ปิดภารกิจ 14 วัน 15 จังหวัด 1500 กิโลเมตร ปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปี 2 ความฝันใหญ่ของผู้พิการยังไม่จบ – ชวนคนไทยร่วมสานต่อให้สำเร็จ

แม้ว่า โครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเหล่าคนตาบอดและคนตาดีกว่า 70 ชีวิต ที่ปั่นจักรยานเดินทาง 14 วัน 15 จังหวัด รวมระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร เพื่อระดมเงินทุนจำนวน 118 ล้านบาท สร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จะจบลงไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทว่าภารกิจของ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมนี้ ดูเหมือนจะยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากยอดเงินบริจาคจำนวนกว่า 6 ล้านบาทที่ได้รับมาในปีนี้ ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กลับมองว่านี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการปลุกกระแสสังคมให้เห็นถึงศักยภาพของผู้พิการ เปลี่ยนมุมมองทัศนคติที่มีต่อผู้พิการเสียใหม่

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การได้สัมผัสถึงน้ำใจงดงามของพี่น้องชาวไทยที่หยิบยื่นให้แก่ผู้พิการ ตรงตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อันนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน” ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทุกระดับมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า แม้ยอดบริจาคจะได้ไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลวแต่อย่างใด ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ ในแง่ของการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนแต่ละจังหวัดได้ตระหนักถึงสิทธิคนพิการ รวมทั้งรับรู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2

“โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปี 1 ได้ยอดบริจาคทั้งหมด 32 ล้านบาท ซึ่งส่วนมากได้มาจากผู้บริจาครายใหญ่ เช่น บริษัทคิงพาวเวอร์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น นอกนั้นมาจากเงินบริจาคของประชาชนในช่องทางต่างๆ เราต้องเข้าใจว่าผู้บริจาครายใหญ่ไม่สามารถบริจาคเงินให้ได้ตลอดทุกปี ดังนั้นปีนี้เราจึงพุ่งเป้าไปที่ผู้บริจาครายย่อย โดยจัดทำแผ่นพับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปี 2 ตั้งทีมปั่นพุ่มผ้าป่า หรือ ‘กลุ่มสะพานบุญ’ ปั่นจักรยานลงพื้นที่ไปตามชุมชน ตลาด ย่านการค้าต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด เพื่อรณรงค์สิทธิคนพิการ และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รับรู้ แม้ว่าจะได้เงินจำนวนน้อย เฉลี่ยคนละ 20 บาท 50 บาท หรือ 100 บาท แต่ถ้ามีคนบริจาคห้าร้อยคน พันคน หรือสองพันคน รวมแล้วก็จะถือว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว สำหรับผมนั้นจำนวนเงินอาจไม่สำคัญเท่ากับเรื่องหัวใจ

การได้รับเงินบริจาครายย่อย ได้ประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งในแง่การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิฯ สามารถเข้าถึงชุมชน เรียกว่าไปเยี่ยมเยียนถึงหน้าประตูบ้าน ในแง่ของการสร้างเจตคติที่สร้างสรรค์ต่อผู้พิการ ยามที่คณะนักปั่นปั่นไปตามท้องถนน ประกาศเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ผู้สูงอายุ เจ้าของร้านทอง พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนกวาดขยะ คนเข็นผัก คนพิการ แม้กระทั่งคนไร้บ้าน ก็ยังมาบริจาคเงินทำบุญกับเรา แม้บางคนยากจนและมีเงินไม่มาก ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่เต็มใจจะทำเพื่อส่วนรวม

นอกจากนี้เรายังได้เห็นน้ำใจของพี่น้องประชาชนคนไทย เห็นรอยยิ้ม ถ้อยคำชื่นชมให้กำลังใจ บางคนหยิบยื่นอาหาร เครื่องดื่ม ให้แก่นักปั่นและทีมงาน นั่นทำให้นักปั่นตาบอดและนักปั่นจิตอาสาทุกคนรู้สึกสนุกสนาน มีความสุข ไม่เครียดจนเกินไป แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการปั่นจักรยานตลอดช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีคนพิการทั่วประเทศที่จดทะเบียนจำนวน 2,022,481 คน (ร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ) คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 – 60 ปี) จำนวน 877,853 คน ซึ่งมีคนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ จำนวน 218,490 คน (ร้อยละ 24.89) จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำนวนผู้พิการที่ทำงานได้ แต่ยังไม่มีงานทำเป็นจำนวนมากกว่า 6 แสนคน นับเป็นโจทย์ท้าทายว่าจะสามารถช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพได้อย่างไร

ปัจจุบันพบว่าคนพิการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรมในชนบทเป็นหลัก ส่งผลให้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนพิการ ทำเกิดการรวมกลุ่ม มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน เลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ขึ้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และกำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอีกสองแห่งคือ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

“หลังจากนี้เราคงต้องวางแผนกันต่อไปว่า จะทำอย่างไรเพื่อระดมเงินทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนให้แล้วเสร็จตามที่ตั้งใจไว้ ผมเชื่อว่ามนุษย์เรานั้น ถ้าตั้งใจทำสิ่งที่ดีงามให้แก่คนอื่น ธรรมะจะจัดสรรให้เอง ขอให้เราทุ่มเทเต็มที่ ทำหน้าที่ของเราเต็มที่ ความสำเร็จเป็นเรื่องของการจัดสรร มันเป็นไปไม่ได้ถ้าเราทำเรื่องที่ดีงามให้คนอื่นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ คติประจำใจของผมคือ ความสำเร็จ ไม่ช้าก็เร็วมันทันเวลาเสมอ ผมท่องในใจมาตลอด ธรรมะจัดสรรนั้น บางทีมันก็อาจจะช้ากว่าใจเราคิด บางก็เร็วกว่าใจเราคิด แต่มันก็จะเหมาะสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสมอ ดังคำพูดที่ว่า ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นของพระเจ้า” ศาสตราจารย์วิริยะระบุ

สำหรับโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” มีคนตาบอดจำนวน 20 คน และอาสาสมัครตาดี 20 คน ร่วมกันปั่นจักรยาน จากกรุงเทพฯ ถึงศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ผ่าน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม ระหว่างวันที่ 9 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งสิ้น 14 วัน ระยะทางรวม 1,500 กิโลเมตร โดยแต่ละจังหวัดได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนไทยได้เห็นถึงศักยภาพของผู้พิการและให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลังในการสร้างสรรค์สังคมต่อไปในอนาคต

นายบัณฑิต โชคสงวน อายุ 63 ปี หัวหน้าผู้ฝึกสอนคณะนักปั่นตาบอดโครงการ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2 เล่าให้ฟังว่า ปีนี้คนตาบอดทั้ง 20 คนได้ผ่านการฝึกซ้อมปั่นจักรยานสองตอนมานานกว่า 3 เดือน คนตาบอดบางคนแทบจะไม่เคยปั่นจักรยานมาก่อน เบื้องต้นจึงให้เขาทำความรู้จักกับจักรยานที่จะปั่นก่อน ให้เขาสัมผัส ลูบคลำให้รู้ทุกส่วนของจักรยานว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จากนั้นสอนเรื่องระบบขับเคลื่อน การปั่น การเปลี่ยนเกียร์และเบรก แล้วก็พาไปปั่นในสนามจริงในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สาเหตุที่ไปฝึกซ้อมกันหลายสถานที่ เพราะอยากให้เขาได้ปั่นจักรยานภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทั้งถนนเรียบ เนินลาดชัน ทางขึ้นเขาสูง แดดร้อน ฝนตก เพื่อให้เขาได้เผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากต่างๆ จนพร้อมจะปั่นระยะทางไกล 1,500 กิโลเมตร

“การปั่นจักรยานสองตอน โดยมีนักปั่นจิตอาสาอยู่ข้างหน้าและนักปั่นตาบอดอยู่ข้างหลัง สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความเข้าใจกันและกัน ทั้งสองคนเหมือนคู่หู ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันตลอด 14 วัน กิน นอน ปั่นจักรยานด้วยกันตลอดเส้นทาง สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปั่นครั้งนี้คือ คนพิการนั้นมีศักยภาพมาก ทั้งที่เขาตาบอดมองไม่เห็น แต่สามารถใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนทั่วไป อาจจะมีบ้างที่จำเป็นต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่พวกเขาก็พยายามทำด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้

ผมรู้สึกภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ได้ช่วยให้คนพิการปฏิบัติภารกิจปั่นจักรยานกว่า 1,500 กิโลเมตรได้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็พบว่า ยังมีประชาชนอีกมากมายที่เต็มใจที่จะช่วยเหลือคนพิการ ถ้าคนไทยทุกคนมองว่าตัวเองนั้นก็มีความบกพร่องอยู่ในตัว คนเราเก่งเรื่องหนึ่ง แต่อาจจะไม่เก่งอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากคนพิการที่อาจมองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน พูดไม่ได้ แต่เขาก็ยังมีความสามารถที่เป็นเลิศในด้านอื่นๆ ผมเชื่อว่าจะทำให้สังคมเราเกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น” นายบัณฑิตกล่าว

นายบดินทร์ เจริญดี อายุ 49 ปี ชาวขอนแก่น อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ นักปั่นตาบอดโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” กล่าวว่า การปั่นจักรยานครั้งนี้ถือเป็นการปั่นจักรยานทางไกลครั้งแรกในชีวิต รู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก กลัวล้ม แต่ก็ได้นักปั่นจิตอาสาฝึกสอน ให้คำแนะนำ ในที่สุดก็สามารถปั่นได้อย่างเข้าขา ช่วงแรกรู้สึกว่ายาก เพราะไม่เคยปั่นจักรยานสองตอนมาก่อน ยิ่งตามองไม่เห็น ยิ่งรู้สึกกังวล กลัวล้ม กลัวเจ็บ แต่พอได้ฝึกซ้อมไปในหลายๆ จังหวัดร่างกายก็เริ่มแข็งแรงอยู่ตัว จนกระทั่งสามารถพิชิตระยะทาง 1,500 กิโลเมตรและปั่นเข้าสู่เส้นชัยได้สำเร็จ

“นอกจากการปั่นจักรยาน หน้าที่ของพวกเราคนพิการคือ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้เกี่ยวกับคนพิการ ทั้งด้านศักยภาพในการทำงาน และการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไปของคนพิการ เพื่อลดความเหลื่อมล่ำของสังคม อยากให้สังคมให้โอกาสคนพิการ ไม่ใช่ตัดสินเอาเองว่าเขาทำไม่ได้ สิ่งที่เขาอยากทำ ทำไมไม่ให้เขาลองทำด้วยตัวเองก่อน ถ้าเขาทำได้ ก็สนับสนุนเขา แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ ค่อยหยิบยื่นความช่วยเหลือ ปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ตรงนี้จะเป็นการช่วยเหลือเขาอย่างยั่งยืนกว่า” นายบดินทร์กล่าว

นางสาวธิดารัตน์ สวนมะลิ ชาวกรุงเทพฯ อายุ 62 ปี อาชีพนวดแผนโบราณ อีกหนึ่งนักปั่นผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” เป็นครั้งแรก กล่าวว่า การปั่นจักรยาน 14 วัน 15 จังหวัด รวมระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ทำให้รู้ว่ามนุษย์เรานั้นสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางด้านร่างกายได้ ถ้าใจสู้

“ปกติเป็นคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว เคยลงแข่งเดิน วิ่งมาราธอนด้วย แต่ไม่เคยปั่นจักรยานมาก่อน พอทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการชวนให้มาร่วมโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปี 2 ก็สมัครทันที คิดว่าได้ออกกำลังกายด้วย อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าไปช่วยเขาระดมเงินบริจาคเพื่อเอาไปสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ เพราะตัวเราเองก็พิการ ตอนนี้เราเอาตัวรอดได้แล้ว มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ ก็อยากทำอะไรเพื่อคนพิการคนอื่นๆ บ้าง เพื่อที่เขาจะได้มีโอกาส ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่เป็นภาระแก่สังคม

เราเป็นคนตาบอด มองไม่เห็น ใช้ตาไม่ได้ก็ต้องใช้หูเป็นหลัก เอาหูแทนตา พอมาปั่นจริง รู้สึกสนุกดี ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ท้องถนน ทุ่งนา ทะเล ป่าเขา สัมผัสกับบรรยากาศลมพัดเย็นสบาย แดดร้อน บางวันมีการไปเดินเรี่ยไรตามตลาด ชีวิตเราก็ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ทึ่งเหมือนกันนะว่าคนพิการตาบอดก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ ซึ่งคนตาดีเองคงแปลกใจว่าเราทำได้อย่างไร ดีใจค่ะที่สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางด้านร่างกายได้

อยากให้สังคมเปิดโอกาสให้พวกเรา จริงๆแล้วคนพิการนั้นสามารถทำอะไรอีกเยอะแยะ เพียงแค่สังคมเปิดโอกาสให้เราได้ลงมือทำ ให้เราได้เรียนรู้สิ่งนั้นๆ แล้วเราก็จะอยู่ได้เหมือนคนปกติ คนพิการก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นปมด้อย ไม่เป็นภาระของใคร ถ้าเขาสามารถดูแลตัวเอง เลี้ยงตัวเอง ทำอะไรด้วยตัวเอง เขาก็จะไม่รู้สึกว่าเรามีปมด้อย” นางสาวธิดารัตน์กล่าว

สำหรับโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร แม้ว่าจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ภารกิจระดมทุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อันเปรียบเสมือนความฝันสูงสุดของเหล่าผู้พิการในประเทศไทย ยังคงต้องการการสนับสนุนจากประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถบริจาคเงินได้ตั้งแต่วันที่จนถึง 31 ธันวาคม 2562 เพื่อสร้างอาชีพให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืนและภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี เปลี่ยน “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามสโลแกน “No One Left Behind” เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติในสังคมได้อย่างมีความสุข.

ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.ryt9.com/s/prg/2964851

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *