Curious People ชวนทุกคนไปรู้จักเรื่องราวและการทำงานของทนายความล่ามภาษามือ

ชวนจินตนาการว่า จะมีสักกี่คนที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นล่ามภาษามือและนักกฎหมายในเวลาเดียวกัน เพื่อว่าความและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่คนหูหนวก เดาว่าคุณคงนึกไม่ออกหรืออาจไม่เคยมีความคิดเรื่องนี้อยู่เลย
.
ถ้ามีใครสักคนอยากจะเป็นและลงมือทำสิ่งนี้ มันก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย
.
ในวัยมัธยม สุจิตรา พิณประภัศร์ การเป็นนักกฎหมายคือความฝัน แต่ชีวิตมักเต้นด้วยจังหวะที่เราไม่คาดฝัน
.
วันหนึ่ง กลุ่มคนหูหนวกเดินทางมาศึกษาดูงานและพักค้างที่โรงเรียนประจำที่เธอเรียนอยู่ เธอได้รู้จักโลกอีกใบหนึ่งที่เธอไม่เคยรู้จัก และเธออยากรู้จักโลกใบนี้ให้มากขึ้นอีก
.
“มันจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าถ้าเราคุยกับเขาได้จะเหมือนเราเข้าไปอยู่ในโลกของเขา”
.
แรงบันดาลใจนี้ทำให้เธอเลือกศึกษาต่อในสาขาหูหนวกศึกษา (Deaf Studies) ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ละทิ้งความฝันการเป็นนักกฎหมาย
.
ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ละทิ้งความฝันการเป็นนักกฎหมาย นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเป็นปริญญาอีก 1 ใบที่ได้รับ
.
ผู้คนในโลกที่ไร้เสียงมีวัฒนธรรมแตกต่างจากโลกที่เต็มไปด้วยเสียง เธอค่อยๆ เรียนรู้ทั้งจากการเรียนและการมีรูมเมทเป็นคนหูหนวก
.
คนหูหนวกจะเรียนรู้และสื่อสารผ่านภาษามือ ซึ่งนำเสนอผ่าน ท่ามือ ตำแหน่งของมือ ทิศทางการพลิกหันฝ่ามือ การเคลื่อนไหวของมือ และการใช้สีหน้าท่าทาง เข้ากับบริบทของเรื่องราว หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ภาษามือก็เป็นเพียงท่าทางที่สื่อถึงคำคำหนึ่ง โดยไร้ซึ่งความหมาย
.
เมื่อคนหูหนวกต้องเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เต็มไปด้วยระเบียบพิธี ขั้นตอน ศัพท์แสงเฉพาะทาง และไม่รู้วัฒนธรรมกับไวยกรณ์ของพวกเขา มันอาจเรียกได้ว่าเป็นความโกลาหลของชีวิต
.
สุจิตราคือคนที่ต้องการลดความโกลาหลนี้ให้กับคนหูหนวก เธอมีความเชื่อว่า คนพิการไม่ได้พิการเพราะตัวของพวกเขาเอง แต่พวกเขาพิการเพราะสภาพแวดล้อมทำให้พิการต่างหาก
.
Curious People จึงอยากชักชวนทุกคนไปรู้จักเรื่องราวและการทำงานของทนายความล่ามภาษามือกันให้มากขึ้น
.
เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, ข้อความ

 

01 เป็น ‘เสียง’ ให้กับโลกไร้เสียง
.

ทุกวันนี้การให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่คนหูหนวก มี แต่ยังไม่เพียงพอ
.
คนหูหนวกจำนวนมากไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิอะไรบ้างในกระบวนการยุติธรรม หรือสิทธิในการรับบริการจากรัฐ ความแตกต่างยังทำให้คนหูหนวกบางคนไม่มั่นใจว่าตนจะสามารถทำหรือรับผิดชอบเรื่องบางเรื่องได้
.
สิ่งนี้ผลักดันให้เธอกลายมาเป็นนักกฎหมายที่รู้ภาษามือคนแรกของประเทศไทย
.
“จุดมุ่งหมายแรกคือเราอยากเป็นนักกฎหมายก่อน แล้วเรามาเป็นล่ามภาษามือด้วย คนที่เรียนคู่กันไปแบบนี้ในสังคมเราไม่มี ไม่มีนักกฎหมายที่ใช้ภาษามือได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าถ้าเราเป็นคนคนนั้น เขาจะได้ประโยชน์จากเรามากเลย ก็เลยคิดว่าวันหนึ่งอะไรที่เป็นสิทธิ์ของเขา เขาต้องทำได้ เขาต้องทำเองมันก็เหมือนเป็นแรงบันดาลใจว่า อยากให้คนหูหนวกเข้าถึงกฎหมายให้ได้มากที่สุด”
.
เพราะสำหรับคนหูหนวก แม้แต่เรื่องที่เป็นปกติที่สุดก็ยังเป็นเรื่องยาก ยากในแง่ที่ไม่รู้กฎหมายและยากในแง่ที่ว่าความพิการของตนเองคืออุปสรรค คดีของคนหูหนวกที่เธอว่าความให้ส่วนใหญ่มักเป็นคดีแพ่ง เธอยกตัวอย่างการตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่คนหูหนวกไม่กล้าที่จะรับหน้าที่นี้
.
“พ่อแม่ทำพินัยกรรมให้คนหูหนวกคนนี้รับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดก เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาก็มาปรึกษา ข้อกฎหมายว่ายังไงล่ะ คุณบรรลุนิติภาวะไหม เป็นผู้มีส่วนได้เสียไหม หมายถึงเป็นทายาทใช่ไหม คุณความสามารถไหม ศาลสั่งให้เป็นบุคคลวิกลจริตไหม สั่งให้ล้มละลายไหม เราก็ใช้คำถามเหล่านี้ถามเขา ซึ่งเขาก็ตอบไม่ทุกข้อ แล้วทำไมเขาถึงจะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ เราใช้คำถามเพื่อให้เขามั่นใจว่าเขาทำได้เขามีคุณสมบัติพอ เขามีความมั่นใจทำไหม เดี๋ยวทำให้”

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, สถานที่กลางแจ้ง

 

ในฐานะทนายความ หน้าที่ของเธอยังรวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ลูกความคนหูหนวกของเธอต้องรู้เวลาไปศาล ต้องแต่งตัวยังไง ปฏิบัติตัวยังไง นั่งตรงไหน จะถามว่าอะไร ต้องตอบว่าอะไร อธิบายทุกฉาก ทุกตอน เพื่อให้คนหูหนวกเข้าใจและทำตามได้ถูกต้อง
.
คุณอาจกำลังคิดว่า โห! แค่ภาษากฎหมายอย่างเดียว คนทั่วไปยังเข้าใจยากเลย แล้วนี่ต้องแปลภาษากฎหมายเป็นภาษามือไม่ยิ่งหนักหนาสาหัสเหรอ?
.
ไม่เลย เธอตอบอย่างนั้น เป็นเพราะเธอเข้าใจทั้งสองภาษา เราขอให้เธอยกตัวอย่างการอธิบายคำว่า ‘นิติกรรมสัญญา’
.
“ก่อนเกิดนิติกรรมสัญญาต้องมีเรื่องราว นิติกรรมสัญญาพูดเรื่องอะไร เรื่องสัญญาเช่า เช่าซื้อ ซื้อขาย ก็ต้องมีบริบทของเรื่องนั้น เราอธิบายได้เลย เวลาที่เราจะสื่อสารเรื่องนี้กับคนหูหนวกเราไม่ได้แปลเป็นคำ แต่แปลด้วยการอธิบายเรื่องราวว่านิติกรรมสัญญานี้เป็นเรื่องของอะไร ถ้าเราเข้าใจคำว่านิติกรรมสัญญาอยู่แล้วบวกกับเรื่องราวที่เขาเจอ มันก็จะเป็นการอธิบายด้วยภาษามือภาษาภาพให้เขาเข้าใจได้”

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, สถานที่กลางแจ้ง

 

02 เป็น ‘เสียง’ ของความยุติธรรมให้กับโลกไร้เสียง
.

แล้วอะไรที่ยากสำหรับเธอ?
.
เธอไม่ได้เป็นแค่นักกฎหมายเท่านั้น สุจิตราเป็นทั้งล่ามภาษามือและนักกฎหมาย การทำหน้าที่ล่ามภาษามือจึงเป็นอีกบทบาทหนึ่ง ความยากอยู่ตรงนี้แหละ คือการแยกบทบาทให้ได้ระหว่างการเป็นล่ามภาษามือกับการเป็นทนายความให้กับคนหูหนวก
.
“บทบาทการเป็นทนายความให้คนหูหนวกกับการเป็นล่ามในคดีความให้คนหูหนวกบทบาทต่างกันโดยสิ้นเชิง มาทำงานแล้วถึงได้รู้ ตอนแรกแยกไม่ออก ล่ามภาษามือคือเครื่องมือ คือคุณไม่มีตัวตน หมายความว่ารับสารมาอย่างไรต้องส่งออกไปเท่านั้น ไม่มีบทบาทในเรื่องการชี้แนะ แนะนำ แต่การเป็นทนายความ เรามีบทบาทในการแนะนำข้อกฎหมาย แนวทางการต่อสู้คดีอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เราพูดได้
.
“บางทีเราไปในฐานะของล่ามภาษามือกลายเป็นว่าบางอย่างเรารู้ แต่พูดไม่ได้ เพราะบทบาทต่างกัน เราไม่ใช่ทนายของเขา หน้าที่และบทบาทนี้ต้องแยกให้ชัดและต้องระมัดระวังในเรื่องการทำงาน เพราะจะส่งผลต่อจรรยาบรรณวิชาชีพของทั้งสองวิชาชีพ”
.
อีกส่วนที่ยากคือคดีอาญา ซึ่งส่วนใหญ่เธอจะทำหน้าที่ล่ามภาษามือ ความยากไม่ใช่เพราะศัพท์กฎหมาย แต่เพราะเดิมพันนั้นสูงเหลือเกิน การแปลไม่ครบถ้วน คลุมเครือ อาจหมายถึงชีวิตหนึ่งที่ต้องขาดอิสรภาพ ดังนั้น ในกรณีนี้เธอจะพาล่ามภาษามือคนหูหนวกไปด้วย
.
“เราจะไม่ทำงานคนเดียว แต่จะทำงานร่วมกับล่ามภาษามือคนหูหนวกคือคนหูหนวกที่เป็นล่ามภาษามือ เราจะใช้ในกรณีที่คนหูหนวกไม่รู้หนังสือ ใช้ภาษามือที่ไม่ใช่ภาษามือไทย เป็นภาษามือชุมชน ภาษามือธรรมชาติ หรือภาษามือในครอบครัวของเขา ซึ่งเราใช้ภาษามือไทย เราก็กลัวความคลาดเคลื่อนของข้อมูลจึงต้องทำงานคู่กับล่ามภาษามือคนหูหนวก เพื่อให้ข้อมูลแปลออกมาได้ตรง ชัด ครบที่สุด เพราะคดีอาญาเป็นเรื่องที่เขาต้องติดคุกเลยนะ ถ้ามันไม่เคลียร์ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับเขา”

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยืน และ สถานที่กลางแจ้ง

 

03 เป็น ‘เสียง’ ที่ดังขึ้นให้กับโลกไร้เสียง
.

การเป็นวิทยากรไปบรรยายให้ความรู้กฎหมายพื้นฐานกับชมรมคนหูหนวกที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นอีกงานหนึ่งที่เธอทำ เรียกว่าเป็นการเวิร์กช็อปเลยก็ได้ เพราะให้คนหูหนวกลงมือปฏิบัติ เช่น การทำสัญญากู้ยืมต้องทำอย่างไร เซ็นชื่อตรงไหน ถ้าไม่รู้หนังสือก็มีสิทธิ์ขอล่ามไปด้วย เป็นต้น
.
“คนพิการมีสิทธิตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2556 สิทธิข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาทนาย การประกันตัว ค่าธรรมเนียม ทุกอย่างเขาสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ แต่มีคนได้ใช้สิทธิ์กี่คน น้อยมาก
.
“แม้กระทั่งการใช้สิทธิบริการล่ามทุกวันนี้ยังยากเลย เพราะอะไร อย่างตามต่างจังหวัด เขารู้ว่าเขาใช้บริการล่ามได้ แต่มันยากเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบคือส่วนราชการ ซึ่งก็ต้องยึดตามเอกสาร กว่าเขาจะได้ใช้ล่าม เขาต้องขอล่วงหน้ากี่วัน ต้องมาส่งเอกสารเป็นกระดาษ บางทีคนพิการไม่ได้มีบ้านอยู่ในเมือง ทำยังไงให้เขาสะดวกสบายมากขึ้นในการขอรับบริการเพราะนี่มันยุค 4.0 แล้ว พอขอรับบริการได้ง่ายขึ้น เขาก็จะรู้สิทธิ์มากขึ้น เขาก็อยากจะใช้สิทธิ์ บางทีด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยากกลายเป็นว่ารู้สิทธิ แต่มันยากเหลือเกินไม่ใช้ก็ได้ จึงควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้เขาได้รู้ว่ากฎหมายนี้ดีอย่างไร มีสิทธิ์อะไร มีช่องทางให้เขาเข้าถึงได้ง่าย”
.
นอกจากการรับมือเป็นรายกรณีและการบรรยายแล้ว การผลักดันในระดับที่ใหญ่ขึ้นเช่นการทำให้คนพิการรับรู้และสามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายต่างๆ ได้
.
สุจิตราเล่าโครงการในใจให้ฟังว่า เธออยากทำโครงการให้คำปรึกษากฎหมายแบบออนไลน์ เพื่อให้คนหูหนวกเข้าถึงคำปรึกษาด้านกฎหมายได้สะดวกและทั่วถึง และเธอกำลังมองหาลู่ทางที่จะเดินไปให้ถึงจุดนั้นอยู่
.
ในส่วนของตัวเธอเอง เธอตระหนักว่าแค่ภาษามือไทยไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องเพิ่มทักษะภาษามือสากลหรือเกสตูโน (Gestuno) เพื่อเป็นล่ามให้กับคนหูหนวกชาวต่างประเทศที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายและเธอต้องการพัฒนาตัวเองไปเป็นล่ามระดับนานาชาติ และเช่นที่เธอเคยทำ ขณะนี้เธอกำลังเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชน เพราะมันจะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของคนพิการ
.
มันคุ้มกันเหรอที่ต้องทำอะไรมากมายขนาดนี้ ทั้งการเป็นล่ามภาษามือทั่วไป ในศาล เป็นทนาย ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ทำงานอาสาสมัคร และอื่นๆ คำตอบต่อไปนี้จะช่วยคลายความสงสัย
.
“ในความรู้สึกส่วนตัวเรื่องความพิการ จริงๆ เขาไม่ได้พิการ สภาพแวดล้อมทำให้เขาพิการ เพราะเคยมีเพื่อนที่เป็นคนหูหนวก เขามีความสามารถ เขาแค่ไม่มีล่าม เขาแค่พูดไม่ได้ วันหนึ่งมีล่ามขึ้นมา เขาสามารถทำได้ทุกอย่าง เขาคือคนทั่วไป เพราะสภาพแวดล้อมไม่ได้ทำให้เขาพิการ เราก็ไม่เคยรู้สึกว่าเขาคือคนพิการเพราะว่าเขาใช้ชีวิตได้เหมือนเราเลย ความคิด ความรู้ ความสามารถไม่ได้ด้อยไปกว่าเราเลย แค่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขา ทำให้ความพิการนั้นหายไปแค่นั้นเอง ฉะนั้น ความพิการจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวคนพิการแต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาพิการ
.
“เราอยากให้เขาได้ความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมจริงๆ นั่นหมายความว่าเราในฐานะคนแปลต้องแปลให้ถูกต้องครบถ้วนที่สุด หรือถ้าในบทบาทของการเป็นทนายก็อยากให้เขาเข้าถึงสิทธิ์ทางกฎหมาย”
.
…เป็นเสียงในโลกไร้เสียง

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://www.facebook.com/pg/curiouspeople.me/posts/?ref=page_internal

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *