“กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” คำขวัญที่เราเห็นมานานกว่า 10 ปีบนรางรถไฟฟ้าใจกลางย่านธุรกิจ เพราะด้วยการเดินทางที่แสนสะดวกสบาย สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จึงทำให้คนปกติทั่วไปไม่รู้สึกลำบากลำบนอะไรเท่าใดนัก แต่ในมุมของผู้พิการนั้นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง “การเดินทางในกรุงเทพฯ ไม่เท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับผู้พิการ แม้ว่าจะมีทางเลือกมากกว่าการเดินทางในต่างจังหวัดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีรถเมล์ชานต่ำ ก็ต้องเลือกใช้บริการแท็กซี่หรือใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถแทน รวมถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็เข้าถึงได้ยาก การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จึงมีความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้พิการเพราะถูกออกแบบมาให้คนปกติใช้ได้เท่านั้น” นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ เพจเฟซบุ๊ก Thisable.me ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์เอ่ยถึงการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่เธอต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน
นอกจากเรื่องการเดินทางทั่วไปแล้ว เรื่องค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกหนึ่งความเหลื่อมล้ำที่เธอสัมผัสได้ เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่จะได้ค่าแรงที่ต่ำกว่าคนปกติทั่วไป มักจะอยู่ในเรตค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่ค่าแรงตามระดับวุฒิภาวะที่เรียนจบมา จึงทำให้การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เพราะมีค่าครองชีพสูง แต่ถ้าไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดก็มีตัวเลือกการเดินทางน้อย เพราะไม่มีทั้งรถเมล์ชานต่ำและแท็กซี่ มีตัวเลือกแค่เพียงแค่รถสองแถวและรถกะป๊อ ซึ่งทำให้ผู้พิการไม่สามารถใช้ชีวิตได้สะดวก
ในมุมมองของนลัทพร ซึ่งเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ มองว่าเป็นเมืองที่ขยายและพัฒนาเร็วมาก มีความเจริญเพิ่มขึ้น แต่โครงสร้างพื้นฐานกลับไม่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ซึ่งคนพิการเองก็ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากคนปกติ นี่จึงเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดในกรุงเทพฯ
“ผู้กำหนดนโยบายควรทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ไม่ควรตัดงบส่วนนี้ออก เพราะผู้พิการก็เป็นผู้เสียภาษีด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดูแลชีวิตของผู้พิการให้เท่าเทียมกับคนทั่วไปก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังจากผู้ว่าฯ กทม. ทุกคน”
เธอคาดหวังกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ว่า ควรเป็นการเลือกตั้งที่มาจากการเลือกและลงคะแนนเสียงของประชาชน และทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนเพื่อนำมาสู่การปฏิบัติได้จริง ถ้าหากมีนโยบายที่เกี่ยวกับคนพิการ ก็ควรมีคนพิการมาช่วยวางแผนคิดนโยบายต่างๆ นั้นด้วย เพราะผู้ที่ใช้งานจริงย่อมรู้ดีว่าแบบไหนคือสิ่งที่ผู้พิการต้องการและสามารถใช้งานได้จริง
สอดคล้องกับความเห็นของบุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์แนวไลฟ์สไตล์ ช่อง Poocao Channel ซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ที่แม้ว่าจะไม่ต้องใช้วีลแชร์เหมือนนลัทพร แต่ก็ไม่สามารถเดินได้คล่องแคล่วรวดเร็วเหมือนคนปกติทั่วไป ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ที่เขาอยากได้คือคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจความหลากหลายของผู้คนที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือต้องรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
“การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ของผมก็ค่อนข้างลำบาก เพราะถึงแม้จะไม่ได้ใช้วีลแแชร์ แต่ถนนหนทางฟุตปาทในกรุงเทพฯ ที่ไม่เป็นระเบียบก็ทำให้เดินสะดุดล้มได้ง่าย ส่วนรถเมล์แบบชานต่ำก็มีให้บริการน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นแบบปกติทั่วไปที่บันไดค่อนข้างชัน ทำให้เดินขึ้นลงลำบาก ขณะที่รถไฟฟ้าเองก็ไม่มีลิฟต์ให้บริการทุกสถานี บางสถานที่แม้ว่าจะมีทางลาดสำหรับวีลแชร์ก็จริงแต่ก็เป็นทางลาดที่ชันมากจนไม่สามารถเข็นวีลแชร์ขึ้นไปได้ ดังนั้นถ้ามีคนที่เข้าใจความต้องการของผู้พิการมาช่วยออกแบบคงจะดีขึ้น”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากผู้พิการที่พักอาศัยและใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สัมผัสถึงความเหลื่อมล้ำและปัญหาต่างๆ ที่การพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ไม่เคยเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง คงจะดีไม่น้อยหากผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปสามารถรับฟังและเข้าถึงเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้กับผู้พิการได้จริง กรุงเทพฯ ก็คงจะเป็นเมืองที่มีชีวิตดีๆ ที่ลงตัวได้ตามคำขวัญที่ตั้งไว้ ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดสวยๆ แต่ไม่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8106
ขอขอบคุณจาก https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2387395