เกาะตามกระแสแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 กรณีมีหนังสือของปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้เตรียมความพร้อม เรื่องอาหาร และทำความเข้าใจกับประชาชน แม้รัฐบาลจะยืนยันว่ายังไม่ดำเนินการยกระดับมาตรการเข้มขึ้น หลังผู้คนตื่นตระหนกที่แปลความกันว่า จะมีประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง
รัฐบาลปฏิเสธไม่มีเคอร์ฟิวทั้งวัน แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่เกิดขึ้น และไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในหัวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหนังสือของปลัดกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่าแผนดังกล่าวมีอยู่จริง ไม่เช่นนั้นคงไม่ร่อนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆให้เตรียมการไว้
ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องน่าตำหนิหรือกังวลแต่อย่างใด เพราะการส่งสัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทำงานอย่างมีแบบแผนและมีลำดับ ไม่ได้ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงแก้ไข
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ การจะกระโดดเคอร์ฟิวจาก 6 ชั่วโมง ไปเป็น 24 ชั่วโมงไม่น่าใช่แนวทางของรัฐบาล เพราะหากสังเกตการดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้น รัฐบาลค่อนข้างให้เวลาประชาชนปรับตัวก่อนทุกครั้ง
ดังนั้น หากจะมีการขยายเวลาอีกครั้ง อย่างน้อยต้องถึงระดับ 12 ชั่วโมง ก่อนถึง 24 ชั่วโมง เพื่อให้คนมีเวลาจับจ่ายใช้สอยของใช้จำเป็น
อีกจุดที่โอกาสจะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง เกิดขึ้นได้ยากและหากไม่ถึงที่สุดจริง รัฐบาลจะไม่ทำ นั่นเพราะมีความเป็นห่วงบุคคล 4 ประเภท ที่จะได้รับผลกระทบหนักหน่วง นั่นคือ
1. คนแก่อยู่ตามลำพัง
2.คนป่วยติดเตียง
3.คนพิการ และ
4.คนหาเช้ากินค่ำ
จึงเชื่อว่า โอกาสจะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ในเร็วๆนี้ จึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ขณะเดียวกันสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยหลังการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง เริ่มแสดงผลสัมฤทธิ์ในทางที่ดี
โดยในวันที่ 7 เมษายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงในรอบหลายวัน เหลือเพียง 38 คน ก่อนจะกลับมากระโดดแตะหลักร้อยอีกครั้ง ในวันที่ 8 เมษายน แต่วันที่ 9 ลดมาเป็นตัวเลขสองหลักอยู่ 54 คน
แต่ท่าทีของรัฐบาลไม่ได้กังวลกับการสวิงขึ้นมาอีกครั้ง เพราะ 42 จาก 111 คน หรือเกือบครึ่ง เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตรวจเจอในช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการสูงสุดในการคัดกรองคนกลับจากต่างประเทศแล้ว
โดยบุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศทุกคนจะต้องได้รับการคัดกรอง และพักอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้เพื่อกักตัว 14 วัน ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านี้จะไม่เล็ดลอดได้อีกเหมือนแต่ก่อน
ดังนั้น หากตัวเลขในแต่ละวันพุ่งสูงขึ้นอีก จะต้องจำแนกระหว่างคนเดินทางกลับจากต่างประเทศ กับการติดเชื้อในประเทศ อย่างกรณีติดเชื้อเพิ่ม 111 คน ในวันที่ 8 เมษายนนั้น หากแยกเอาบุคคลที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซีย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 42 คนออกไป ในประเทศจะพบผู้ติดเชื้อเพียง 69 คนเท่านั้น โดยไม่ถึงหลักร้อย
สิ่งที่ต้องจับตาทุกๆวันคือ การติดเชื้อกันเองภายในประเทศ ที่ตอนนี้ตัวเลขลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากสามารถลดลงได้เรื่อยๆโดยไม่นับคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกทาง
ส่วนกรณีความไม่มั่นใจว่า ประเทศไทยตรวจน้อยจึงพบน้อยนั้น โดยยกเอาโมเดลของประเทศเกาหลีใต้ที่ตรวจได้วันละเป็นแสนคนมาค่อนแคะระบบในประเทศนั้น มีตัวเลขที่น่าสนใจจากอดีตมือทำงานด้านสาธารณสุขในยุครัฐบาลไทยรักไทย คือ “หมอเลี้ยบ”นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี
โดย “หมอเลี้ยบ”ที่ “หมอหนู”อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ดึงมาช่วยงานเป็นที่ปรึกษานั้น วิเคราะห์ให้เห็นภาพว่าประเทศไทยทำได้ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ทีเดียว โดยระบุว่าประเทศไทยตรวจโควิด มาแล้ว 71,860 ตัวอย่าง ไม่ใช่เพียง 25,071 ตัวอย่าง ตามที่มีการระบุว่าใน worldometers.info
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปรียบเทียบให้เห็นว่า อิตาลี มีการตรวจ 11,429 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งอิตาลีมีประชากร 60.5 ล้านคน ตรวจเจอ 18.65% เกาหลีใต้มีการตรวจ 9,999 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน ตรวจเจอ 2.19% เมื่อเทียบเคียงกับไทย เราตรวจ 1,079 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ตรวจเจอ 2.88% เรากับเกาหลีใต้ไม่ต่างกัน
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะไม่ใช้วิธีหว่านแห แต่จะใช้วิธีขีดวงกำจัด เจาะพื้นที่เสี่ยง โดยผลลัพธ์ที่แม่นยำ หรือที่เรียกว่าสแกนหาโดยเร็ว ซึ่งมีการใช้แล้วที่ จ.ภูเก็ต จนทำให้พบผู้ป่วยจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ในสุดสัปดาห์นี้จะครบ 7 วัน หลังการประกาศเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง ถ้าตัวเลขการติดเชื้อกันเองในประเทศไม่กลับมากระโดดแบบน่าตกใจ ประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะยังตรึงกรอบเวลานี้ไปก่อน ยกเว้นมันก้าวกระโดดกลับมาหลักร้อยต่อเนื่องหลายวัน และมาจากการติดเชื้อในประเทศ ที่โอกาสจะขยายเวลาจาก 6 ชั่วโมง ไป 8 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง มีอยู่สูงเหมือนกัน เพราะขณะนี้รัฐบาลจะประเมินทุกๆ 7 วัน หลังมีการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจนถึงการประกาศเคอร์ฟิว
ในขณะนี้เราใกล้เคียงกับคำว่า “เอาอยู่” หากแต่ยังแค่ใกล้เคียง ยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้นตราบใดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเกิดขึ้นรายวัน
แน่นอนว่า ณ ตรงนี้รัฐบาลพอใจระดับหนึ่ง ที่มาตรการเคอร์ฟิว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงเหลือหลักหน่วย หากแต่สิ่งที่ต้องการคือ พบการติดเชื้อน้อยที่สุด ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะปรับเวลาขึ้นมาอีกนิด เพื่อลองดูว่าจะช่วยได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ สุดสัปดาห์นี้ต้องจับตาให้ดี
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://mgronline.com/daily/detail/9630000037510