กรมบัญชีกลาง แจง ไม่ได้มีอำนาจเรียกเก็บเงินผู้สูงอายุคืน มีเพียงอำนาจตรวจสอบสถานะการรับเงินจากรัฐเท่านั้น ก่อนส่งข้อมูลให้กับท้องถิ่นดำเนินการต่อ และผลจากการตรวจสอบ พบมีผู้สูงอายุ และผู้พิการรับเงินซ้ำซ้อนจากรัฐ 15,000 คน
วันนี้ (26 ม.ค.64) นางนิโลบล แววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง ชี้แจงกรณีมีการเรียกเก็บเงินผู้สูงอายุคืน ว่า ตามระเบียบและอำนาจหน้าที่ กรมบัญชีกลางมีอำนาจแค่ตรวจสอบสถานะผู้รับเงินเท่านั้น ว่ารับเงินซ้ำซ้อนกันหรือไม่
ดังนั้น จึงไม่ได้มีอำนาจเรียกเก็บเงินคืน เพราะไม่ใช่หน่วยงานต้นสังกัดจ่ายเงินผู้สูงอายุ ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดคือ อบต. หรือท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดังนั้นหน่วยงานนี้จะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะเรียกคืนเงิน หลังตรวจพบสถานะรับเงินซ้ำซ้อนหรือไม่ แต่ทั้งนี้ เงินที่ผู้สูงอายุได้รับเป็นงบประมาณของรัฐ จึงมีความจำเป็นต้องจ่ายคืน
ส่วนต้นตอปัญหาที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เกิดความผิดพลาดของระบบตรวจสอบ หลังการลงทะเบียนผู้สูงอายุหรือไม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ขั้นตอนนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่แรกเริ่มลงทะเบียนผู้สูงอายุ ปี 2552 จะมีเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียน และตอนกรอกข้อมูล จะมีข้อความแจ้งในเอกสารด้วยว่า ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ไปลงทะเบียนรับทราบ แม้ว่ารับทราบแล้ว ประชาชนยังปกปิดข้อมูล พอส่งเอกสารเข้ากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะมีการนำข้อมูลไปตรวจสอบซ้ำ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องให้กรมส่งเสริมการปกครองฯ ชี้แจงว่าได้ตรวจสอบโดยสมบูรณ์หรือไม่
เพราะปัญหาดังกล่าว ทำให้สองหน่วยงานต้องจับมือทำงานร่วมกันในปี 2563 เพื่อนำฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมของผู้รับเงินคนพิการและผู้สูงอายุมาตรวจเช็คกับกรมบัญชีกลางว่า มีสถานะรับเงินจากรัฐซ้ำซ้อนหรือไม่ ซึ่งการตรวจพบและเป็นข่าวขณะนี้ ก็เป็นผลจากโครงการดังกล่าว และหากดูตัวเลขตอนนี้พบว่า มีผู้มีสถานะรับเงินซ้ำซ้อนจากรัฐ 15,000 คน แต่ในจำนวนนี้ พบว่ามีทั้งกระทรวงมหาดไทยส่งเลขบัตรประชาชนมาผิด และบางรายเสียชีวิตไปแล้ว
ดังนั้น ในจำนวนดังกล่าว จะมีบางส่วนเท่านั้น ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเรียกเก็บเงินคืน และถึงแม้จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ หรือคนพิการแล้ว แต่ก็ยังได้รับเงินบำนาญอยู่ตลอดชีพ เช่น ยายที่ จ.บุรีรัมย์ จะได้รับ 10,000 บาท ตลอดชีวิต