ่งต่อมาได้ชักชวนให้เทย์เลอร์เข้าร่วมในโครงการจ้างงานของโรงพยาบาลสมิติเวช ที่ดำเนินงานตาม มาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550
“ช่วงนั้นเทย์เลอร์อายุสิบหกปีแล้ว ปีแรกที่ไปเล่นนั้น ค่อนข้างยาก เพราะช่วงวัยนั้น เทย์เลอร์อารมณ์ร้อน ไม่พอใจอะไร ก็แสดงออกมา ขว้างข้าวของ แม่ต้องคอยอธิบายให้เขาเข้าใจว่า การทำแบบนี้ คนรอบข้างไม่ยอมรับ ถ้าเทย์เลอร์อยากเล่นเปียโน ต้องอดทน และความที่เขาอยากไปเล่นจริงๆ นี่แหละที่ทำให้ผ่านมาได้”
ถึงแม้ว่าจะไปเล่นที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอังคารและวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น. แต่ก็เป็นงานที่แม่ต่ายและเทย์เลอร์ภาคภูมิใจ เพราะการได้เล่นท่ามกลางสาธารณะ ช่วยสร้างความมั่นใจ ความตั้งใจ ให้เทย์เลอร์เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ฝึกฝนเพิ่มเติม เสริมสร้างความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
แนวเพลงที่ไปเล่นที่โรงพยาบาล มีทั้งเพลงคลาสสิก เพลงสากล เพลงสตริง เน้นที่ฟังสบาย ช่วยผ่อนคลายผู้มาใช้บริการที่อาจจะเครียดหรือกังวลใจ
“ช่วงปิดเมืองจากโรคโควิด-19 เทย์เลอร์ก็เฝ้ารอ อยากกลับไปทำงาน อยากไปเจอเพื่อน พูดคุยกับคนที่นั่น เป็นสามเดือนที่แม่เห็นความตั้งใจของเขา เมื่อกลับมาเล่น เขาก็มีความสุข แม่ก็มีความสุข”
นอกจากการเล่นที่โรงพยาบาลแล้ว แม่ต่ายยังคงมองหาโอกาสเพื่อเติมประสบการณ์ให้เทย์เลอร์ โดยพาเทย์เลอร์ไปร่วมงาน Autistic Talent Gala 6 ที่ฮ่องกง เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีให้เด็กออทิสติกจากทั่วโลก ได้มาแสดงความสามารถ และเทย์เลอร์ก็สามารถคว้ารางวัลประเภทบุคคล Best Rhythm Award มาครองได้
05 แม่ต่ายสายชิล ปั้นลูกออทิสติก
ขณะที่เทย์เลอร์กำลังเดินบนเส้นทางของตัวเองได้มั่นคงระดับหนึ่ง แม่ต่ายก็แบ่งเวลามาเปิดเพจ ‘แม่ต่ายสายชิล ปั้นลูกออทิสติก’ ซึ่งเปิดมาได้ราว 2 ปี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งกำลังใจให้แก่คนที่พบเจอสถานการณ์เดียวกัน
“จากวันนั้นที่แม่เจอเรื่องนี้ ไม่มีใครใกล้ตัวแม่ที่มีประสบการณ์ แม่ต้องใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความสงสัย วิตกกังวล กลัวต่างๆ นานา จนวันนี้แม่ว่าแม่เข้าใจลูกเต็มร้อย คำว่าออทิสติก ไม่ใช่ของแสลงสำหรับแม่อีกต่อไป แม่ยิ้มรับกับทุกสถานการณ์ได้ แคร์ในสิ่งที่ควร และเพิกเฉยในสิ่งที่ไม่ใช่ แม่จึงอยากให้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ได้รู้สึกอย่างเดียวกัน เปิดใจเรียนรู้ ขณะเดียวกันคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็กออทิสติก ก็สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเปิดใจให้พวกเขาบ้าง”
ในเพจแม่ต่ายจึงเน้นการพูดคุย โดยหยิกยกสถานการณ์ที่เจอในแต่ละวัน มาบอกเล่าสู่กันฟัง เพื่อชี้ให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆ ที่ปันรอยยิ้ม หรือแบ่งปันสิ่งที่เป็นความรู้ให้แก่ผู้ติดตาม
“เมื่อก่อนแม่ยอมรับว่า แคร์สายตาคนอื่น พอเจอคนที่มีท่าทีไม่เข้าใจ หรือพูดจาไม่ดี ความที่แม่เป็นคนห้าวๆ ก็จะใส่กลับทันที แต่พอมาคิดดู มันไม่ยั่งยืน เพราะแม่ไม่ได้อยู่ข้างกายลูกตลอด แทนที่จะแคร์ว่าเขาจะดูถูก หรือลูกโดนรังแก แม่เลือกที่จะเปลี่ยนให้คนรอบข้างหันมาชื่นชมเทย์เลอร์ดีกว่า เอาจุดเด่นอย่างการเล่นเปียโน การพูดคุย ความไร้เดียงสาต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับ แต่สิ่งที่แม่ขอเลี่ยง คือเรื่องดราม่าเคล้าน้ำตา นั่นไม่ใช่ตัวแม่เลย ขอเน้นเรื่องราวชวนยิ้มเป็นหลัก สร้างกำลังใจผ่านรอยยิ้มดีกว่า”
แม่ต่ายนิยามชีวิตวันนี้ว่า ‘ปลดล็อกตัวเอง’ เน้นทำวันนี้ อยู่กับปัจจุบัน โดยตั้งมั่นว่า หากทำวันนี้ได้ดีแล้ว อนาคตต้องดีตาม
นอกเหนือจากเปียโนแล้ว แม่ต่ายยังสร้างภูมิคุ้มกัน ฝึกทักษะชีวิต เพื่อให้เทย์เลอร์สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระของใคร โดยเน้นวิถีชีวิตในแต่ละวัน ทั้งการเดินทาง โดยรถเมล์ รถไฟ รถสามล้อ และเรือ การเข้าแถวรอคิวซื้อของ การแลกคูปองเพื่อซื้ออาหาร
“แม่ฝึกเขาทุกวันเป็นกิจวัตร อย่างน้อยก็ดูแลตัวเองได้ แต่แม่ก็ยังไม่ได้ปล่อยให้เขาไปไหนมาไหนเอง เพราะเทย์เลอร์มีนิสัยช่างพูดช่างคุย มักจะชวนคนนั้นคนนี้คุยไปเรื่อย ถ้าคนรู้เข้าใจก็ดีไป แต่ถ้าคนไม่รู้ อาจจะเป็นเรื่องได้เลยนะ ตรงนี้แหละที่แม่ยังต้องใช้เวลาฝึกอีกหน่อย แต่กับเหตุการณ์หายตัวไปเฉยๆ แบบเมื่อก่อน ไม่มีแล้ว แม่สอนเขาจนเขาก็ตระหนักว่า มันมีภัยสังคมรอบตัว ไปไหนต้องบอก ต้องกลับมาหาแม่ตามจุดที่ผละจากกัน”
พูดถึงตรงนี้ แม่ต่ายหันไปหาเทย์เลอร์ที่ลุกไปหาอะไรรับประทาน ไม่ช้านานนัก เทย์เลอร์ก็กลับมาที่โต๊ะสนทนา เขาดูเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ถึงกระนั้นในกรอบของกฏหมาย ก็กำหนดสถานภาพของเทย์เลอร์ว่าเป็นผู้พิการประเภทหนึ่ง อันเป็นสถานะที่ต้องรับไว้
“แม่มองว่า อย่างน้อยลูกก็ได้รับสิทธิ เช่น เบี้ยยังชีพผู้พิการเดือนละแปดร้อยบาท สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาล ในมุมหนึ่งแม่ก็พอใจ แต่ถ้าแม่ไม่โชคดีแบบนี้ล่ะ ถึงจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่คุณย่าก็ยังไม่ทอดทิ้ง ยังคงให้ความช่วยเหลือทุกเดือนเสมอมา ทำให้แม่มีเวลาเลี้ยงดูเทย์เลอร์ แต่คนอื่นที่ไม่ได้โชคดีเหมือนแม่ ลำพังแค่เงินเดือนละแปดร้อยบาท กับการต้องดูแลลูกตลอด คงทำอย่างที่แม่ผ่านมาไม่ได้”
เรื่องและภาพ : กฤตพจน พงศ์ถิรประสิทธิ์