สุนทร ใจมาบุตร หรือ โค้ชกระสุน นักกีฬาไตรกีฬา และเจ้าของตำแหน่ง “ไอรอน แมน อันดับ 2 ของโลก” ประเภทผู้พิการระดับอัมพาตช่วงอกลงไป
เคยน้อยใจในโชคชะตานะ แต่ก็แค่แวบเดียว เพราะคิดได้ว่านี่มันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต” …เสียงจาก “สุนทร ใจมาบุตร” นักกีฬา ไตรกีฬา และเจ้าของตำแหน่ง “ไอรอน แมน อันดับ 2 ของโลก” ประเภทผู้พิการระดับอัมพาตช่วงอกลงไป บอกเล่ากับเราในวันที่ได้มีโอกาสสนทนากันถึงช่วงเวลาที่ต้องผ่านความยากลำบากจากความเปลี่ยนแปลงที่เดินผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของ “นักไตรกีฬาผู้พิการ” รายนี้มานำเสนอ…
สุนทร ใจมาบุตร หรือที่เพื่อน ๆ และน้อง ๆ นักกีฬามักจะเรียกเขาว่า “โค้ชกระสุน” บอกเล่า ถึงประวัติตัวเองให้เราฟังโดยสังเขปว่า เขาเริ่มต้นอาชีพนักกีฬาด้วยการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนสตรีวิทยา 2 หลังจากนั้นจึงหันเข้าสู่แวดวงไตรกีฬา และก้าวเข้าสู่ทีมชาติในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย ทั้งนี้ เขาเคยเป็นแชมป์ไตรกีฬาระดับประเทศ 3 สมัยติดต่อกัน คือปี 2548, 2549, 2550 และเริ่มก้าวสู่การแข่งขันระดับนานาชาติด้วยการเดินสายแข่งขันไตรกีฬาระดับอาเซียนที่จัดในหลายประเทศ โดยเขาเคยได้อันดับ 1 จากรายการพัทยาไตรกีฬา อินเตอร์เนชั่นแนล ตามด้วยตำแหน่งอันดับ 2 จากรายการเอเชี่ยน แชมเปี้ยนชิพ
ปัจจุบันเขาอายุ 33 ปี และทำหน้าที่เป็น โค้ชไตรกีฬา ให้กับนักกีฬา 3 กลุ่ม ได้แก่ นักกีฬาว่ายน้ำระดับเยาวชน, นักไตรกีฬาของโรงเรียนสตรีวิทยา 2 และนักกีฬาไตรกีฬาอาชีพ เช่น นักไตรกีฬาทีม Tri-Bullet ซึ่งมีนักกีฬาของทีมราว 20 คน ทั้งนี้ เขาเล่าว่า เกิดที่ จ.ลำปาง แต่มาโตกรุงเทพฯ เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เขายังเด็ก โดยเขาอยู่กับพ่อ และเริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเพชรถนอม และต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ซึ่งที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 นี่เองที่ทำให้เขาได้พบกับ อาจารย์เดือน เจริญยศ ที่เขาเรียกว่า อาจารย์แม่ ซึ่งรับเขาเป็นลูกบุญธรรมโดยกระสุนบอกว่าอาจารย์แม่เมตตาเขานับตั้งแต่วันแรกที่สมัครเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเขามาสมัครเรียนเอง โดยไม่มีผู้ปกครองพามาเหมือนกับคนอื่น ๆ
“ตอนที่พ่อเลิกกับแม่ ผมมาอยู่กับพ่อ แม้จะมาเช่าห้องเช่าอยู่ด้วยกัน แต่พ่อก็ต้องออกไปทำงานด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำให้ผมกับพ่อเหมือนต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กันสักเท่าไหร่นัก คือแม้จะอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่ค่อยเจอกัน” …เขาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง พร้อมกับบอกว่า แต่ตอนนั้นก็ไม่ค่อยรู้สึกเศร้ามากนัก เพราะรู้ว่าพ่อก็ลำบาก ส่วนตัวเองก็พยายามหาเงินเรียนเอง ด้วยการแข่งรถ และขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งตอนนั้นกฎหมายไม่ได้เข้มงวดเหมือนในปัจจุบันนี้ อีกอย่างเขาเป็นเด็กที่ตัวค่อนข้างใหญ่ จึงดูไม่เหมือนเด็กที่มาขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ทั้งนี้ กระสุนเล่า ถึงอาจารย์แม่ว่า ได้รับอุปการะเขามาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม ศึกษา โดยอาจารย์ให้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านของท่าน พร้อมส่งเสียให้เรียน และให้ฝึกกีฬา เริ่มต้นจากฟุตบอล แต่พอได้มาฝึกว่ายน้ำ เขารู้สึกว่าสนุกดี จึงฝึกว่ายน้ำจริงจังจนได้เป็นนักกีฬาของโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก พอมาอีกช่วงหนึ่ง เขาเริ่มสนใจไตรกีฬา จึงหันมาศึกษาและฝึกซ้อมกีฬาประเภทนี้จริงจังมากขึ้น ซึ่งสำหรับกีฬาไตรกีฬานั้น เขาบอกว่า ช่วงแรกที่ฝึกหัดเล่นก็ไม่ได้หวือหวา คือเล่นแบบไม่มีเป้าหมาย เหมือนการออกกำลังกายมากกว่า แต่ตอนหลังเริ่มหลงใหลในกีฬาประเภทนี้ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นนักไตรกีฬาอาชีพให้ได้ จนตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบ แต่เลือกไปเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แทน
นอกจากอาจารย์แม่แล้ว เขาบอกว่ายังมีโค้ชไตรกีฬาอีก 2 ท่าน ที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เขาก้าวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพระดับประเทศและระดับนานาชาติ คือ อาจารย์สารัช จันทราช ซึ่งเป็นพ่อของรุ่นน้องนักไตรกีฬา ที่ช่วยพัฒนาฝีมือจนเขาได้ก้าวเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ และเมื่อเขาได้ติดทีมชาติชุดใหญ่ เขาก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์อีกท่าน คือ อาจารย์นิวัฒน์ อิ่มอ่อง ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนในทีมชาตินั่นเอง และหลังจากติดทีมชาติ เขาเล่าว่า เป็นช่วงที่เขาออกเดินสายเพื่อล่ารางวัลจากการแข่งขันในรายการต่าง ๆ ในระดับอาเซียน โดยมีเหตุผลสำคัญสั้น ๆ คือ ต้องการเงินรางวัล และถึงแม้ว่าเงินรางวัลแต่ละรายการจะไม่ได้มากมาย แต่หากนำมารวมกันก็เป็นเงินก้อนใหญ่พอดูสำหรับชีวิตของเขา
แต่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ก็เกิดขึ้น หลังจากที่เขาเดินสายแข่งขันได้ประมาณ 3-4 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขณะฝึกซ้อมที่สระว่ายน้ำ จนทำให้เขาต้องกลายเป็น “คนพิการ” ในเวลาต่อมา โดยกระสุนเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเขาเสียหลักลื่นล้มที่สระว่ายน้ำ เนื่องจากต้องการจะวิ่งกระโดดลงสระ แต่เกิดเสียหลักทำให้หัวฟาดกับสระว่ายน้ำจนหมดสติ และจมลงที่ก้นสระ
“สภาพตอนนั้นคือกระดูกคอแตกละเอียด มีน้ำเข้าปอด และกลายเป็นอัมพาตระดับ C6 คือสูญเสียประสาทตั้งแต่ช่วงอกลงไป ตอนที่จมน้ำ ตอนอยู่ในน้ำนั้น ผมยังลืมตาได้ แต่พูดไม่ได้ ทุกอย่างมันช็อตไปหมด เพราะขาดอากาศ สุดท้ายเพื่อน ๆ ก็ลงมาช่วยกัน โดยพาผมขึ้นมาจากน้ำ และรีบเอาผมส่งไปที่โรงพยาบาล โดยช่วงแรกผมต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู 2 วัน คือร่างกายใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน แต่ปัญหาใหญ่ต่อมาคือ แผลกดทับที่ก้น ซึ่งมันใหญ่มาก ลึกไปถึงกระดูก ทำให้ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนาน 7 เดือนจากอุบัติเหตุที่เปลี่ยนชีวิตผมในครั้งนั้น”
…เขาเล่า พร้อมบอกอีกว่า ผลจากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็น อัมพาตตั้งแต่หน้าอกลงไป หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Quadreplegic ทั้งนี้ กระสุนเผยว่า ตอนที่ประสบอุบัติเหตุช่วงแรก ๆ ยอมรับว่าทำใจไม่ได้ที่ต้องมาเป็นแบบนี้ แต่ตอนหลังพยายามปรับทัศนคติใหม่ โดยทำใจให้ยอมรับกับสภาพของตนเอง พร้อมบอกกับตัวเองตลอดว่า เราต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ได้ จนทำให้เขาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นนักกีฬามาก่อนด้วย โดยหลังออกจากโรงพยาบาล เขาก็ได้ไปฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์บางปู จ.สมุทรปราการ อีก 4 เดือน จึงออกมาใช้ชีวิตปกติได้
“ช่วงที่เกิดอุบัติเหตุรู้สึกแย่ แต่ดีใจที่เริ่มต้นใหม่ได้เร็ว เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะฟูมฟาย แต่ก็มีความรู้สึกแวบ ๆ เหมือนกันว่า เราไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ แต่พอมาเป็นแบบนี้ ทำอะไรนิดเดียวก็หอบแล้ว คือทำอะไรไม่ได้เหมือนเก่า ด้วยเป็นข้อจำกัดของผู้ป่วยที่บาดเจ็บไขสันหลังระดับสูงและรุนแรงนั่นเอง”
ช่วงที่เกิดอุบัติเหตุนั้น กระสุนเล่าด้วยเสียงเครือ ๆ ว่า อาจารย์แม่หรืออาจารย์เดือนก็ยังคงให้ความเมตตากับเขาเหมือนเดิม นอกจากนั้น อาจารย์ธีรัช ไชยยศ กับ อาจารย์ฐปนัท ไยสำลี ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ก็ยังให้โอกาส เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของเขาอยู่ ทำให้เขาได้กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาของโรงเรียนเหมือนเดิม
ทั้งนี้ มาถึงเรื่องการแข่งขันไตรกีฬา ไอรอน แมน รายการ IRONMAN 70.3 Western Australia ในคลาส HC หรือผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ กระสุนเล่าว่า เป็นการกลับไปแข่งขันไตรกีฬาด้วยตนเอง เพราะเป็นความคิดที่ฝังอยู่ในใจนับแต่เกิดอุบัติเหตุ ด้วยความที่อยากจะไปสัมผัสความรู้สึกเก่า ๆ และที่ได้เลือกรายการนี้เป็นเวทีในการกลับมาตามฝันอีกครั้งนั้น เขาได้ระบุเรื่องนี้กับเราว่า…
“เชื่อมั่นในระบบรักษาความปลอดภัยของทางผู้จัดการแข่งขันว่ารายการนี้เขามีระบบเซฟตี้ที่ดี คือสามารถช่วยเราได้ในกรณีเกิดเหตุและที่เลือกรายการนี้ เพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นมาตลอดว่า เราจะกลับมาอีกครั้งได้ ภายใต้ข้อจำกัดทางร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมนี้”
เขาบอกต่อไปว่า รายการ IRONMAN 70.3 Western Australia นั้นนักไตรกีฬาทุกคนจะต้องจบการแข่งขันให้ได้ภายในเวลา 8 ชั่วโมง ประกอบด้วยการว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร, การHand Cycling 90 กิโลเมตร และการแข่ง Wheel Racing อีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้เงื่อนไขการแข่งขันแบบเดียวกับคนปกติทุกอย่าง ไม่มีการยกเว้น ซึ่งเขาสามารถจบการแข่งขันได้ด้วยผลรวมเวลาที่ 7.11.11 ชั่วโมง จนเป็น นักไตรกีฬาผู้พิการระดับอัมพาตช่วงอกลงไปคนที่ 2 ของโลกที่จบการแข่งขันรายการนี้ ได้
“จริง ๆ ผมเตรียมร่างกายที่จะแข่งมาเป็นปี แต่อุปกรณ์ที่ต้องใช้คือ Hand Cycling และ Wheel Racing เพิ่งจะได้มา 1-2 เดือนก่อนจะแข่ง ทำให้ไม่คุ้นเคยเท่าที่ควร และช่วงที่ไปแข่งผมเดินทางถึงวันที่ 29 พ.ย. 2560 และจะต้องลงแข่งในวันที่ 3 ธ.ค. ด้วยเวลาที่กระชั้นชิดมาก ทำให้แทบไม่ได้ฝึกซ้อมเลย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่วนตัวก็มีปัญหากับการปรับตัวกับสภาพอากาศเยอะมาก ซึ่งอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วย ผมจึงต้องหยุดการซ้อมเพื่อรักษาร่างกายให้พร้อมที่สุดในวันแข่ง” …เขากล่าวถึง “อุปสรรค” ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นให้เราฟัง
ในวันแข่งขัน กระสุนเริ่มต้นด้วยการว่ายน้ำ แต่พอว่ายได้ถึงครึ่งทาง ขณะกำลังจะกลับตัว ปรากฏมีฉลามว่ายเข้ามาใกล้ในจุดที่มีความเสี่ยงต่อนักกีฬามากเกินไป ทำให้ทางผู้จัดการแข่งขันต้องหยุดการแข่งในส่วนของการว่ายน้ำทันที แล้วจึงมาเริ่มต้นในส่วนของการปั่นจักรยาน (Hand Cycling) แต่ปั่นไปได้สักพักก็เกิดอาการบาดเจ็บที่ไหล่ด้านซ้ายและปวดร้าวไปทั้งแขน และด้วยความที่รายการแข่งขันนี้จะมีคัทออฟเวลาเป็นระยะค่อนข้างถี่มาก ซึ่งหากไม่ผ่านแต่ละจุดตามเวลาที่กำหนดก็จะถูกให้ออกจากการแข่งทันที ทำให้เขาต้องงัดกลยุทธ์ทุกวิถีทางขึ้นมาเพื่อให้รู้สึกเจ็บน้อยที่สุด เพื่อให้ไปได้ในทุกระยะ จนสามารถทำการแข่งขันครบทุกประเภททุกระยะได้สำเร็จ ได้อันดับที่ 2 ของรายการนี้ และเป็นผู้พิการระดับอัมพาตช่วงอกลงไปคนที่ 2 ของโลก จนกลายเป็น “ไอรอน แมน คนที่ 2 ของโลก” ที่เป็นผู้พิการ ที่สามารถแข่งขันจนจบในรายการที่ทั้งโหดทั้งหินอย่างรายการนี้ได้
“วันที่สามารถแข่งจนจบรายการ แถมยังเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 2 ได้อีกนั้น วันนั้นมันดีใจจนบรรยายถึงความรู้สึกออกมาไม่ได้เลยครับ มันจุกอยู่ตรงนี้” …กระสุนเล่าถึงความรู้สึก พร้อมชี้ที่หน้าอกด้านซ้ายของเขา
กับอุปสรรคทุกอย่าง กับข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เขาผ่านพ้นมาได้นั้น กระสุน-สุนทร ใจมาบุตร บอกความรู้สึกจากใจว่า เป็นเพราะกำลังใจจากอาจารย์แม่ ผู้ใหญ่ทุกท่าน เพื่อน ๆ น้อง ๆ นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย รวมถึง คุณแม่-กาหลง ฝอยสูงเนิน คุณแม่ของเขาที่คอยเป็นกำลังใจให้เขาตลอดมา นับตั้งแต่วันที่เขาเกิดอุบัติเหตุที่เปลี่ยนชีวิตของเขา ซึ่งความสำเร็จในวันนี้ของเขาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากขาดกำลังใจจากคนที่เป็นห่วงและรักเขาอย่างจริงใจเหล่านี้… ส่วน “เป้าหมายชีวิตในอนาคต” นั้น เขาบอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า อยากกลับไปแข่งขันในรายการ “ไอรอน แมน” อีกสักครั้งหนึ่ง…
“อยากก้าวให้ถึงอันดับที่ 1 ของโลก”