พม.แถลงเปิดอาคารแรกโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง 9 ก.ค. นี้ งานสัมมนาวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านคนพิการ รายงานสถานการณ์ทางสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชนกับการพนันฟุตบอลออนไลน์
วันนี้ (5 ก.ค. 61) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุภัชชา สุทธิพล โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย 1) นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมแถลงผลการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวง พม. ในประเด็นการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2561 และการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่สังคมยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล” (Moving towards Sustainable Society for All) 2) นางสุวรีย์ ใจหาญ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม นางวรรภา ลำเจียกเทศ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นายธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในประเด็นรายงานสถานการณ์ทางสังคมไทยปัจจุบัน 3) ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ในประเด็นความคืบหน้าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง กรณี พิธีเปิดอาคารแรกบนแปลง G บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนนอโศก – ดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ และ 4) นางธนาภรณ์ พรหมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ในประเด็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
ด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ประสานพลังประชารัฐร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนขับเคลื่อนงานในทุกมิติ ภายใต้นโยบาย “ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยค้ามนุษย์” ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาปรับระดับไทยดีขึ้นจากเทียร์ 2 เฝ้าระวัง เป็นเทียร์ 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1) การลดระยะเวลาในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษคดีค้ามนุษย์ 2) การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย ในปี 2560 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ประสงค์เข้ารับคุ้มครองในสถานคุ้มครองฯ ของกระทรวง พม. 360 คน ซึ่งสามารถรับงานมาทำในสถานคุ้มครองฯและออกไปทำงานนอกสถานคุ้มครองฯ ได้ และ 3) การออกระเบียบให้องค์กรพัฒนาเอกชนจัดตั้งสถานคุ้มครอง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
สถานการณ์ทางสังคมไทยปัจจุบัน พบว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในช่วงนี้ คือ ปัญหาเด็กและเยาวชนกับการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งพบว่ามีเยาวชนกว่า 6 แสนคน เล่นพนันทายผลฟุตบอลออนไลน์ ทำให้เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดการพนันจนเกิดความเครียดและหนี้สิน ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพและอาชญากรรมตามมา อีกทั้งพบว่าเด็กและเยาวชนที่เล่นการพนันครั้งแรกมีอายุน้อยที่สุดคือ 7 ปี ทั้งนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรบูรณาการความร่วมมือกับ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยทางโรงเรียนและครอบครัว ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประชาสัมพันธ์บทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
ในขณะที่สถานการณ์ครอบครัวไทย ปัจจุบัน พบว่ามีขนาดเล็กลงและมีรูปแบบหลากหลายซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง มีความเปราะบาง และภาวะพึ่งพิงสูง กล่าวคือ มีครอบครัวข้ามรุ่น ที่มีเพียงคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นปู่ย่า ตายาย กับคนรุ่นหลาน คิดเป็น ร้อยละ 76 อยู่ในชนบท โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบว่าร้อยละ 90 ของครอบครัวข้ามรุ่น เป็นสตรีสูงอายุ 1 ใน 5 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรจัดบริการทางสังคมแบบเฉพาะเจาะจงด้วยการช่วยเหลือเป็นรายกรณี และขับเคลื่อนการดำเนินงานบนฐานข้อมูลและความรู้ เพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน สำหรับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 724 ราย ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 รายในปี 2560 ซึ่งผู้ถูกกระทำมักไม่แจ้งความร้องทุกข์ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว โดยสาเหตุหลัก คือ เจตคติของสังคม ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การบังคับ ใช้กฎหมาย ความเครียดจากเศรษฐกิจและปัจจัยกระตุ้นจากสุราและยาเสพติด ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรปรับเจตคติของสังคมว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมิได้เป็นปัญหาส่วนตัวแต่เป็นปัญหาของสังคมที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไข เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลไกพื้นที่ในการเฝ้าระวังแจ้งเหตุ
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งได้กำหนดครอบครัวเป้าหมาย จำนวน 5.87 ล้านครัวเรือน ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาส ได้แก่ 1) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ 334 หน่วย โดย ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดอาคารแรกบนแปลง G ของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนนอโศก – ดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ 2) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว 2,635 ครัวเรือน ใน 29 ชุมชน ซึ่งขณะนี้ สร้างบ้านแล้วเสร็จ 1,190 ครัวเรือน ใน 18 ชุมชน และ 3) โครงการบ้านมั่นคง มีการสนับสนุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2561 (ณ ปัจจุบัน) จำนวน 2,739 ครัวเรือน เป็นต้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้กับชาวชุมชนดินแดง โดยมุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 มีการอนุมัติดำเนินโครงการระยะที่ 1 อาคารพักอาศัยแปลง G บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ เป็นอาคารชุดสูง 28 ชั้น 334 หน่วย ขนาดพื้นที่ห้อง 33 ตารางเมตร กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน ซึ่งมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2559 ปัจจุบัน การก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง G เสร็จเรียบร้อยแล้ว และสามารถขนย้ายชาวชุมชนกลุ่มแรกเข้าอยู่อาศัยได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2561 นี้ โดยให้สิทธิการเช่าผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลตที่ 18 – 22 จำนวน 236 ราย สำหรับการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะ 2 3 และ 4 นั้น ได้ออกแบบโครงการและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมทั้งนำเสนอให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาครบทุกแปลงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กรุงเทพมหานคร และกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ กคช. มีกำหนดจัดพิธีเปิดอาคารโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 อาคารแปลง G ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ บริเวณที่ตั้งโครงการอาคารแปลง G หัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ
ในส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2561 และการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่สังคมยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล” (Moving towards Sustainable Society for All) ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งพบว่า ในจำนวนนั้นมีคนพิการอยู่ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอรูปแบบของการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ให้ได้รับการอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำกิจกรรมร่วมกับทุกคนในสังคมอย่างมีความสุข ดังนั้น งานสัมมนาครั้งนี้จึงมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 1) การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง”การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556” 2) การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Sustainable and Inclusive Development for Persons with disabilities” 3) การนำเสนอผลงานวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวนกว่า 50 เรื่อง 4) การประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และเชิงความคิด 5) การมอบรางวัลผลงานวิชาการและนวัตกรรมระดับดีเยี่ยม จำนวน 13 รางวัล และ 6) การมอบธงเจ้าภาพกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี 2562
นอกจากนี้ วันนี้ (5 ก.ค.61) เวลา 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 3/2561 เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเด็นสำคัญเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เข้าร่วม การประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2561) โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ให้จ่าย 100 บาทต่อเดือน และ 2) ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี ให้จ่าย 50 บาทต่อเดือน
ขอบคุณ… http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/806824