เมื่อวันที่ (6 ต.ค.63) ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสภาคนพิการฯ และผู้นำองค์การคนพิการแต่ละประเภทได้ยื่นหนังสือถึงผู้แทนนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำ “งบกลาง” มาจัดสรรปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการเพิ่มจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาทให้กับคนพิการจำนวนกว่า 800,000 คนอย่างถ้วนหน้า โดยในเอกสารแถลงการณ์ระบุว่า
สืบเนื่องจากวันที่ 28 ม.ค.63 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือนให้กับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 1,103,065 คน ต่อมาเมื่อในวันที่ 28 เม.ย.63 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบหลักการให้ปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคน พิการและมีอายุไม่เกิน 18 ปีจำนวน 126,032 คน รวมจำนวนคนพิการที่ได้ปรับเบี้ยความพิการตามมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้งเป็นนวน 1.2 ล้านคน โดยจะเริ่มจ่ายอัตราใหม่ในเดินต.ค.63 (อ่านที่นี่) ทว่ายังมีคนพิการจำนวนอีกประมาณ 800,000 คน จากจำนวนคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวทั้งหมด 2,030,800 คน ไม่ได้รับเบี้ยความพิการเพิ่มเป็น 1,000 บาท ทั้งที่ทุกคนล้วนมีต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป
สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยในฐานะองค์การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายและกฎหมายด้านคนพิการระดับชาติ รวมทั้งพิทักษ์สิทธิคนพิการ จึงขอให้รัฐบาลนำ “งบกลาง” มาจัดสรรปรับเบี้ยความพิการให้กับคนพิการอีก 8 แสนคนให้ครบถ้วน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,920 ล้านบาท (800,000 คน x 200 บาท x 12 เดือน) หากรัฐบาลเมินเฉยที่จะเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการให้กับคนพิการแบบถ้วนหน้า จะทำให้คนพิการไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานนี้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม ดังเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 20(9) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2556 อีกทั้งคนพิการที่มีสิทธิรับสวัสดิการเบี้ยความพิการดังกล่าวจะเกิดความสับสนด้วยเหตุเพราะรัฐบาลกำหนดลักษณะการจ่ายเงินที่แตกต่างกัน เนื่องจากรัฐบาลนำสวัสดิการขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิคนพิการมาผสมปนเปกับนโยบายชั่วคราวเพื่อสร้างความนิยมของรัฐบาลเอง เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หนำซ้ำการกระทำดังกล่าวยังสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำและ การเลือกปฏิบัติระหว่างคนพิการด้วยกันเอง อันถือได้ว่ารัฐบาลมีเจตนาที่จะทิ้งคนพิการไว้ข้างหลังและอาจจะนำมาสู่ความขุ่นข้องหมองใจจนคนพิการต้องไปร่วมชุมนุม