โยธาฯ เร่งศึกษาจุดผุดสะพานลอย – ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามแบบมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้พยายามลดขนาดของโครงสร้างสะพานลอย รวมทั้งนำหลักการออกแบบเพื่อ ทุกคนในสังคม (ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์) มาใช้ปรับปรุงแบบมาตรฐานสะพานลอย เช่น การเปลี่ยนรูปแบบจากบันไดเป็นทางลาด หรือการติดตั้งลิฟต์คนพิการ
นายไทวุฒิกล่าวว่า การแก้ไขดังกล่าวแม้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับคนพิการ เด็ก และคนชรา แต่ส่ง ผลกระทบต่อความกว้างของทางเท้า รวมทั้งอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในบริเวณสะพานลอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อกำหนดของความลาดชันของทางลาด ทำให้ระยะของสะพานลอยยาวขึ้น รวมทั้งขนาดของลิฟต์ทำให้ต้องใช้พื้นที่ทางเท้าเพิ่มขึ้น การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวจึงอาจยังไม่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ สนย.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งสะพานลอยคนเดินข้ามในจุดที่เหมาะสม
นายไทวุฒิกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ด้านกายภาพ คือ บริเวณก่อสร้างสะพานคนเดินข้าม ต้องมีความกว้างของถนนและทางเท้าที่เหมาะสม และด้านสถิติข้อมูลจราจร ถนนต้องมีคนเดินข้ามและมีปริมาณการจราจรทั้งสองทิศทางที่เหมาะสม
นอกจากนี้ได้ปรับปรุงหรือยกระดับทางข้ามให้มีความปลอดภัย ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ สัญญาณไฟคนข้ามถนน ป้ายเตือนคนข้ามถนน แผ่นปูพื้นผิวต่างสัมผัส สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทดแทนการสร้างสะพานลอยและอุโมงค์ ซึ่ง ส่งผลกระทบต่อความกว้างทางเท้าและภูมิทัศน์เมือง
ขอขอบคุณ https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5115193