กสม.ส่งสารวันสิทธิฯ จี้ทุกฝ่ายใช้พลังบวกฝ่าวิกฤตโควิด ภัยธรรมชาติ ความเห็นต่างการเมือง

 

กสม.ส่งสารเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม เรียกร้องทุกฝ่ายใช้พลังบวกร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด-ภัยธรรมชาติ และความเห็นต่างทางการเมือง พร้อมเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขจัดการเลือกปฏิบัติ ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

เมื่อวันที่ (9 ธ.ค.) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งสารเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2563 ระบุว่า 10 ธันวาคมของทุกปี นอกจากเป็นวันสำคัญของประเทศไทยคือวันรัฐธรรมนูญแล้ว ในทางสากลยังถือเป็นวันสำคัญยิ่งสำหรับประชาคมโลก คือ “วันสิทธิมนุษยชนสากล” (Human Rights Day) สืบเนื่องมาจากการที่องค์การสหประชาชาติมีมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) เอกสารฉบับนี้ถือเป็นเอกสารสำคัญของโลกที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของมวลมนุษยชาติภายหลังผ่านพ้นบทเรียนจากโศกนาฏกรรมสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งต้องการร่วมกันสร้างความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันได้รับการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคน

 

ปี 2563 เป็นปีที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพ คือการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อผู้คนต้องเผชิญกับความยากจน การเลือกปฏิบัติ การถูกกีดกันด้วยเหตุแห่งโรค ความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงในครอบครัว ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย และการเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้ในปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติดังกล่าวองค์การสหประชาชาติจึงได้ถือโอกาสรณรงค์ให้ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินการแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดและฟื้นฟูสังคมโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญ ภายใต้แนวคิด “Recover Better – Stand Up for Human Rights” (การฟื้นตัวสู่สภาพที่ดีขึ้น : ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน)

 

สำหรับประเทศไทย ในปี 2563 นี้ นอกจากจะเผชิญกับภัยคุกคามด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง แรงงานนอกระบบ และกลุ่มชาติพันธุ์ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อย่างใกล้ชิดนั้น ประเทศไทยยังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความตื่นตัวของเด็ก เยาวชนและประชาชนหลายกลุ่มหลายฝ่ายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางอันสอดคล้องกับวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย โดยที่ผ่านมา กสม.ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง และได้มอบหมายให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์การชุมนุมเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ผู้ชุมนุม และประชาชน ซึ่งมีความเห็นที่แตกต่างตระหนักและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน ดำเนินการใด ๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี

 

สุดท้ายนี้ เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันฝ่าฟันทุกวิกฤตการณ์ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการมีส่วนร่วมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็น รวมทั้งภัยพิบัติธรรมชาติต่าง ๆ ด้วยใจที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขจัดการเลือกปฏิบัติ เชื่อมั่นในความเท่าเทียมของบุคคลและความหลากหลายอันเป็นความงดงามของสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าฝ่าฟันทุกปัญหาต่อไปได้ด้วยพลังบวกของผู้คนในสังคมที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/politics/detail/9630000126156

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *