นักกีฬายกน้ำหนักคนพิการทีมชาติไทย “อุปสรรคคือพลัง”

การจะเป็นนักกีฬาทีมชาติได้ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นใจรักบวกกับฝีมือ เสริมทัพด้วยเงินทุน ที่ขาดไม่ได้คือโอกาส แต่สำหรับคนพิการในไทย ปัจจัยสุดท้ายดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก ที่พวกเขาจะก้าวขึ้นสู่ทีมชาติ และเมื่อได้เป็นแล้ว ก็ยังต้องมีอุปสรรคให้ฝ่าฟันรอบด้าน

ในวันคนพิการแห่งชาติ บีบีซีไทยขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับชีวิตของเหล่านักกีฬายกน้ำหนักคนพิการทีมชาติไทย ซึ่งแม้จะพิการกายแต่หัวใจของพวกเขานั้นแข็งแกร่งยิ่ง ถึงจะเผชิญกับอุปสรรคมหาศาลแต่พวกเขาก็ยินดีที่จะรับใช้ทีมชาติ เพราะด้วยความรักในประเทศและในกีฬาชนิดนี้

หากใครเคยมาออกกำลังกายบริเวณสนามกีฬาหัวหมาก ก็คงจะเห็นเป็นภาพคุ้นตา กับบรรดาเหล่านักกีฬายกน้ำหนักคนพิการ ใช้ที่บริเวณใต้ถุนสนามราชมังคลากีฬาสถานเป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมก่อนไปทำการแข่งขันในรายการต่างๆ ตอนนี้พวกเขาก็กำลังฝึกซ้อมกันอย่างขมักเขม้น ก่อนเดินทางไปแข่งขันรายการ World Para Powerlifting ที่ประเทศเม็กซิโก

การเก็บตัว เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. หลังเสร็จศึกอาเซียนพาราเกมส์ที่ประเทศมาเลเซียได้ไม่กี่วัน โดยมีโค้ชวุฒิชัย สุขเสวตร เป็นผู้คุมการฝึกซ้อม โดยจะแบ่งการซ้อมเป็น 2 ช่วงเวลา คือในช่วงเช้า เป็นการซ้อมยกน้ำหนัก ซ้อมท่า เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 8 โมงเช้า ไปจนถึงเวลาประมาณ 10 โมง ขณะที่ในช่วงเย็น ก็จะเป็นการออกกำลังเบา ๆ พร้อมกับการเล่นเวทเทรนนิ่ง

ตัวเขาเองเคยเป็นนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติมาก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่คนพิการ ทุก ๆ บ่อยโค้ชวุฒิชัยต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อพบปะกับคนพิการและพูดคุยชักจูงให้มาเล่นลองหัดเล่น อันเป็นหนทางเดียวที่จะปั้นนักกีฬาใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ เพราะว่าไม่มีระบบการคัดตัวมารองรับ

“เหตุผลในการเล่นกีฬายกน้ำหนักของแต่ละคน ก็แตกต่างกันไป บางคนเล่นเพราะพอหัดแล้วก็มีใจรัก บางคนก็อยากพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถเล่นกีฬาเล่นชนิดนี้ ให้เห็นว่ามีความสามารถเท่าเทียมกับคนอื่น” โค้ชวุฒิชัยกล่าว

นักกีฬาที่มาซ้อมประจำที่ใต้ถุนสนามรัชมังคลามีอยู่ 10 คน เมื่อไปแข่งกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ก่อนหน้านี้เขาได้เบี้ยเลี้ยงการเก็บตัววันอย่างต่ำ 300 บาท แต่ในครั้งนี้ เขาไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง ทำให้ต้องใช้เงินตัวเอง รวมทั้งเงินของผู้สนับสนุนบางส่วนเท่าที่จะหาได้ ทำให้เหลือคนที่มาซ้อมประจำ 9 คน

