“เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ต้องสอนเขาซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เขาจะจดจำ สำคัญคือเขาซื่อสัตย์ไม่โกง” สายสม วงศาสุลักษณ์
“จิน” ถกลรัตน์ โปร่งสุวรรณ หนุ่มดาวน์ซินโดรม วัย 27 ปี บาริสต้าตาหวาน อารมณ์ดี เขาจำสูตรได้ทุกเมนู ชงเองทุกแก้ว หวานมาก-หวานน้อย แค่ลูกค้าสั่งก็ทำได้หมด ส่วน “บอย” วีระยุทธ โล่ทองเพชร ออทิสติก วัย 52 เดินเสิร์ฟกาแฟ เก็บแก้ว เช็ดโต๊ะ ทำความสะอาด ซื้อของเข้าร้าน เก่งงานธุรการ เวลาที่มูลนิธิมีประชุมจะเป็นคนขึ้นไปจดออเดอร์กาแฟมาให้ “จิน” และนำขึ้นไปเสิร์ฟเอง ทุกวันมีครูพี่เลี้ยงร่วมดูแล ทุกครั้งที่มีลูกค้าทั้ง 2 คนจะกล่าวสวัสดี ต้อนรับ และขอบคุณครับ ตอนกลับ บางครั้งจะมาคุยเล่น เซลฟี่กับลูกค้าที่มาอุดหนุนด้วย
“ปัญญา คาเฟ่” อีกช่องทางสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการได้ภูมิใจว่า เขาสามารถทำงานมีเงินเดือน ไม่เป็นภาระของสังคม สายสม วงศาสุลักษณ์ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า เป็นความตั้งใจที่มูลนิธิอยากจะส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสติปัญญาที่ดูแลอยู่ในศูนย์ต่างๆ มีตั้งแต่อายุ 5 ขวบไปจนอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้สามารถช่วยตนเองได้ เป็นที่ยอมรับของครอบครัวและสังคมว่าเขาสามารถทำงานได้
ร้านกาแฟนี้แห่งนี้ เป็นการต่อยอดจากร้านรถเข็นขายกาแฟเล็กๆ ที่เปิดหน้าโรงเรียนปัญญาวุฒิกร ตั้งแต่ปี 2558 ขายแก้วละ 20 บาท โดยคนชง คือ “จิน” ที่มีแววสามารถพัฒนาได้ นำเขามาพัฒนาและฝึกฝนโดยครูพี่เลี้ยง ลูกค้าเป็นผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนปัญญาวุฒิกร และคนละแวกนั้น ส่วนใหญ่ชื่นชอบ ชมรสชาติกาแฟอร่อย
พอเปิดร้านนี้ให้ “จิน” มาทำหน้าที่ชงกาแฟ ซึ่งใช้เวลาในการฝึกและพัฒนาอยู่ 3 ปี จนถึงตอนนี้สามารถวางใจได้ ไม่ต้องคอยควบคุม เพราะเขาจำสูตรได้ ทำทุกอย่างได้ทั้งหมด ส่วน “บอย” เดิมเป็นพนักงานธุรการโรงเรียน เสิร์ฟน้ำ รับแขก มีความคล่องแคล่ว เรียบร้อย จึงให้มาดูแลช่วยเสิร์ฟกาแฟ ดูแลความสะอาด โดยทั้งคู่ได้ค่าจ้างเดือนละ 9,125 บาท ส่วนทิปที่ลูกค้าให้แต่ละวันครูจะแบ่งให้คนละครึ่งน้องๆ เขาจะไว้เป็นค่าขนม ค่าอาหารหรือค่ารถ
“เปิดมาประมาณ 5 เดือนได้รับการตอบรับที่ดี มีคอกาแฟแวะเวียนมาอยู่บ่อยครั้ง เพราะคนชงเป็นผู้พิการทางสติปัญญามาแต่เกิดแต่ก็ชงได้รสชาติไม่แพ้คนปกติ นอกจากนี้ก็มีคุกกี้ที่ มทร.พระนคร มาอบรมให้เด็กได้ฝึกทำไว้วางขาย การตกต่างร้านเน้นบรรยากาศสบายๆ อุปกรณ์ต่างๆ มีทั้งที่ซื้อเอง และได้รับบริจาคจากหน่วยงานต่างๆ เช่น แอร์ เครื่องชงกาแฟ ตอนนี้ทางร้านก็มีกำไรราว 2-3 หมื่นบาท การสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ต้องสอนเขาซ้ำๆ ทำบ่อยๆเขาจะจดจำ ที่สำคัญเขามีความซื่อสัตย์ไม่โกง ตั้งใจทำงานเต็มที่ในหน้าที่” สายสม กล่าว
ขณะนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือคนปัญญาอ่อนฯ ทั่วประเทศ 10 แห่งฝึกฝนผู้บกพร่องทางสติปัญญาเหล่านี้ให้ชงกาแฟ และจะนำผลิตภัณฑ์ของคนพิการทำเอง มาวางจำหน่ายในร้าน และยังตั้งเป้าพัฒนาผู้บกพร่องทางสติปัญญาให้มีคุณภาพและถามหาองค์กร บริษัทใหญ่ จ้างคนพิการไปทำงาน หากไม่ทำงานที่บริษัท ก็อาจจะส่งงานมาที่ศูนย์ เป็นการส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพ
“สุภัทรา โกไศยกานนท์” อธิการบดีมทร.พระนคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนให้ผู้พิการทุกคนได้รับโอกาสโดยเฉพาะด้านการศึกษา หรือการส่งเสริมให้ผู้พิการได้มีอาชีพ มทร.พระนครให้ความสำคัญ จากที่มีโอกาสหารือกับประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนฯ อยากให้มีขนมไปเพิ่มรายได้แก่ร้านกาแฟ จึงได้มอบหมายให้ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ลงไปฝึกอบรมให้แก่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่ร้านปัญญา คาเฟ่ โดยเลือกสอนทำคุกกี้ สูตรโชติเวช ของ มทร.พระนคร และเป็นขนมที่น้องๆ สามารถทำได้
“คณะเทคโนฯ เลือกคุกกี้ไปสอนเพราะเหมาะกับน้องๆ และอุปกรณ์ไม่มาก เตาอบแบบที่มีในบ้านก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นขนมปังต้องมีการนวดแป้ง ซึ่งน้องจะมีข้อจำกัดทางกายภาพกำลังแรงไม่ถนัดนัก และไม่ใช่เด็กทุกคนทำได้ ต้องคัดเลือกมาเรียนรู้และทำ โดยมหาวิทยาลัยก็ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ ส่วนวัตถุดิบและสูตรที่ใช้เหมือนกับที่เราทำเองทุกอย่าง อาจารย์ของเราลงไปสอนให้น้องๆ ได้ฝึกทำในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกซื้อของ ส่วนผสม ซึ่งคุกกี้สูตรของเราเป็นสไตล์โฮมเมดไม่ใช้เครื่อง หยอดและแต่งหน้าเองในแต่ละขั้นตอน ก็จะใช้เวลา เพราะต้องสอนซ้ำๆน้องก็จะจดจำและทำได้ ซึ่งใช้เวลาสอนประมาณ 1 เดือน จากที่ได้เห็นเด็กมีความสุข สีหน้าแววตาภูมิใจที่เขาทำขนมสำเร็จ ตรงนี้จะทำให้เขามีความรู้ เป็นอาชีพติดตัว มีโอกาสสร้างรายได้ ช่วยให้เขาดำรงชีวิตในสังคมได้” สุภัทรา กล่าว
มีโอกาสพูดคุยกับ “จิน” เขาบอกว่าชอบชงกาแฟ จำได้หมดทุกสูตรของเมนูที่มีขายในร้าน เขาจะเรียกสั้นๆ อย่าง โซ่(เอสเพรสโซ) ปูโน่(คาปูชิโน่) แต่ลูกค้าสั่งด้วยชื่อเต็มก็เข้าใจทำได้ไม่ผิดพลาด และยังคล่องแคล่ว ทำเสร็จก็จะต้องเก็บล้างมาคว่ำให้เรียบร้อยจะไม่ปล่อยทิ้งไว้ ทำแบบนั้นไม่สะอาด ทุกวันนี้เขามีความสุขได้ทำงานและมีเงินเดือน ตั้งใจเก็บเงินไว้เผื่อเวลาไม่สบายจะได้เอาไว้หาหมอ
ขณะที่ “บอย” บอกว่าเขาถนัดที่จะทำหน้าที่เสิร์ฟ มีความสุขที่ได้พูดคุยพบปะผู้คน วันไหนมูลนิธิมีประชุมก็จะไปขึ้นไปรับออเดอร์มาให้จิน ส่วนเรื่องความสะอาดไม่ต้องห่วง ว่างตอนไหนก็ต้องกวาดถูรอรับลูกค้าเสมอ ซึ่งเขา 2 คนจะประจำร้านในวันจันทร์-พฤหัสบดี
สนใจลิ้มรสกาแฟ คุกกี้ ฝีมือของผู้บกพร่องทางสติปัญญา เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจตามไปเช็กอินกันได้ที่ ปัญญา คาเฟ่ ร้านเปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น.