สธ.เข้มมาตรฐานดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พัฒนาห้องฉุกเฉินจัดคลินิกนอกเวลา-ระบบคัดแยกผู้ป่วย-เพิ่มบุคลากร ลดแออัด-พิการ-อัตราการเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ภายหลังเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการดำเนินงานระบบบริการห้องฉุกเฉิน (Emergency Care System) ว่า กระทรวงเร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินคุณภาพแบบครบวงจร และระบบส่งต่อโดยให้ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ให้เป็นรพ.แม่ข่าย มีความพร้อมให้บริการเปิดตลอด 24 ชม. และรับส่งต่อจากรพ.เครือข่ายภายในจังหวัด ขณะเดียวกันก็จะต้องพัฒนาระบบบริการและเพิ่มศักยภาพในรพ.ทุกระดับให้พร้อมรับคนไข้วิกฤติฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในทุกรูปแบบ
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า การพัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพมี 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน โดยจัดบริการคลินิกนอกเวลา หรือพรีเมียมคลินิกสำหรับผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยวิกฤติที่ ได้รับการรักษาด่วนไม่ต้องอยู่ห้องฉุกเฉินนานกว่า 4 ชม. 2.จัดมาตรฐานคุณภาพและการบริการห้องฉุกเฉิน อาทิ มีเครื่องช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจน ให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการตรวจรักษาก่อนตามลำดับความเร่งด่วน มีระบบช่องทางด่วนในกลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ จัดให้มีแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชม. โดยมี รพ.ศูนย์ขนาดใหญ่ต้องจัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์ที่ปรึกษากรณีจำเป็นตลอด 24 ชม. เป็นต้น และ 3.การพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาวิชาชีพให้เพียงพอ และมีระบบป้องกันเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินไม่ให้ถูกคุกคามด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ได้กำหนดให้รพ.ทั่วประเทศ ประเมินและปรับปรุงตนเองให้ได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรสายด่วน1669 ตลอด 24 ชม.