“ที่จริงมีนักกีฬาอีกคน แต่เขาไม่ได้มาซ้อมกับทีม เขามีภาระ ต้องหาเลี้ยงตัวเอง เพราะการเก็บตัวไปแข่งรายการนี้ (World Para Powerlifting) นักกีฬาไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเก็บตัว เขาเลยขออนุญาตซ้อมเดี่ยว แต่ไม่ต้องห่วง คนนี้ค่อนข้างมีวินัย อีกอย่างก็มีโค้ชใหญ่อีกคนไปช่วยดูแลด้วย” โค้ชวุฒิชัย กล่าวกับบีบีซีไทย

เรื่องเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อมที่น้อยหรือบางครั้งไม่ได้เลยไม่ใช่ปัญหาอย่างเดียวที่ทีมประสบ ที่พักในยามเก็บตัวก็เป็นปัญหาเช่นกัน ทางทีมต้องเสียเงินส่วนตัวเพื่อใช้เป็นที่พักสำหรับการเก็บตัวในครั้งนี้ โดยเลือกที่จะไปเช่าห้องที่ใกล้กับสนามกีฬา เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าการเช่าห้องพักสำหรับนักกีฬาหรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘ตึก 300 เตียง’ ที่มีราคาอยู่ที่ 300 บาทต่อคนต่อคืน

“ที่พักสำหรับนักกีฬา แต่ให้คนนอกเช่า ให้คนนอกมีสิทธิก่อน วันดีคืนดีเรานอนกันอยู่ดีๆ ก็มาเรียกให้เราออก เพราะมีคนนอกมาจองไว้ก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่เราก็เสียเงินเหมือนกัน” นักกีฬารายหนึ่งกล่าว

แต่ถึงแม้จะมีปัญหามากเท่าไหร่ นักกีฬายกน้ำหนักคนพิการเหล่านี้ ก็ยังยินดีที่จะรับใช้ทีมชาติด้วยความรักที่มีต่อประเทศและกีฬายกน้ำหนัก

“เรื่องเบี้ยเลี้ยงก็มีได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่รายการ อย่างอาเซียนพาราเกมส์ครั้งล่าสุด ค่าเบี้ยเลี้ยงก็ได้กัน ส่วนเรื่องเงินที่ใช้เดินทางไปแข่งขัน ครั้งนี้เขาก็ยังให้อยู่ ถึงจะไม่ให้เบี้ยเลี้ยงเก็บตัว” ชูชาติ สุขเจริญ กล่าวกับบีบีซีไทย

ขาของ ชูชาติ สุขเจริญ นักกีฬายกน้ำหนักคนพิการ สำหรับกีฬายกน้ำหนักคนพิการ มีเกณฑ์ตัดสินผู้ที่จะเข้าแข่งขันได้คือหนึ่งต้องมีลักษณะพิการที่ขา หรือสองมีลักษณะเป็นคนแคระ

ชูชาติ อยู่ในวงการนักกีฬายกน้ำหนักคนพิการมา 10 กว่าปี และเพิ่งคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ที่มาเลเซียที่ผ่านมา

ชูชาติคิดว่าวงการนักกีฬาคนพิการพัฒนาขึ้นมากหากเทียบจากเมื่อก่อน ถึงแม้เรื่องค่าตอบแทนสำหรับนักกีฬาจะยังไม่มากเท่ากับคนปกติก็ตาม

“เรื่องการจัดการ การดูแล อะไรเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมาก ทุกภาคส่วนสนับสนุนมากกว่าแต่ก่อน นักกีฬาพิการบางคนก็ได้บรรจุให้เป็นพนักงานในบริษัท มีเงินเดือนให้จำนวนหนึ่ง ส่วนเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับจากการแข่ง ก็ดีกว่าแต่ก่อนเยอะ ถึงแม้จะยังไม่เท่าคนปกติก็ตาม แต่ทุกวันนี้ ที่พวกเรายังเล่นกันอยู่ก็เพราะรัก และทำเพื่ออนาคตของนักกีฬารุ่นต่อไป” ชูชาติ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8106

ขอขอบคุณจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-41952708

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *