คนตาบอดเขาเรียนกันยังไง? เรียนอะไรกันบ้าง? โรงเรียนสอนคนตาบอดแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างไร? คำถามมากมายผุดขึ้นมาในความคิดนักศึกษาฝึกงานอย่างเราเมื่อเรานึกถึงการศึกษาของคนตาบอด Thisable.me จึงอยากชวนทุกคนคุยกับผู้ที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุด อย่างคุณครูและนักเรียนใน “โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ”
ทำความรู้จักก่อนเรียน โรงเรียนสอนคนตาบอด
‘โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ’ เป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลมีทั้งแบบประจำและไปกลับ สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงประถม 6 จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนคนตาบอดเอกชนไม่ถึง 10 แห่ง ทั้งโรงเรียนที่สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมปลายและโรงเรียนระดับมัธยมปลาย นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนรัฐบาลที่สอนคนตาบอดภายใต้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษอีก 2 แห่งและศูนย์การศึกษาพิเศษในแต่ละจังหวัด นอกจากโรงเรียนพิเศษเฉพาะความพิการแล้วยังมีโรงเรียนเรียนร่วมที่โรงเรียนสอนคนตาบอดเป็นผู้ส่งนักเรียนไปเรียนร่วมกับคนตาดี
“โรงเรียนคนตาบอดก็เหมือนโรงเรียนทั่วไป มี 8 กลุ่มสาระและ 10 วิชาเรียน แต่เรามีวิชาเฉพาะ O&M (Orientation and Mobility) เพิ่มเติมเข้ามาแค่นั้นเอง” ครูพัชรนันท์ ลิ้มประเสริฐ ครูโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพเล่าให้เราฟัง
ครูพัชรนันท์ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในระดับอนุบาลเด็กจะต้องฝึกทักษะการดำรงชีวิต เช่น การใส่เสื้อผ้า กินข้าว แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ และเมื่อขยับขึ้นมาในระดับชั้น ป.1 เด็กจึงเริ่มเรียนทักษะทางด้านวิชาการ
ด้วยความที่เป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดและเด็กแต่ละคนมีความต้องการพิเศษเฉพาะที่ต่างกัน จึงทำให้ครูต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น จึงมีกฎว่า ในระดับชั้นอนุบาล คุณครู 1 คนถูกมอบหมายให้สอนนักเรียนคาบละไม่เกิน 5 คน ถ้าเป็นระดับชั้นประถมคุณครู 1 คน สามารถสอนนักเรียนได้คาบละ 10 คน เพื่อที่ครูแต่ละคนจะได้ดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง
คาบที่ 1 ทฤษฎี
สิ่งสำคัญสำหรับการเรียนของเด็กตาดีคือ การใช้ตาดู หูฟัง เด็กนักเรียนจะนั่งเรียนโดยใช้หนังสือและกระดานตรงหน้า พร้อมกับฟังสิ่งที่คุณครูสอน แต่หากเป็นนักเรียนตาบอด วิธีการเรียนทุกอย่างจะถูกปรับเปลี่ยน ตั้งแต่วิธีการสอนไปจนถึงสื่อที่ใช้ จากหนังสือเรียนทั่วไปกลายเป็นหนังสือเรียนอักษรเบรลล์ จากที่ต้องใช้ตาดูก็กลายมาเป็นใช้มือสัมผัส เช่น วิชาภาษาไทยที่เปลี่ยนจากการท่อง ก เอ๋ย ก ไก่ กลายเป็น ก ไก่จุด หนึ่ง สอง สี่ ห้า ซึ่งเป็นการสอนภาษาไทยและอักษรเบรลล์ไปพร้อมกัน
อีกหนึ่งวิชาที่ถูกปรับให้เข้ากับนักเรียนตาบอดคือ วิชาโหดหินอย่างคณิตศาสตร์ ที่ต้องทั้งจำสูตร จำวิธีคิด ถ้าเป็นการบวกลบง่ายๆ อาจคิดในใจได้ แต่หากมีเลขหลายชุด หลายหลัก หรือต้องใช้สูตรคงไม่พ้นการทดเลขลงกระดาษ ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมาะกับนักเรียนที่มองไม่เห็นแน่นอน
ครูพัชรี ใจใส ครูสอนคณิตศาสตร์เล่าถึงการสอนคณิตศาสตร์ของที่นี่ว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชานามธรรม และเด็กเราก็มองไม่เห็น จะสอนอะไรก็ต้องใช้สื่อ ใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อให้เขาเข้าใจมากยิ่งขึ้น เวลาคิดเลขเราก็ใช้ลูกคิดช่วยในการคำนวน ลูกคิดถือว่าเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่เด็กพกติดตัวไปเรียนหรือเอาเข้าไปในห้องสอบได้ เปรียบเสมือนเครื่องคิดเลข ทำหน้าที่คล้ายกับกระดาษทด
นอกจากนี้ ครูพัชรียังได้พูดเพิ่มเติมถึงสิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนต้องมีคือ ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาเบรลล์ เพราะการใช้อักษรเบรลล์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการสอนนักเรียนตาบอด ถึงแม้ครูบางท่านจะไม่ได้จบการศึกษาพิเศษมา ก็ต้องมาเรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ เพื่อให้ครูสามารถตรวจงานหรือทำสื่อการสอนได้
คาบที่ 2 ปฏิบัติ
หากดูกันที่วิชาภาคปฏิบัติแล้ว ความทรงจำที่เรามีมักจะเป็นวิชาที่ต้องใช้ร่างกายและสายตาอย่างสัมพันธ์กัน เช่น วิชาพละ ศิลปะ ดนตรีหรือแม้แต่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การใช้สายตาเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ต่อการเรียนของนักเรียนตาบอด
ครูฝั่งวิชาภาคปฏิบัติอย่างครูเชวง ดุริยางคเศรษฐ์ ผู้สอนวิชาพละ เล่าประสบการณ์การสอนเด็กตาบอดเล่นกีฬาปิงปองว่า ครูผู้สอนต้องดูความเหมาะสมของอุปกรณ์ เช่น การปรับโต๊ะปิงปองให้มีร่องกันลูกปิงปองตกพื้น ขึงเน็ตให้สูงขึ้นเพื่อให้เด็กตาบอดตีลูกปิงปองลอดใต้เน็ต และหาวิธีทำให้ลูกปิงปองมีเสียงเพื่อให้นักเรียนตาบอดใช้การฟังแทนการมองเห็น หากดูเผินๆ แล้ว การตีปิงปองของนักเรียนตาบอดนั้นคล้ายกับการเล่นเกมตู้ Air Hockey เลยทีเดียว
นอกจากจะสอนกีฬาแล้ว ครูเชวงยังสอนวิชา ‘การทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ O&M ซึ่งโรงเรียนจะเปิดสอนวิชานี้หนึ่งชั่วโมงต่ออาทิตย์ เด็กๆ ที่มาเรียนสามารถเรียนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยจะเน้นเรื่องการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน และเมื่อเด็กขึ้น ป.1 ก็จะเน้นเรื่องการนำทางและการเดินทางในโรงเรียนซึ่งจะเรียนเรื่องนี้ยาวๆ จนถึง ป.3 และจะได้เริ่มใช้ไม้เท้าขาวอย่างจริงจังในระดับชั้น ป.4 ถึง ป.6 เพราะมองว่า ช่วงอายุนี้เป็นช่วงที่เด็กมีกล้ามเนื้อพอจะสามารถควบคุมไม้เท้าได้
เมื่อเด็กพร้อมแล้ว ด่านสุดท้ายคือการเรียนนอกสถานที่ เด็กนักเรียนจะได้ลองเดินทางด้วยตัวเองในบริเวณละแวกใกล้ๆ โรงเรียน โดยมีครูคอยดูและเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ
คาบที่ 3 กิจกรรม
เมื่อมีเรื่องเรียนแล้วย่อมต้องมีกิจกรรมเป็นของคู่กัน แน่นอนว่าชมรม การไปทัศนศึกษา เข้าค่ายลูกเสือเนตรนารี กิจกรรมกีฬาสีและเลือกตั้งสภานักเรียน นั้นเป็นกิจกรรมที่มีในโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพครบทุกอย่าง แม้นักเรียนมีปัญหาด้านการมองเห็นแต่กลับไม่เป็นอุปสรรคของการร่วมกิจกรรมเลย หากต้องไปทัศนศึกษาหรือเข้าค่ายต่างจังหวัด ครูจะมีหน้าที่บอกข้อควรระวังและปล่อยให้นักเรียนสนุกได้เต็มที่ เพราะครูต่างมีเป้าหมายที่จะทำให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนอกโรงเรียน และไม่เขินอายเมื่ออยู่ในสังคมใหม่ๆ
สภานักเรียนมีบทบาทคอยดูแลนักเรียนแทนคุณครู เช่น ตรวจไม้เท้าขาว ตรวจการเข้าแถวตอนเช้าหรือเข้าแถวทานอาหาร
“ในโรงเรียนจะมี 2 พรรค ให้นักเรียนตั้งชื่อและแต่งตั้งพรรคกันเอง หลังจากนั้นก็หาเสียง เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ให้เลือกหมายเลข 1 หรือหมายเลข 2 เราจะมีคูหาและกระดาษไว้ให้ ถ้าใครไม่ทำตามกฎระเบียบก็ฟาวล์ไป นักเรียนทุกระดับชั้นมีสิทธิเลือกตั้ง แต่นักเรียนที่ลงสมัครได้จะต้องอยู่ในระดับชั้น ป.3 ถึง ป.6” ครูพัชรนันท์กล่าว
ก้าวต่อไปของโรงเรียนสอนคนตาบอด
แม้ในปัจจุบันโรงเรียนสอนคนตาบอดจะมีทุกอย่างพร้อม ทั้งเรื่องหลักสูตร อุปกรณ์ และการสอนที่เหมาะกับนักเรียนตาบอด แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีเรื่องที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพอยากจะพัฒนา ครูพัชรนันท์กล่าวว่า ในอนาคตอาจเพิ่มการเรียนภาษาที่สองนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เพราะตอนนี้ภาษาเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ และจำเป็นสำหรับเด็กเมื่อพวกเขาโตขึ้น
เสียงจากนักเรียนต่อการศึกษาของคนตาบอด
เมื่อเสียงออดเลิกเรียนดังขึ้น นักเรียนหลายคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน หรือไม่ก็เตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมชมรม เราที่อยากรู้มุมมองของนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียนคนตาบอด จึงใช้โอกาสนี้ เข้าไปนั่งล้อมวงพูดคุยกับน้องๆ นักเรียนชั้น ป.5 กลุ่มหนึ่ง
เราเริ่มเปิดบทสนทนาด้วยคำถามว่า เรียนอักษรเบรลล์และการใช้ไม้เท้าขาวยากมั้ย? นักเรียนทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ไม่ยาก! “ถ้าเราทำความเข้าใจ เราก็เรียนได้ทั้งเบรลล์ทั้งไม้เท้า” นักเรียนชายคนหนึ่งตอบอย่างมั่นใจ
เด็กๆ ยังแชร์ประสบการณ์การเข้าค่ายลูกเสือเนตรนารีที่ต่างจังหวัด ทั้งแสดงรอบกองไฟ ขึ้นเขาเดินทางไกล กิจกรรมเหล่านี้นักเรียนตาบอดได้เข้าร่วมหมดทุกอย่าง นักเรียนคนหนึ่งเล่าถึงกิจกรรมที่ชอบว่า ครั้งหนึ่งเคยได้ลองล่องแพ ครูก็บอกให้ทรงตัวให้ดีอย่าให้แพคว่ำ สุดท้ายพอใกล้จะถึงฝั่งแพก็คว่ำอยู่ดี ทุกคนเลยได้เล่นน้ำไปด้วย
พูดคุยกันสักพักก็ใกล้จะถึงเวลาที่ทุกคนต้องกลับบ้าน เราจึงถามคำถามสุดท้ายว่า ทำไมถึงเลือกมาเรียนที่นี่? หลายเสียงตอบว่าหมอแนะนำมา บางคนบ้านอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องมาเรียนประจำในกรุงเทพฯ บางคนก็เคยเรียนที่โรงเรียนอื่นก่อนจะมาเรียนที่นี่
“หนูไปเรียนหลายที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนตาบอด ได้เรียนโรงเรียนอื่นตอนอนุบาล 2 แม่อยากให้หนูเรียนโรงเรียนตาดีแต่เขาไม่รับ แม่เลยตระเวนไปศูนย์นู่น โรงเรียนนี่ แล้วก็มาเจอโรงเรียนตาบอด” นักเรียนคนหนึ่งกล่าว
คำตอบข้างต้นทำให้ความขี้สงสัยของเราทำงานว่า ‘สิทธิทางการศึกษาของคนพิการมีอะไรบ้าง’ ซึ่งใน พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ได้ระบุสิทธิของคนพิการไว้ในมาตรา 5 ดังนี้
- ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดชีวิต และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา
- สามารถเลือกสถานศึกษาหรือรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการ
- ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับความต้องการของคนพิการแต่ละประเภทและแต่ละคน
และในมาตรา 8 วรรค 5 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังระบุว่า สถานศึกษาที่ปฏิเสธไม่รับคนพิการถือว่าเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย
ยังจำคำถามตอนเปิดเรื่องได้ไหม คนตาบอดเขาเรียนกันยังไง? เรียนอะไรกันบ้าง? โรงเรียนสอนคนตาบอดแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างไร? หวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้คุณเห็นภาพทั้งด้านดี และปัญหาการศึกษาของเด็กตาบอดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาพของโรงเรียนในงานชิ้นนี้ เป็นเพียงภาพของโรงเรียนเฉพาะทาง เราจึงอยากชวนคุณจินตนาการว่า จะทำอย่างไรให้เด็กตาบอดเข้าถึงการศึกษาในแบบที่พวกเขาต้องการได้ หรือว่าโรงเรียนเฉพาะทางเป็นโรงเรียนที่เหมาะสมที่สุดแล้ว