“รักตนเอง รักครอบครัว รักคนอื่น” กุญแจสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน!

 

ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจาก “อุบัติเหตุทางถนน” ติดอันดับต้น ๆ ของโลก อุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และก่อผลกทระทบทางสังคมที่มองไม่เห็นกับ “เหยื่อ” หากว่าเหยื่อจากอุบัติทางถนนไม่เสียชีวิตแต่ต้องกลายเป็น “คนพิการ” หรือ “ทุพพลภาพ” ต้องนั่งรถเข็นจากการสูญเสียอวัยวะ หรือ นอนติดเตียงไปตลอดชีวิต จากเดิมเคยเป็นเสาหลักของครอบครัว บางคนเป็นนิสิตนักศึกษาที่กำลังมีอนาคตไกลกลายเป็นอัมพาตครึ่งท่อน เด็กที่เคยสดใสร่าเริงอยู่ในครอบครัวอบอุ่นต้องกำพร้าพ่อและแม่หัวใจของเด็กเหล่านั้นจะบอบช้ำเพียงใด จาก “เมาแล้วขับ” หรือ เพียงเพราะความชะล่าใจ หรือ ประมาทขับรถเร็วเกิดกฎหมายกำหนด

จากคนปกติ กลายเป็น คนพิกลพิการสร้างภาระให้ญาติพี่น้อง หรือ คนรอบข้างต้องคอยเลี้ยงดูป้อนข้าวป้อนน้ำ หากเป็นครอบครัวที่มีฐานะย่อมโชคดีไป แต่หากเป็นครอบครัวยากจนยิ่งลำบากหนักอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมารักษาตัว บาดแผลทางกายสามารถเยียวยารักษาได้ แต่หากเป็น “บาดแผลทางใจ” อาจนำไปสู่ภาวะความเครียด ท้อแท้ สิ้นหวัง จนคิดสั้นฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา กลายเป็นโศกนาฏกรรมช้ำเติม

นี่คือปัญหาทางสังคมที่ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองเห็นจึงนำนโยบาย 3 ความรักมาแก้ปัญหา “อุบัติเหตุทางถนน” คือ รักตนเอง รักครอบครัว และรักคนอื่น

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอย่างดี จึงมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน” โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการ ที่มุ่งมั่นตั้งใจจะแก้ปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในระดับ “พื้นที่”

 

 

มุ่งเป้าปี 63 มุ่งลดอุบัติเหตุระดับพื้นที่ให้เหลือ 20 ต่อแสนคน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศที่เผชิญอยู่ โดยมีแนวโน้มของผู้เสียชีวิตและความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้น ซึ่งองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและยกระดับการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระที่สำคัญของทุกประเทศในโลก ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้มีกรอบ “ปฏิญญามอสโก” เป็นเป้าหมายสำคัญในการกำหนดให้ พ. ศ. 2554 – 2563 เป็น “ทศวรรษแห่งการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางถนน” สอดคล้องกับที่ไทยกำหนดให้ปี 2554 – 2563 เป็น “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” และยังได้กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และนำกรอบปฏิญญามอสโกที่ครอบคลุมการบริหารจัดการความปลอดภัยทั้งด้านถนน ยานพาหนะ ผู้ใช้รถใช้ถนน และการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ประเทศไทยยังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคง นโยบายรัฐบาลด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2561 – 2564 สำหรับนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน มีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโดยมีกลไกการทำงานร่วมกับ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาพรวมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมที่ดีในการขับขี่ เมาไม่ขับ เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุ และการทำงานเชิงรุกบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งด้านยานพาหนะ ตรวจตรา ตั้งด่านชุมชนเพื่อป้องกันคนเมาแล้วขับ การรณรงค์สร้างจิตสำนึก เพื่อมุ่งลดอุบัติเหตุทางถนนให้ครอบคลุมทุกด้าน และตั้งเป้าว่าจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 20 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2563

นายกฯ ลั่นต้องเข้มข้นตลอดปีไม่ตื่นตูมแค่ช่วงเทศกาล

รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญแต่ความปลอดภัยต้องเกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเอา 3 หลักสำคัญที่จะเป็น “กุญแจ” ช่วยสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนตั้งแต่ระดับบุคคล ที่จะนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีประสิทธิภาพให้ทุกคนได้ยึดถือทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทุกคนที่ต้องใช้รถใช้ถนนนั้น คือ “การรักตนเอง” “รักครอบครัว” และ “รักคนอื่น” และยังให้ความสำคัญการขับเคลื่อนเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้น้อยกว่า 21 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี พ.ศ.2563 ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยอย่างยั่งยืนในทุกเส้นทางตลอดทั้งปีไม่ใช่ตื่นตัวเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น

“สิ่งที่อยาก กำชับ คือ ขอให้พี่น้องประชาชนมีความรัก 3 อย่างให้เท่าเทียมกัน คือ รักตนเอง รักครอบครัว และรักคนอื่น เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย ทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างชาติให้มั่นคง และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ในที่สุดจะทำให้สังคมมีความสุข” พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานได้ใช้กลไกของความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับนโยบายและในระดับจังหวัด 4 ด้าน ได้แก่

1) ให้ถือว่าความปลอดภัยทางถนน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทุกชีวิตของประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง และต้องแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในภาพรวมของประเทศให้ดีขึ้น

2) ให้ทุกจังหวัดกำกับ ดูแลศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอให้เกิดความต่อเนื่องประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ

3) ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนที่สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน และ

4) ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่การร่วมวางแผน และลงมือปฏิบัติ เพื่อเป้าหมายลดอุบัติเหตุของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืน

 

ในปี 2563 ความปลอดภัยทางถนนถือเป็นนโยบายความสำคัญของรัฐบาล ที่ลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียของประชาชน แม้ล่าสุด สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 มีผู้เสียชีวิตลดลงจากปีก่อน แต่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก จะได้ถอดบทเรียนความสำเร็จและกำหนดเป็นมาตรการเพิ่มเติมและเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นมาตรการของรัฐ คือ สำนึกของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ต้องไม่ใช้ชีวิตด้วยความประมาณ เลินเล่อ แม้ระยะทางเพียงไม่กี่ร้อยเมตรควรสวมใส่ “หมวกกันน็อต” หรือ ควรมีสติยับยั้งช่างใจ “เมาไม่ขับ” เคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และหยุดพฤติกรรมเสี่ยง “ตีนผี” ขับรถด้วยความเร็วสูง เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ คือ ตัวการก่ออุบัติเหตุ ไม่ใช่ชีวิตตัวเองเท่านั้นที่ต้องพบจุดจบ แต่จะลากพาชีวิตและครอบครัวผู้อื่น ๆ ไปด้วย

ดังนั้นก่อนสตาร์ทรถออกจากบ้านทุกครั้ง ต้องนึกถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ฝากไว้ เตือนตัวเองอยู่เสมอ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที โปรดท่อง “รักตนเอง รักครอบครัว รักคนอื่น” ให้ขึ้นใจทุกครั้งเมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัย รับรองคนนั่งข้าง ๆ และ เพื่อนร่วมทางปลอดภัยแน่นอน!

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://mgronline.com/qol/detail/9630000010883

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *