จากเหรียญทอง Global IT Challenge สู่การศึกษาไทยที่เด็กพิการยังไปไม่ถึง

 

จากเหรียญทอง Global IT Challenge สู่การศึกษาไทยที่เด็กพิการยังไปไม่ถึง: จิดาภา นิติวีระกุล

 

การแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากลประจำปี 2562 ( Global IT Challenge for Youth with Disabilities 2019 ) เยาวชนไทยคว้าเหรียญทองประเภททีม 1 เหรียญ และ เหรียญเงินประเภทเดี่ยว 2 เหรียญ การแข่งขันทางเทคโนโลยีที่คนมองว่าไกลตัวอยู่แล้ว อาจยิ่งไกลเข้าไปอีกเมื่อคนที่ชนะคือเยาวชนหญิงที่นั่งวีลแชร์

 

ThisAble.me ชวนคุณไปคุยกับมะปราง-จิดาภา นิติวีระกุล กับเส้นทางจากประเทศไทยสู่การไปแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่เกาหลีใต้ อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เด็กผู้หญิงหันมาสนใจเรื่องหุ่นยนต์ และคุยถึงชีวิตความเป็นอยู่ จากประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้

 

 

มะปรางคือใคร

 

มะปราง: หนูเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เรียกว่า SMA- Spinal Muscular Atrophy อาการเริ่มออกตอน 1 ขวบ แม้หนูจะยืนได้แต่ไม่ยอมเดิน แม่ก็เลยรู้สึกผิดปกติจนพาไปตรวจ ตอน 10 ขวบ กระดูกสันหลังเริ่มงอลงเรื่อยๆ จนเป็นตัวซี ทำให้ตอนนี้ต้องนั่งวีลแชร์ แม้หนูพยายามออกกำลังกาย แต่ก็ช่วยได้เพียงไม่ให้อ่อนแรงลงไปมากกว่านี้

ตอนอนุบาลหนูเรียนกับเด็กปกติ ยังพอเกาะเดินได้ แต่พอเข้า ป.1 ไปสมัครโรงเรียนแถวบ้านก็ไม่มีโรงเรียนไหนรับ ก็เลยไปเรียนอยู่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น เพราะหาโรงเรียนไม่ได้

ทำไมต้องไปไกลถึงขอนแก่น

 

สมัครที่จังหวัดนนทบุรีแล้ว แต่เราไปช้าเขาไม่รับ ก็เลยไปสมัครที่ขอนแก่น โชคดียายหนูเป็นคนขอนแก่นเลยยังมีคนดูแลอยู่ที่นั่น อยู่ขอนแก่น 1 ปี พอ ป.2 ก็มาสมัครที่นนทบุรี อยู่ที่นี่ยาวเลยจนจบ ม.3 แล้วก็ไปต่อ ปวช.ที่โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา

แม่: แม้คนพิการมีนโยบายเรียนฟรี แต่ฟรีแล้วมีโรงเรียนไหนรับ นี่คือปัญหาของการศึกษาไทย หลายคนเขาไม่ให้ลูกตัวเองเรียนหนังสือเลย ไม่ใช่เพราะความยากจน แต่เพราะไม่มีโรงเรียนจะเรียน สำหรับมะปราง แม่มองว่าพวกเรามีโอกาสเยอะกว่า พยายามดิ้นรนหาตั้งแต่เริ่มเข้าอนุบาล หาแถวบ้านทุกโรงเรียนก็ไม่ได้ ไม่มีใครรับ ให้เหตุผลว่า ถ้าลูกคุณเข้ามาแล้วโดนแกล้งทางโรงเรียนจะมีปัญหา หรือบอกว่าไม่มีลิฟต์ ทั้งที่ชั้นอนุบาลเรียนอยู่ข้างล่าง เขายังไม่รับเลย จนต้องเข้าโรงเรียนเอกชน

ทำไมเลือกเรียน ปวช.สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

 

มะปราง: ตอนนั้นหนูยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับพวกโปรแกรมเมอร์ ตอนเด็กก็ไม่ได้ชอบคอมพิวเตอร์ เรียนได้แต่ไม่ได้ชอบ แต่ชอบภาษาอังกฤษ พอหลักสูตรคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนเน้นภาษาอังกฤษ หนูก็เลยเลือกเรียนคอมพิวเตอร์ธุรกิจเพราะมองว่าเดี๋ยวได้ภาษาอังกฤษไปด้วย

จบ ปวช.แล้วอยากเรียนคณะอะไร

 

จะเรียนเกี่ยวกับด้านไอทีนี่แหละ ตั้งใจว่าจะไปด้านนี้เลย อยากเรียนเขียนโค้ดโปรแกรมและเป็นโปรแกรมเมอร์

พอหนูเรียนแล้วอาจารย์เห็นว่าไปด้านนี้ได้ เขาเลยสนับสนุนจนหนูมีโอกาสไปอบรมด้านไอที พอไปเห็นมากๆ ก็ชอบ สนุกดี ที่ร่วมแข่งได้ก็เพราะเห็นว่ารุ่นพี่กล้ามเนื้ออ่อนแรงเขาทำได้

การแข่งขันชื่อว่า การแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีระดับสากล เป็นการแข่งขันทักษะเกี่ยวกับด้านไอที มีทั้งการตอบคำถาม ตัดต่อวิดิโอและบังคับหุ่นยนต์  หนูทำตั้งแต่เขียนโค้ต จนถึงการบังคับหุ่นยนต์ ประเทศไทยปีนี้ส่งไปทั้งหมดสองทีม

ในทีมเรามีใครบ้าง

 

มี 4 คน เพื่อนหนูพิการทางการได้ยินเป็นผู้หญิงชื่อมิ้ว คนตาบอดชื่อเดียร์ อีกคนพิการทางสมอง ชื่อไตเติ้ล นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ได้ทำงานกับเพื่อนหลายๆ ความพิการ รู้สึกตื่นเต้นตอนที่เจอเพื่อนแรกๆ ทำตัวไม่ถูก แต่มิ้วพอได้ยินเสียงบ้างถ้าใส่เครื่องช่วยฟัง แม้ตอนซ้อมมีล่ามภาษามือ แต่ตอนแข่งจริงเราจะต้องคุยกันเองไม่มีล่ามแปล เราจึงเขียนใส่กระดาษคุยกัน แต่ว่าคนหูหนวก เขามีสกิลในการอ่านปากที่ดีมาก เราพูดเร็วแค่ไหนเขาก็อ่านปากได้ แถมมิ้วยังสอนภาษามือเราด้วย

ความพิการที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันยากไหม

 

ยากเวลาต้องสื่อสารกัน แต่อยู่ด้วยกันไปนานๆ ก็ไม่ยากอะไรมาก พอคุยกันเข้าใจก็สนุกไปอีกแบบ บางทีก็มีปวดหัวบ้างกับเพื่อนที่พิการทางสมอง หลายครั้งต้องพยายามอธิบายว่าทำอะไรได้ อะไรไม่ได้ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป เราเรียนรู้ว่าเวลาช่วยเพื่อนตาบอดเราต้องช่วยยังไง อย่างเวลากินข้าวเราต้องบอกเป็นเข็มนาฬิกา เช่น แก้วน้ำอยู่ทางขวามือก็บอกว่าอยู่ทาง 3 นาฬิกา ซ้ายมือก็ 9 นาฬิกา

คิดว่าอะไรเป็นจุดแข็งของทีมเรา

 

ข้อได้เปรียบคือความสามัคคี ตลอดค่ายเราพยายามช่วยเหลือกันจนถึงการแข่งขัน ที่เขาไม่ให้ใครเข้าไปเลย ครูยังต้องอยู่นอกห้อง แข่งขันเป็นภาษาอังกฤษ ต้องพยายามฟังและคุยกับเพื่อน ฟังความเห็นเพื่อนและทำให้ได้ตามโจทย์ เราจะถามกันตลอด และต้องสังเกตเพื่อนด้วยนะ เวลากินข้าวมิ้วจะคอยสังเกตเพื่อนตาบอดแล้วสะกิดหนู ให้หนไปดูเพื่อนตาบอดว่าข้าวหมด หนูก็จะเป็นคนถามว่า เอาข้าวอีกไหม พอเพื่อนตาบอดเอาข้าวอีก หนูเองที่เอื้อมตักไม่ได้ก็จะพยักหน้าบอกมิ้วให้ตักให้

ไปเกาหลีครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง

 

สนุก ตื่นเต้นเพราะไปต่างประเทศครั้งแรก หนูไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ด้วย เกาหลีสวยและอากาศหนาวมาก แตกต่างจากไทยที่เวลาไปไหนก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ มีเบรลล์บล็อกสำหรับคนตาบอด มีทางม้าลายให้คนพิการข้ามและมีตำรวจคอยดูแลความเรียบร้อย

ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ในอีกหลายเรื่องประเทศไทยก็สู้ประเทศอื่นไม่ได้ แค่รถไฟฟ้าคนพิการต้องไปประท้วงเรียกร้องสิทธิอยู่หลายปี เรียกร้องแล้วเรียกร้องอีก คนพิการต้องฝ่าฟันกว่าจะได้ใช้งานจริง หนูก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเพราะอะไรที่อื่นเขาก็ไปกันไกลแล้ว

วางแผนอนาคตไว้ยังไง

 

เป้าหมายหนูคืออยากจบปริญญาตรีแล้วมีงานทำ ถ้าถามว่าอยากแต่งงานไหม ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงอยากจะแต่งงาน แต่ไม่อยากมีลูก เรารู้ว่าเราเป็นยังไง ถ้าหนูไม่พิการก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยากมีหรือไม่อยากมี แต่พอพิการเราก็รู้ตัวว่าไม่อยากมี ไม่ได้มีความคิดเรื่องนี้ อยากมีครอบครัวแต่ไม่ได้อยากมีลูก

คิดว่าเสียโอกาสไหมเมื่อไม่ได้อยู่รวมกับเพื่อนไม่พิการ

 

คิดว่าทำให้เกิดการแบ่งแยกกัน คนพิการก็เหมือนคนทั่วไปแค่เรามีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย มีความคิดและความรู้สึกเหมือนเด็กทั่วไป แล้วทำไมเราถึงไม่มีโอกาสได้เรียนเหมือนเด็กคนอื่น ไม่ได้เรียนในสายที่อยากเรียน ทุกคนต้องมีสิทธิเท่ากันแม้มีข้อจำกัดด้านร่างกาย แต่เราก็เป็นคนหนึ่งในสังคม ต้องมีสิทธิที่จะเลือกว่า ฉันต้องการจะทำอันนี้ จะทำงานด้านนี้ อยากเรียนด้านนี้ แต่กลับทำไม่ได้เพราะโรงเรียนไม่รับ สังคมไม่โอเค พื้นไม่มีทางลาด หรือสิ่งอำนวยความสะดวก สังคมยังไม่ทันถามด้วยซ้ำว่าทำได้หรือไม่ได้ หนูคิดว่า ข้อจำกัดไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลแต่อยู่ที่สังคม เราไม่ได้เป็นปัญหาแต่สังคมเป็นปัญหากับเรา สมมติได้เรียนในโรงเรียนที่มีทางลาด ปัญหาก็ไม่เกิด ฉะนั้นก็เห็นได้เลยว่า ปัญหาคือสังคมไม่ได้มีสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อเรา แต่เอื้ออำนวยต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ถ้าหนูเจอคนพูดว่า ทำไมไปเรียนอะไรยากๆ ไปเรียนเย็บปักถักร้อย ใช้ชีวิตง่ายๆ สิ หนูจะบอกคำเดียวเลยว่า ให้คุณมาลองเป็นแบบหนู เขาจะเข้าใจในคำพูดเอง

ใครที่ไม่ได้อยู่จุดเดียวกับเราต้องให้เขาลองมาเป็นเรา คุณก็เป็นคนเราก็เป็นคน แล้วเราแตกต่างกันตรงไหน แค่เพราะคุณเดินได้แต่เราเดินไม่ได้อย่างนั้นเหรอ เราแต่ละคนมีความคิด ความรู้สึกเหมือนกัน มีสิทธิเท่าเทียมกัน

ตอนนี้คนพิการพยายามออกมาเรียกร้องสิทธิมากขึ้น ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยก็ยังไปช้ากว่าเขาอยู่ดี สังคมที่อื่นเปิดกว้าง คนพิการใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เรามีสิทธิทำอะไรได้อย่างอิสระอย่างที่อยากจะทำ คนพิการไม่ได้อยากจะถูกแบ่งแยกว่า คนพิการควรอยู่กับคนพิการ คนปกติก็อยู่กับคนปกติ แต่เราอยากได้รับการยอมรับ อยากใช้ชีวิตได้ หนูอาจจะต้องให้แม่ช่วยอาบน้ำ ช่วยอุ้มขึ้นรถ แต่หนูเองก็มีความรู้สึก มีความคิดส่วนตัวที่อยากจะเลือกทำอะไร แต่งตัวแบบไหน

คิดว่าการศึกษาสำคัญต่อคนพิการยังไง เพราะอย่างที่เห็นสังคมอาจมองว่าคนพิการไม่จำเป็นต้องเรียน

 

การศึกษาสำคัญกับทุกคน คนพิการเช่นกันเขาเกิดมาก็ควรได้รับการศึกษาเหมือนคนปกติ อยากเรียนอะไรควรได้เรียน ไม่ใช่ว่าต้องเลือกเรียนสาขานี้เพราะว่าไม่มีสิทธิเลือกเรียนสาขาอื่น  ถ้าหนูไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้มานั่งเรียนกับเพื่อน หนูก็คงไปไม่ได้ถึงขนาดนั้น คนพิการทุกคนมีความรู้ ความสามารถเพียงแต่เขาขาดโอกาส รวมทั้งมีคนพิการอีกหลายคนที่เขายังไม่รู้ว่า มีโรงเรียนสำหรับคนพิการ เขาก็อยู่แต่บ้าน นั่งๆ นอนๆ ฉะนั้นการศึกษาจึงสำคัญเพราะช่วยพัฒนาบุคคล ช่วยให้สังคมเราเจริญขึ้นได้

คนพิการที่อยากออกมาใช้ชีวิตต้องเริ่มอย่างไร

 

อยากให้กำลังใจว่า ถึงสังคมเราจะเป็นแบบนี้ เราก็ต้องออกมาใช้ชีวิต ถ้าเราไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต เก็บตัวอยู่กับบ้านสังคมก็ไม่รู้ คนทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพ ไม่ต้องกลัว และต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้เหมือนคนทั่วไป เรามีสมอง มีความคิด อย่าเพิ่งท้อหรืออย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้หากยังไม่ได้ลอง ออกมาใช้ชีวิตให้สังคมยอมรับเรามากขึ้น เห็นเรามากขึ้น

ขอขอบคุณบทความดีๆและภาพประกอบจาก  https://thisable.me/content/2020/03/601

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *