เหยื่อโดนทำร้ายด้วยน้ำกรด คนที่มีภาวะผิวเผือก และคนพิการ เหล่านี้คือแบบในภาพถ่ายของซิลเวีย อาเลสซี ช่างภาพชาวอิตาลี
เธอบอกว่าภาพของกลุ่มคนชายขอบของสังคมได้เปลี่ยนความคิดเธอเรื่องความสวยงามและการยอมรับกันและกันของคนในสังคม
“ผู้หญิงมาหาฉัน (ซึ่งเคยทำอาชีพเป็นแฮร์สไตลิสต์) เพราะอยากที่จะทำให้ตัวเองสวยขึ้นและฉันก็ช่วยพวกเขา” ซิลเวีย บอกกับบีบีซี “แต่ฉันรู้ดีว่าความสวยเป็นเรื่องของตัวตน บางครั้งซ่อนปัญหาเรื่องความมั่นใจตัวเองที่อยู่ลึก ๆ”
คนชายขอบ
ซิลเวีย เริ่มทำงานเป็นแฮร์สไตลิสต์ ตั้งแต่อายุ 17 ปี เหมือนกับหลาย ๆ คนที่เริ่มถ่ายภาพเล่น ๆ มันได้กลายมาเป็นสิ่งที่เธอรักในที่สุด
ตอนเธอไปเที่ยวทางตอนใต้ของเอธิโอเปียเมื่อปี 2010 เธอถ่ายภาพคนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์แถบหุบเขาโอโม และรู้สึกว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกทำเหมือนกับที่นั่นเป็น “สวนสัตว์มนุษย์” เธอบอกว่าการไปเที่ยวในแอฟริกาในครั้งนั้นสอนให้เธอว่าต้องทำความรู้จักกับแบบก่อนที่เธอจะไปถ่ายรูปเจ้าตัว
ที่เอธิโอเปีย เธอได้ไปทำความรู้จักกับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์แถบหุบเขาโอโม
ย้อนไปเมื่อปี 2017 เธอได้เห็นรูปผู้หญิงอินเดียในนครมุมไบที่มีภาวะผิวเผือกในโซเชียลมีเดีย และได้ยินเรื่องราวว่าคนที่มีภาวะเช่นนี้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงอย่างไร ในที่สุด เธอเดินทางไปอินเดียเพื่อถ่ายรูปพี่น้องสามคนที่มีภาวะนี้ ก่อนจะขยายขอบเขตของเนื้อหาเป็นซีรีส์ภาพถ่ายชื่อ “Skin” หรือผิวหนัง
เธอเดินทางต่อไปเมืองอัคราเพื่อถ่ายรูปผู้หญิงที่เป็นเหยื่อโดนสาดน้ำกรด ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้โดนทำร้ายเพราะปฏิเสธผู้ชายที่พยายามจะเข้าหา
“โซนิยา เหยื่อสาดน้ำกรดรายแรกที่ฉันได้เจอ เคยเป็นช่างแต่งหน้า เราคุยกันเรื่องงาน รู้สึกเป็นธรรมชาติมาก” ซิลเวีย ในวัย 45 ปี เล่า เธอบอกว่าก่อนจะพบกับคนที่เธอจะขอถ่ายรูป เธอรู้สึกวิตกกังวลมาก แต่พอได้เจอแล้วรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ฉันตระหนักว่าเป้าหมายของเราเหมือนกันคือช่วยให้คนอื่นตระหนักมากขึ้นว่าพวกเขาต้องเผชิญกับอะไร”
โซนิยาเป็นเหยื่อสาดน้ำกรด ที่พร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตให้ซิลเวียฟัง
ซิลเวียเลือกที่จะรวมเอาตัวแบบสองประเภทมารวมกัน คนที่มีภาวะผิวเผือกและเหยื่อสาดน้ำกรด เธอบอกว่าต้องการบอกเล่าปัญหาสังคมเพื่อแสดงให้เห็นว่าผิวหนังเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเหล่านี้ถูกสังคมผลักไส
“ศิลปะเป็นยาชูใจ”
หลังจากนั้น ซิลเวียได้เดินทางไปถ่ายรูปที่อิรัก อัฟกานิสถาน และญี่ปุ่น และกลับไปอินเดียอีกหลายครั้ง
เธอรู้สึกร่วมไปกับคนที่เมืองโภปาลมาก เมื่อปี 1984 ซึ่งเกิดเหตุก๊าซพิษรั่วไหลจากโรงงานเคมียูเนียนคาร์ไบด์ โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คนในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ และในปีถัด ๆ มา รัฐบาลอินเดียบอกว่ามีผู้เสียชีวิตอีกมากกว่า 15,000 คน
ซาเมียร์ เป็นหนึ่งในเด็กจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากหายนะในครั้งนั้น เขาเกิดมาพร้อมภาวะสมองพิการและไม่สามารถพูดหรือขยับตัวได้ เขาอายุ 18 ปี ตอนที่ซิลเวียได้ถ่ายรูปเขาครั้งแรก เธอบอกว่ามันทำให้เธอตระหนักว่างานเธอมีค่า และตัวซาเมียร์ก็ได้อะไรบางอย่างจากงานของเธอด้วย
ซาเมียร์ เป็นหนึ่งในเด็กจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากหายนะที่เมืองโภปาล
“หลังจากถ่ายรูปซาเมียร์เสร็จ ฉันก็เริ่มร้องไห้ออกมา …ศิลปะ คือ ยาชูใจให้ศิลปิน ตัวแบบงานของศิลปิน และผู้ชม”
“ฉันรู้ว่าฉันทำให้วันของซาเมียร์เปลี่ยนไป ทำให้เขารู้สึกโล่งขึ้นนิดหน่อย”
“เขาไม่เกรงกลัว”
ซิลเวียยังได้เดินทางไปอีกในหลายที่ในโลก ที่ญี่ปุ่น เธอได้สัมผัสถึงพลังและการมองโลกในแง่ดีจาก โคอิชิ โอเมะ ผู้ซึ่งแม้จะเสียขาซ้ายไปจากอุบัติเหตุรถยนต์ตอนอายุ 23 ก็ยังกลายมาเป็นนักเต้นอาชีพและร่วมแสดงในพิธีปิดของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ที่นครริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 2016
โคอิชิ โอเมะ
ที่อิรัก เธอไม่สนใจคำเตือนของมัคคุเทศก์ และไปยังสถานที่ที่มีผู้ชายเกย์ไปรวมตัวกันเยอะ และเชื้อชวนให้ผู้ชายคนหนึ่งเป็นแบบให้เธอสำเร็จ
“ฉันเจอผู้ชายคนที่คิดว่าใช่ และเริ่มพูดคุยกับเขา เราขำกัน และเขาก็เริ่มเชื่อใจฉัน เขาวิตกกังวลแต่ก็ไม่ได้รู้สึกกลัวที่จะเปิดเผยตัวตนของตัวเอง”
หลังโควิด-19 ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เธอหันมาถ่ายรูปตัวเองขณะอยู่บ้านที่เมืองแบร์กาโม
ที่อิรัก เธอไปทำความรู้จักและถ่ายรูปผู้ชายเกย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมที่นั่น
ทุกวันนี้เธอยังติดต่อกับคนที่เป็นแบบให้ภาพถ่ายของเธอ และเล่าให้พวกเขาฟังว่าจะมีการนำภาพถ่ายไปจัดแสดงที่ไหนและเมื่อไร และเล่าให้ฟังด้วยว่าคนมีความเห็นกับงานเธออย่างไรบ้าง
ซิลเวียบอกว่าเวลานำภาพถ่ายไปแสดง เธอจะบอกเล่าเรื่องราวและชื่อของผู้คนในภาพด้วยเสมอ
“นั่นเป็นวิธีของฉันในการช่วยพวกเขา ช่วยให้คนตระหนักกว่าคนเหล่านี้ต้องเผชิญอะไร”