‘ส.ส.ก้าวไกล’ รับหนังสือ ‘นักเรียนนอก’ ร้องใช้เทคโนโลยีลงเสียงประชามติ
เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 1 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายวุฒินันท์ บุญชู และ นายมานพ คีรีภูวดล เข้ารับหนังสือจากนายพิษณุวัฒน์ สิงห์ชัย ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ ได้กล่าวว่า ตนและเพื่อนสมาชิกอีกสองคนได้เข้ารับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ ที่ได้มายื่นหนังสือขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำการแปรญัตติเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กำลังจะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ ประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องของการปกป้องสิทธิของนักเรียนไทยในต่างประเทศ ที่ร่างพรบ.ที่จะเข้าสู่สภาในวันนี้ ไม่ได้มีการพูดถึงการลงคะแนนเสียงในคะแนนเสียงในต่างแดนหรือการลงคะแนนเสียงล่วงหน้าแต่อย่างใด จึงเป็นที่มาให้ในวันนี้นายพิษณุวัฒน์เข้ามายื่นหนังสือผ่านคณะกรรมการพัฒนาการเมือง ให้พวกตนดำเนินการแปรญัตติต่อไป
นายพิษณุวัฒน์ สิงห์ชัย ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศกล่าวว่า พวกตนในนามกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศซึ่งประกอบ 7 กลุ่ม ได้แก่สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมนักเรียนไทยในสมาพันธรัฐสวิส, กลุ่มนักเรียนไทยในเบลเยียม, กลุ่มนักเรียนไทยในไต้หวัน, ชมรม-นักศึกษาไทยในโปแลนด์ และกลุ่มนักเรียนไทยในประเทศสวีเดน มีความเห็นตรงกันว่าหลังจากที่ได้อ่านร่างพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ฝ่ายรัฐบาลได้นำเสนอเข้าสู่รัฐสภา มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่ขาดไป และสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือการออกเสียงประชามติสำหรับคนไทยที่มีถิ่นอาศัยอยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มีเพียงเฉพาะนักศึกษา นักเรียนที่ไปศึกษาต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มคนไทยที่ไปประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศด้วยที่จะต้องเสียสิทธิ์ในส่วนนี้ไป ซึ่งตนกำลังพูดถึงคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณเกือบหนึ่งล้านคนที่กำลังจะเสียสิทธิ์จากร่างพรบ.ที่กำลังจะออก
“และคิดว่าเราต้องออกมาในการร้องขอให้สมาชิกรัฐสภาผ่านทางประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง ได้ช่วยนำเรื่องนี้เข้าสู่สภาและให้เกิดการแปรญัตติ ซึ่งเชื่อว่าการเสนอวันนี้จะมีการรับร่างและรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญตัวนี้ในลำดับถัดไป ให้เกิดการแปรญัตติอย่างน้อยที่สุด คนไทยในต่างประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ ส่วนกระบวนการนั้นคิดว่าต้องขอพึ่งทางคุณณัฐพงศ์ ในการช่วยเนื่องจากดูมีความถนัดและชำนาญที่จะนำเสนอว่า จะใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศที่ก้าวหน้าในปัจจุบันใด มาช่วยให้เกิดนวัตกรรมในการออกเสียงให้คนไทยไม่เสียสิทธิ์ตรงนี้ด้วย” นายพิษณุวัฒน์กล่าว
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากประเด็นที่นายพิษณุวัฒน์ได้นำเสนอไปในเรื่องของการปกป้องสิทธิในการลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนไทยหรือกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ ตนขอเรียนว่าไม่เฉพาะคนที่อยู่ต่างแดนเท่านั้น แต่ยังมองและเล็งเห็นไปถึงกลุ่มคนด้อยโอกาสต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการต่าง ๆ ซึ่งการออกเสียงประชามติในเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการเมืองมีการพูดมาตั้งแต่ยุคปี 2000 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการลงคะแนนเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหรือการลงประชามติ มีหลักการสำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือการปกป้องและรักษาความลับของผู้โหวต โดยที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาที่ทำให้การออกเสียงออนไลน์ยังไม่แพร่หลายเพียงพอ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนในหลายประเทศจะใช้เพียงแค่รองรับ เพื่อรักษาปกป้องสิทธิคนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศหรือผู้ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น ปัจจุบันตนเชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศได้พัฒนาขึ้น เพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้ในการออกเสียงประชามติและการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับบางกลุ่มได้แล้ว เช่นแอปพลิเคชันของกรมการปกครองที่รัฐบาลจัดทำและสามารถลงทะเบียนดิจิทัลไอดีได้แล้ว แต่ทำไมร่างพรบ.ฉบับนี้จึงไม่ออกกฎหมายให้กฎหมายรองรับได้ ทั้งที่ดิจิทัลไอดีนั้นรัฐบาลเป็นคนทำเองและร่างกฎหมายนี้รัฐบาลก็เป็นคนเสนอเอง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันตั้งคำถามว่าปัจจุบันดิจิทัลไอดีเกิดขึ้น การยืนยันตัวตนก็น่าเชื่อถือได้ ในเมื่อดิจิทัลแพลตฟอร์มพัฒนามาจนสามารถยืนยันตัวบุคคลได้แล้ว ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยกร่างกฎหมายที่รองรับส่วนนี้ไว้ นี่เป็นสิ่งที่พวกตนจะนำไปผลักดันในขั้นของการแปรญัตติต่อไป