คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: ผลกระทบจากการนำเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

– หลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ต่อการกำหนดประเภททุนที่จะได้รับยกเว้นนั้น ต้องเป็น กองทุนที่มีลักษณะเรียกเงินจากสมาชิกและต้องจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิก เมื่อพิจารณาลักษณะกองทุนส่งเสริมฯ แล้วยังไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่ คณะกรรมการได้พิจารณาไว้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจกองทุนตาม พระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุด และการนำทุนหรือ ผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๑ นั้น กองทุนส่งเสริมฯ ไม่ได้มีเงินสะสมอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องนำส่งเงินเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เนื่องจากกองทุนมีแผนการใช้จ่ายเงิน ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นว่าหากกองทุนมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ชัดเจน ก็มั่นใจได้ว่า จะไม่มีเงินสะสมเหลือเกินความจำเป็นที่จะเรียกส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินถ้าตาม พระราชกฤษฎีกากำหนด

– จากข้อเท็จจริง ที่ได้หารือร่วมกันทุกฝ่ายซึ่งเห็นตรงกันว่า เงินรายรับซึ่งเป็นเงินขาเข้าของกองทุน มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะน้อยกว่ารายจ่ายหรือเงินขาออกอย่างมาก และจากข้อมูลสถิติซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า จำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทยในอีก ๒ ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ และในจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าว กว่าร้อยละ ๕๐ เป็นคนพิการ ดังนั้น จึงถือเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการขอให้กองทุนส่งเสริมฯ นำส่งเงินเข้าคลังเป็นรายได้ แผ่นดินจะต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริม อย่างแน่นอนในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ กองทุนมีรายได้จากสถานประกอบการ จำนวนเพียง ๑,๔๐๐ ล้านบาท ลดลงจากปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีรายได้ จากสถานประกอบการ จำนวนกว่า ๒,๐๙๐ ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุน ไม่มีรายได้อย่างอื่นรวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนเงินประจำปีจากรัฐบาล ดังนั้น รายได้หลักของกองทุนจึงได้มาจากสถานประกอบการที่ไม่จ้างงาน คนพิการ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาให้กองทุนส่งเสริมฯ นำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน ๒,๐๐๐ ล้านบาท นั้น อาศัยอำนาจตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการให้องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนนำทุนหรือผลกำไรเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ ๑ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยเห็นว่ากองทุนส่งเสริมฯ ในขณะนั้น มีสภาพคล่องสูงเกินความจำเป็น จึงขอให้นำส่งเงินดังกล่าวเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ประเด็นการกำหนดให้กองทุนส่งเสริมฯ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุด และการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๑ นั้น จะไม่มีผลย้อนหลังไปถึงเงินจำนวน ๒,๐๐๐ พันล้านบาทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ นี้ กองทุนส่งเสริมฯ ไม่มีเงินสะสมเหลือเกินความจำเป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็น รายได้แผ่นดิน ภายหลังที่มีหนังสือให้กองทุนส่งเสริมฯ นำเงินส่งคลังเป็น รายได้แผ่นดินจำนวน ๒,๐๐๐ ล้านบาท ได้หารือร่วมกับผู้แทนกองทุนส่งเสริมฯ ว่ายังมีความจำเป็นในการใช้เงินกองทุนเพิ่มเติม จนนำมาสู่จำนวนเงินที่ต้อง นำส่งคลัง จำนวน ๑,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครอง ประเด็นการเสนอของบประมาณของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป : หลักการนำเสนอกรอบงบประมาณของกองทุนส่งเสริมฯ พก.จะรวบรวมกรอบงบประมาณทั้งหมด เสนอคณะอนุกรรมการบริการกองทุนส่งเสริมฯ เพื่อมีมติเห็นชอบ ประมาณเดือนมิถุนายนแล้ว เพื่อส่งไปยังกระทรวงการคลังขออนุมัติกรอบงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังจะใช้ เวลาพิจารณาอนุมัติ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน แล้วจะแจ้งกลับมา ยังกองทุนส่งเสริมฯ ประมาณปลายเดือนตุลาคม เพื่อดำเนินการเบิกจ่าย งบประมาณตามกรอบต่อไป

กรณีการเสนอของบประมาณของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนครบ ๑๒ เดือน นั้น ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปจะต้องมีหนังสือเสนอของบประมาณต่อกองทุนส่งเสริมฯ เพื่อให้พิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณดังกล่าวไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ หรือก่อนวันที่ ๑ ตุลาคมของปีนั้น จากนั้นกองทุนส่งเสริมฯ หรือคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติ งบประมาณเบิกจ่ายให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปอีกครั้ง ภายหลังที่กระทรวงการคลังอนุมัติกรอบเงินงบประมาณแล้วเท่านั้น แม้ว่าจะมีการประชุมล่าช้าไปในเดือนหลังต้นปีงบประมาณ เช่น ประชุมในเดือนธันวาคม งบประมาณที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปจะได้รับ ก็จะครบ ทั้ง ๑๒ เดือน ตามกรอบงบประมาณโดยภาพรวมทั้งปีซึ่งได้รับการอนุมัติไว้แล้ว

ดังนั้น สาระสำคัญในการเสนอขอรับงบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนสำหรับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ให้ครบ ๑๒ เดือน ศูนย์บริการ คนพิการทั่วไปจะต้องเสนอของบประมาณมาก่อนสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้ พก. จะได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอกรอบงบประมาณของศูนย์บริการคนพิการอีกครั้ง เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ประเด็นการใช้เงินงบประมาณ”หัวละบาท” ของแต่ละจังหวัด ผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ทั้งนี้ กองทุนส่งเสริมฯ ควรมีมาตรการเชิงรุกที่แสดงให้เห็นว่าจังหวัดใดบ้างสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและจังหวัดใดที่ใช้งบประมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด

งบประมาณ “หัวละบาท” พก. จะขอให้จังหวัดจัดทำแผน งบประมาณ “หัวละบาท” ในแต่ละจังหวัดว่าต้องการใช้เพื่อดำเนินการเรื่องใดบ้างเพื่อรวบรวมและเสนอของบประมาณต่อกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ จังหวัดใดมีงบประมาณ “หัวละบาท” ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน ก็สามารถ เสนอกรอบมายังส่วนกลางเพื่อขอกรอบเพิ่ม ซึ่งเป็นอำนาจอธิบดี พก. อนุมัติกรอบงบประมาณให้จังหวัดที่ขอมาเพิ่มเติมได้ ซึ่งมีจังหวัดที่ขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมทุกปีและมีบางจังหวัดที่ใช้งบประมาณ “หัวละบาท” ไม่หมด เช่นกัน ดังนั้น ในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการเรียกดูแผนของแต่ละจังหวัดหากพบว่าจังหวัดใดไม่ได้นำงบประมาณ “หัวละบาท” ที่จัดสรรไปใช้จ่าย กองทุนส่งเสริมฯ ก็จะขอเรียกเงินงบประมาณกลับคืนมาและจัดสรรให้จังหวัดที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมต่อไป โดยการดำเนินงานที่ผ่านมากรอบงบประมาณ “หัวละบาท” เป็นไปตามเป้าหมายและบางจังหวัดเกินกว่าที่เป้าหมายกำหนด

ประเด็นบริการกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการเพื่อให้คนพิการนำไปประกอบอาชีพ มีบริการกู้ยืมเงินเพื่อวัตถุประสงค์อื่นหรือไม่ เช่น การศึกษา การรักษาโรค เป็นต้น นอกจากนี้ กรณีค้ำประกันเงินกู้ยืม นอกจากค้ำประกันโดยบุคคลแล้ว สามารถใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันได้ หรือไม่

– บริการกู้ยืมเงินในปัจจุบัน เป็นการให้คนพิการและผู้ดูแล กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพและขยายกิจการ ซึ่งการค้ำประกันกำหนดให้ ค้ำประกันโดยบุคคล ทั้งนี้ ล่าสุดได้แก้ไขระเบียบกรณีกู้ยืมเงินแบบกลุ่ม ให้องค์กรด้านคนพิการสามารถเป็นผู้ค้ำประกันได้ อย่างไรก็ตาม บริการกู้ยืมเงินในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เฉพาะการประกอบอาชีพเท่านั้น เพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ให้ประกอบอาชีพ มีรายได้ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการต่อกรณี ดังกล่าว ข้อสรุปได้ ดังนี้๑.สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยควรร่วมกับ พก. เข้าพบผู้บริหารของกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอผลการหารือ ร่วมกันและขอให้พิจารณาใน ๒ เรื่องสำคัญ คือ

๑) ควรพิจารณายกเลิกหนังสือขอให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน ๒,๐๐๐ ล้านบาท

๒) ควรออกประกาศให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุด และการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑ เช่นเดียวกับกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินทดแทน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม

๒.คณะกรรมาธิการการสังคมฯ ควรจัดทำข้อเสนอแนะต่อ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติเพื่อพิจารณาใน ๒ ประเด็น ดังนี้
๑) ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงการคลัง(๑) กระทรวงการคลังควรพิจารณายกเลิกหนังสือขอให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกิน ความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน ๒,๐๐๐ ล้านบาท

(๒) กระทรวงการคลังควรออกประกาศให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุด และการนำทุน หรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน พ.ศ.๒๕๖๑ เช่นเดียวกับกองทุน การออมแห่งชาติ กองทุนเงินทดแทน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม

๒.) ข้อเสนอแนะต่อกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ
(๑) กองทุนควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

(๒) กองทุนควรจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และนำเสนอต่อหน่วยงานที่รับเงินอุดหนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป
๓.พก. ควรจัดทำประกาศกำหนดแนวทาง ขั้นตอน และระยะเวลาการเสนอของบประมาณของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ให้มีความชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงศูนย์บริการคนพิการทั่วไปปฏิบัติได้ถูกต้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ศูนย์คนพิการทั่วไปได้รับเงินอุดหนุนครบ ๑๒ เดือน

๔.คณะอนุกรรมาธิการและ พก. ควรร่วมกันพิจารณาศึกษาปัญหา และอุปสรรคจากระเบียบของกองทุนส่งเสริมฯ เพื่อไปสู่การแก้ไขปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าวแล้ว และจะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ที่คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๖

ขอบคุณ : https://www.ryt9.com/s/nnd/2856661

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *