สุริยา แสงแก้วฝั้น: ถ้าการเมืองดี..คนพิการจะมีเสียง และถูกยอมรับในศักยภาพ

 

บทความโดย ThisAble.ME

 

“ถ้าการเมืองดี” เราจะมีฟุตบาทที่เรียบเสมอกันให้ใช้ เราจะมีรถเมล์ที่รองรับคนทุกกลุ่ม เราจะมีความปลอดภัยและเสถียรภาพในการดำเนินชีวิต ความฝันและความเชื่อเหล่านี้ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ขนานร่วมกับการรวมตัวชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนในช่วงที่ผ่านมา จนอาจกล่าวได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง ท่ามกลางกระแสนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนพิการและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความพิการก็ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนออยู่เรื่อยๆ และมีคนพิการจำนวนไม่น้อยที่ตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

 

Thisable.me ได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในผู้ปราศรัยอย่างสุริยา แสงแก้วฝั้น ในช่วงการชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยที่ผ่านมา เขาเองมีความสนใจเรื่องการเมือง และเหนือไปกว่านั้นเขายังมองว่า ความพิการเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง หากการเมืองดี คนพิการคงมีสิทธิในฐานะพลเมืองได้อย่างสมบูรณ์

 

ทำไมถึงเริ่มสนใจการเมือง?

 

สุริยา: เริ่มจากที่ผมเป็นคนชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อก่อนตอนเรียนชั้นประถม โรงเรียนจัดค่ายอบรมจริยธรรมขึ้น แต่ตัวผมและเพื่อนบางส่วนรู้สึกว่า การอบรมครั้งนี้ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน พวกเราในฐานะนักเรียนจึงรวมตัวกันประท้วงเพื่อให้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมเป็นการสอนเนื้อหาวิชาการแทน ท้ายที่สุดโรงเรียนก็ไม่ยอม พวกเราถูกทำโทษกันหลายคน

 

พอเริ่มโตขึ้นหน่อย ก็รู้ว่าตัวเองสนใจด้านประวัติศาสตร์และการเมือง ตอนผมอยู่ ม.3 มีการปฏิวัติเกิดขึ้น ผมมองว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราในฐานะเยาวชนก็รับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่าย ชั่งน้ำหนักบวกกับค้นคว้าข่าวสารจากหนังสือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ฯลฯ และเมื่อเราเห็นความเหลื่อมล้ำจากการเป็นคนพิการมาเชื่อมโยงด้วย ก็ยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม และไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม คนพิการมักเป็นเสียงส่วนน้อยเสมอ อย่างไรก็ดี ถึงคนจะมองว่าคนพิการคือเสียงส่วนน้อยแต่ก็ต้องมีสิทธิที่จะได้รับการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ผมจึงเริ่มศึกษาต่อยอดเพื่อเชื่อมโยงเรื่องสิทธิคนพิการกับการเมืองเข้าด้วยกัน และตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เนื่องจากตอนนั้นคณะรัฐศาสตร์ยังไม่มีนโยบายรับคนพิการ ผมจึงได้เรียนที่คณะนิติศาสตร์แทน

 

ครอบครัวของผมให้อิสระทางความคิดและการตัดสินใจ เวลาที่พ่อแม่ทำไม่ถูกต้อง เราในฐานะลูกก็มีสิทธิที่จะโต้แย้งและพูดคุยกันได้เสมอ ผมจึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมทำให้ผมเข้าใจความมีเหตุผลของมนุษย์เสมอมา

 

การตื่นตัวของสังคมไทย

 

ช่วงที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ถ้าให้มองย้อนกลับไปสมัยเมษา – พฤษภา 53 ตอนนั้นผมอยู่ปี 1 การตื่นตัวและตระหนักรู้ของคนทั่วไปยังถือว่าน้อยมาก ในมหาวิทยาลัยมีไม่ถึง 10% เลยด้วยซ้ำที่สนใจและตระหนักรู้ถึงความรุนแรงจากรัฐตอนที่ปราบปรามประชาชน ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ก็มีแต่ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ยังไม่ค่อยมีคนหนุ่มสาวสนใจหรือติดตามเท่าไหร่ หากเทียบกับปัจจุบันยิ่งเห็นได้ชัด คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ จากที่ผมคิดว่าเป็นแค่กระแสสังคม แต่เวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าความคิดความเชื่อของพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหา เขารู้ว่าตัวเองกำลังสู้อยู่กับอะไร

 

สิทธิเสรีภาพของผู้คนหลังการรัฐประหารปี 2557

 

หลังการรัฐประหารปี 57 ประชาชนโดนลิดรอนสิทธิอย่างชัดแจ้งขึ้น ผู้มีอำนาจเริ่มตระหนักรู้แล้วว่ากลุ่มคนที่มีความคิดก้าวหน้ามีพื้นที่มากขึ้น และเขาก็หวาดกลัวที่จะสูญเสียอำนาจและมวลชน คนรุ่นใหม่ไม่สามารถถูกขัดเกลาผ่านระบบการศึกษาแบบเก่าได้แล้ว ผู้มีอำนาจจึงมีหนทางเดียวที่จะจัดการความคิดของประชาชน ด้วยการข่มขู่ คุกคาม และทำให้ประชาชนไม่สามารถพูดในสิ่งที่เชื่อหรือเห็นได้

 

ความพิการเกี่ยวข้องกับการเมืองไหม

 

เกี่ยวครับ การเมืองคือการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เมื่อการเมืองมีความบกพร่อง เราก็สูญเสียทรัพยากรที่เราควรจะได้รับตามสิทธิพลเมืองไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ฟุตบาท ทางม้าลาย ล้วนเกิดจากการจัดสรรงบประมาณทั้งนั้น คนพิการจึงพบเจอความลำบากด้านเสถียรภาพในการดำเนินชีวิตมากกว่าคนอื่นโดยเฉพาะเมื่อผู้กุมอำนาจไม่ฟังเสียงของประชาชน เห็นได้จากการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบได้ตามอำเภอใจ ไม่ได้สนใจเสียงของประชาชนที่เสียภาษีให้พวกเขาเลยด้วยซ้ำ

 

ประเทศไทยในฝันเป็นยังไง

 

แบ่งเป็น 2 ประเด็นแล้วกัน ประเด็นแรกมองในฐานะที่ตัวเองเป็นคนพิการ ประเทศไทยควรจะยอมรับในศักยภาพของคนพิการได้แล้ว บางครั้งผมก็คุยกับเพื่อนเล่นๆว่า ถ้าผมมีโอกาสได้เป็น ส.ส.และมีโอกาสเข้าไปนั่งในสภา บรรยากาศจะเป็นอย่างไร ความพิการจะถูกเอาไปล้อหรือเหยียดจากฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ หากลองมองดูประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว สิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นเพราะคนเคารพในความแตกต่าง ผมอยากเห็นการเมืองของไทยมีพื้นที่สำหรับกลุ่มหลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และคงต้องเริ่มจากการฝากฝังให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญของความหลากหลายก่อน และคนที่มีความหลากหลายนั้นจะสามารถนำประเด็นของตนเองไปขับเคลื่อนได้ในสภา ผมคาดหวังกับพรรคการเมืองมากเพราะเราเป็นคนเลือกเขาเข้ามา ฉะนั้นการเมืองในอนาคตก็ขอฝากฝังไว้ที่กลุ่มการเมืองที่เชื่อมโยงกับอำนาจประชาชน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2020/09/660

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *