ThisAble.Me ประมวลม็อบคนพิการ 10 ธันวา ชี้รัฐต้องสนับสนุนอาชีพ-รัฐสวัสดิการ-แก้รัฐธรรมนูญ

 

10 ธันวาคม เวลาประมาณ 16.30 น. หน้ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ชุมนุมทยอยรวมตัวร่วมม็อบคนพิการ โดยมีลุงบรรพต เป็นแกนนำ ระบุว่าการชุมนุมวันนี้ถูกต้องตามกฎหมาย จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนพิการที่ควรจะได้ โดยเฉพาะเรื่องอาชีพและการจ้างงานของคนพิการที่ภาครัฐยังไม่ค่อยสนใจ วันนี้ภูมิใจที่ได้มาพูดให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ยิน หลังจากพิการเขาต้องพึ่งพาตัวเองและเห็นว่าการเป็นคนพิการลำบากมากแค่ไหน

 

น้ำพุหนึ่งในผู้ปราศรัยระบุว่า เขาพิการรุนแรงและมาวันนี้เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวกับคนพิการ หวังให้สิทธิคนพิการมีอยู่จริง สังคมไม่มีความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง สมาคมคนพิการต้องอยู่อย่างมีประโยชน์ ม็อบวันนี้ทำให้เห็นว่าคนพิการไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่สามารถออกมาเรียกร้องได้ ไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์แต่สิ่งที่เรียกร้องทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรได้รับ เขาเองต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นเพื่อให้อยู่ได้ เพราะเงิน 800 บาทนั้นไม่เพียงพอ แต่ถ้าวันหนึ่งแก่ตัวไปก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง อะไรเป็นหลักประกันว่าเขาจะอยู่ได้

 

น้ำพุ

 

“วันนี้ผมอยากให้เห็นว่า คนพิการอยู่ยังไง ใช้ชีวิตแบบไหน มีคนพิการหลายคนที่พิการหนักกว่าผมและสวัสดิการบ้านเราทำให้คนอยู่ไม่ได้ เราควรพูดถึงสวัสดิการที่จะทำให้คนพิการใช้ชีวิตได้จริง ผมมาสู้ให้เพื่อนที่ไม่ได้มาอีกหลายคนในวันนี้” เขาระบุด้วยว่า ใครก็บอกว่ากฏหมายคนพิการไทยดีที่สุดในอาเซียน กฏหมายเขียนทุกอย่างทั้งคนพิการอยากเรียนต้องได้เรียน อยากทำงานต้องได้ทำ แต่หากสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เอื้อต่อคนพิการแล้วคนพิการจะไปเรียน ไปทำงานได้อย่างไร รัฐหลอกประชาชนหรือเปล่าที่บอกว่าคนพิการมีสิทธินู่น สิทธินี่ อีกทั้งเรื่องการทำงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ที่พบว่าความเป็นจริงคนพิการเข้าไม่ถึง วุฒิไม่มี บางคนไม่ต้องทำงานแล้วได้เงิน หลายคนเจอความเหลื่อมล้ำและการเอาเปรียบคนพิการเกิดขึ้น ทำไมหน่วยงานรัฐถึงไม่เคยเจอ เขาจึงต้องการปฏิรูปโครงสร้าง กระจายอำนาจไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ใช่งบไปลงแต่ที่สมาคมจนเกิดความเหลื่อมล้ำและกระทบการดำรงชีวิตของคนพิการ

 

“อยากฝากถึง พม.ให้เปิดใจ ยอมรับความเป็นจริง ทั้งเรื่องเบี้ยคนพิการ การจ้างงานและโครงสร้างที่มันเหลื่อมล้ำ ถ้าเรายอมรับก็มีทางออก สุดท้ายผมอยากให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 พูดถึงเรื่องศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่รัฐธรรมนูญล่าสุดไม่มีการพูดถึงเลย  และเราควรพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการได้แล้ว” พร้อมกันนี้เขาชวนทุกคนพูดว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฏรจงเจริญ” ส่งท้าย

 

ต่อจากนั้น ออม ผู้ปราศรัยคนต่อไประบุว่า เบี้ยความพิการ 800 บาท ไม่เพียงพอและควรให้อย่างต่ำเท่าเส้นความยากจนเพราะคนพิการมีรายจ่ายที่มากกว่าคนทั่วไป ตัวเขาเองเคยไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ก็โดนปฏฺิเสธเพราะมหา’ลัยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้เขายังพูดถึงปัญหาการเดินทางของคนพิการที่ไม่มีโอกาสในการได้ใช้ ไม่ได้รับทรัพยากรที่มีคุณภาพและราคาต่ำ จนหลายครึ่งต้องนั่งแท็กซี่ เขาจึงออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต

 

กานต์นิธิจากม๊อบเฟสขึ้นพูดว่า วันหนึ่งเราทุกคนจะต้องหย่อนสมรรถภาพและใช้ชีวิตยากมากขึ้น รถเมล์หรือขนส่งสาธารณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะทำให้เราใช้ชีวิตได้หรือไม่? ฟุตบาทเช่นกัน คนธรรมดาทั่วไปยังลำบากแล้วคนพิการจะขนาดไหนเราต้องเจออะไรบ้าง ทั้งสายไฟทั้งท่อ ในฐานะที่เรียนด้านวิศวะมา ได้มีโอกาสไปเปิดดูมาตรฐานเกี่ยวกับวิศวะและการออกแบบทั้งหลาย แต่ในภาคการปฏิบัติก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเพราะไม่เคยถูกมาบังคับใช้ถึงแม้ว่าจะเขียนไว้อย่างดี นี่คือความอัปลักษณ์ที่รัฐไม่ยอมจัดให้ประชาชน

 

เอินขึ้นพูดต่อระบุว่าตนมาพูดในฐานะพี่สาวของคนพิการที่ต้องได้รับการผ่าตัดและใช้ค่าใช้จ่ายสูง สิทธิของคนพิการมีจริงแต่ต้องใช้เวลารอเป็นเดือนทั้งที่น้องกำลังจะต้องผ่าตัดจากอาการน้ำท่วมสมอง ถ้าคนพิการมีชีวิตดีจริง คุณภาพชีวิตควรจะดีกว่านี้หรือไม่ การมาพูดในวันนี้มีความคาดหวังว่าคนพิการควรมีชีวิตแบบถูกเห็นค่าและได้มีค่ามากกว่านี้ คนพิการไม่ใช่คนที่จะต้องถูกสงเคราะห์แต่ควรเป็นคนที่จะต้องได้รับการดูแล ที่ผ่านมามีกระแสโซเชียลโจมตีหนักมาก ถูกด่าสารพัด แต่ยังจะคงยืนหยัดว่าเด็ก สตรี คนพิการจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้

 

เอิน

 

พลอยขึ้นเล่าว่า ตนเองมีแม่เป็นคนพิการเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก จึงทำให้เห็นว่าชีวิตคนพิการลำบากมากแค่ไหน การเป็นคนพิการมีต้นทุนสูงในการใช้ชีวิต อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ อุปกรณ์สำหรับการช่วยเหลือคนพิการไม่ได้ราคาถูก ยิ่งเทียบกับรายได้คนพิการจากรัฐที่จ่ายให้ยิ่งแย่มาก พร้อมตั้งคำถามว่า หน่วยงานภาครัฐทำอะไรอยู่?

 

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ จาก We Fair ขึ้นปราศรัยเป็นคนสุดท้ายระบุว่า แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระคนพิการเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนรู้ว่าความพิการเกิดจากข้อจำกัดด้านกายภาพ ข้อกฎหมาย การเข้าถึงสื่อ และอุปสรรคทางทัศนคติ การเข้าถึงของคนพิการอย่างจำกัดเช่นนี้ทำให้คนพิการไม่ได้รับสิทธิแบบที่ควรเป็น ในต่างประเทศมีการกำหนดจอล่ามภาษามืออัตราส่วน 1 ต่อ 9 หรือครึ่งหนึ่งของจอจะต้องเป็นล่ามภาษามือหากเป็นข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ แต่บ้านเราจอล่ามคือจอเล็ก ๆ แสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับคนพิการแบบไหน อุปสรรคเหล่านี้ทำให้คนพิการออกมาต่อสู้เรื่องสิทธิน้อย มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นที่ออกมาต่อสู้ได้ เช่น พันโทต่อพงษ์ กุลครรชิตที่รวบรวมคนพิการและตั้งกลุ่มดำรงชีวิตอิสระคนพิการขึ้นมา

 

ในรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุว่า คนพิการต้องเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่เมื่อเข้าถึงรัฐธรรมนูญปี 60 ข้อความเหล่านี้ก็หายไป เช่นเดียวกับการเข้าถึงการศึกษาที่จะต้องไม่เกิดการกีดกันก็หายไปในรัฐธรรมนูญปี 60 เช่นกัน แม้จะมีตัวแทนคนพิการอยู่ในสภาเรื่องนี้ก็ยังเกิดขึ้น

 

ชูเวชเสริมว่า ที่ผ่านมาคนพิการไม่ได้รับการให้ความสำคัญ เช่น อาจารย์วิริยะและอาจารย์มณเฑียรซึ่งเป็นบุคลากรที่มีโอกาสเข้าไปนั่งอยู่ในสภาก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ บางครั้งเวลาจะพูดในสภาก็ถูกกีดกัน ไม่ก็บอกว่าหมดเวลา คนไม่ได้มองเห็นถึงประสิทธิภาพคนพิการ การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยถ้าไม่ได้มองเรื่องคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของประชาชนจึงเป็นไปไม่ได้ กฎหมายคนพิการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นแค่ขยะที่ไม่สามารถใช้งานได้

 

“อยากฝากไปถึงผู้นำคนพิการให้ลุกมาต่อสู้เช่นประชาชน ไม่ใช่ขุนนางศักดินา” ชูเวชทิ้งท้าย

 

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2020/12/675

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *