คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
โดยปกติผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถเดินได้ จะใช้รถวีลแชร์สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ ในขณะที่ผู้พิการที่มีฐานะทางการเงินไม่มากนักจะใช้รถคันโยกสำหรับใช้ในการเดินทางไปไหนมาไหนแทน
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งรถวีลแชร์และรถคันโยก ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจำเป็นจะต้องใช้แรงผลักล้อในกรณีของรถวีลแชร์ และใช้แรงในการโยกสำหรับรถแบบคันโยก ส่งผลให้ผู้พิการไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนไกลๆ ได้ ซึ่งหากมีเครื่องจักรกลที่สามารถช่วยลดแรงของผู้พิการก็จะส่งผลดี สามารถทำให้สามารถเดินทางไปได้ไกลๆ โดยไม่เป็นภาระให้กับคนในครอบครัวหรือผู้ดูแล
จากปัญหาดังกล่าว นายชานนท์ ดลมายิ และนายพงษ์พิพัฒน์ รอดสง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ โดยมี ดร.ภาณุมาศ สุยบางดำ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ เป็นที่ปรึกษา จึงได้ออกแบบและสร้างรถสำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวโดยใช้เครื่องยนต์เล็กเบนซินเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้ เพื่อต้องการช่วยลดแรงของผู้พิการในการเข็นล้อรถวีลแชร์ และลดแรงในการโยกรถแบบคันโยก และสามารถทำให้ผู้พิการเดินทางไปได้ระยะไกลๆ โดยไม่เหนื่อยแรงเพียงแต่ควบคุมรถเท่านั้น ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งแรงงานและลดระยะเวลาในการเดินทางของผู้พิการอีกด้วย
ในการออกแบบและสร้างรถสำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจะใช้เครื่องยนต์เล็กเบนซิน ขนาด 3 แรงม้า เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน สามารถบรรจุน้ำมันได้เต็มถังเท่ากับ 1 ลิตร โดยใช้น้ำมันเบนซินผสมกับน้ำมัน 2T ในอัตราส่วน 20 : 1 คือ น้ำมันเบนซิน 20 ส่วน ต่อ น้ำมัน 2T 1 ส่วน และสามารถใช้ขับได้ประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ใช้ในการขับเคลื่อน
ในการสร้างรถสำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวโดยใช้เครื่องยนต์เล็กเบนซินเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน มีต้นทุนในการผลิต 3,500 บาท โดยไม่คิดค่าแรงงานในการสร้าง ทั้งนี้ ต้นทุนในการสร้างยังขึ้นอยู่กับขนาดแรงม้าของเครื่องยนต์อีกด้วย
กล่าวคือหากต้องการเครื่องยนต์ที่มีแรงม้าในการขับเคลื่อนมากราคาก็จะสูงตามไปด้วย นอกจากนั้น ยี่ห้อของเครื่องตัดหญ้าก็มีผลต่อต้นทุนการผลิตอีกด้วย ดังนั้น ในการออกแบบจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับการใช้งานเพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงจนเกินไป
รถสำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวโดยใช้เครื่องยนต์เล็กเบนซินที่ออกแบบและสร้างคันนี้ ถือเป็นเครื่องต้นแบบ ซึ่งผู้ออกแบบจะพัฒนาให้มีสมรรถนะที่ดีขึ้น โดยจะออกแบบให้สามารถใช้ระบบสตาร์ทมือเข้ามาทดแทนการสตาร์ทแบบดึง ซึ่งจะทำให้ผู้พิการสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะพัฒนาต่อไปในอนาคต
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รถสำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวโดยใช้ต้นกำลังขับจากเครื่องยนต์เล็กเบนซิน ได้ที่ ดร.ภาณุมาศ สุยบางดำ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัย รัตภูมิ โทรศัพท์ 086-9612216
วศินี จิตภูษา นักประชาสัมพันธ์ฯ มทร.ศรีวิชัย
ขอขอบคุณ… https://siamrath.co.th/n/133843
และ http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0072&postid=0020665¤tpage=1