สำหรับคนที่มีร่ายกายสมบูรณ์พร้อมการเดินทางสัญจรในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร บางครั้งก็ยังเกิดปัญหาทางเดินไม่เหมาะสมมีการสะดุดล้มลุกคลุกคลานกันบ้างในบางโอกาสเนื่องจากเมืองไม่มีการวางระบบสัญจรในพื้นที่สาธารณะให้เหมาะสมและเอื้อต่อการใช้งานของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งในกลุ่มผู้พิการทางสายตา การเดินทางไปมาด้วยตัวเองยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับในเมืองที่ไม่มีการออกแบบเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้
ผู้พิการทางสายตากลุ่มคนที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปดังนั้นถือเป็นหน้าที่หลักของเมืองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆที่ต้องร่วมกันดูแลประชานกลุ่มนี้ให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันในรูปแบบต่างๆได้อย่างเหมาะสมพัฒนาคุณภาพชีวิตดำเนินกิจกรรมต่างๆได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ซึ่งกรุงเทพมหานคร(กทม).หน่วยงานหลักในการดูแลคุณภาพชีวิตคนกรุงกำหนดนโยบายในการพัฒนาชีวิตประชาชนซึ่งมุ่งเน้นที่จะอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลทุกกลุ่มตามนโยบาย NOW ในด้าน“สะดวก”(Convenient)เพื่อทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกใช้ชีวิตสะดวกได้รับข้อมูลสะดวกจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ที่คนทั้งกลุ่ม เด็กผู้พิการผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไปสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเหมาะสมตามหลักสากลของการออกแบบเพื่อทุกคน
โดยกทม.ได้วางรูปแบบดำเนินโครงการสร้างนวัตกรรมจากถ่านไฟฉายเก่าสู่ทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการสร้างเมืองอารยสถาปัตย์ที่ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเขตตลิ่งชัน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)และ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยโดยมีการวิจัยอิฐทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตาซึ่งเป็นการนำส่วนประกอบจากถ่านไฟฉายเก่านำมาผ่านนวัตกรรมการศึกษาทางวิศวกรรมเพื่อดำเนินโครงการ
นายประชา พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน ผู้นำร่องโครงการใช้นวัตกรรมมาสร้างพื้นที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตาเปิดเผยว่า จากสถิติปริมาณการใช้ถ่านไฟฉายในประเทศไทย พบว่าปริมาณการใช้ถ่านไฟฉายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่3.5ก้อนต่อคนต่อปีในส่วนปริมาณของถ่ายไฟฉายที่ใช้แล้วมีปริมาณมากถึง 3,400ตัน ซึ่งถ่ายไฟฉายที่เกิดขึ้นจะถูกกำจัดด้วยวิธีทิ้งลงหลุมฝังกลบขยะรวมกับขยะทั่วไป ซึ่งวิธีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในบริเวณโดยรอบอย่างมาก
จากปัญหาการกำจัดขยะอันตรายอย่างถ่านไฟฉายที่มีวิธีการไม่เหมาะสมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบดังกล่าวจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยอิฐทางเดินแม่เหล็กและไม้เท้านำทางคนพิการทางสายตาด้วยการนำผงถ่านไฟฉายอัลคาไลน์ที่ใช้แล้วมาสังเคราะห์สารแม่เหล็กหรือเฟอร์โรแมกเนติกโดยถ่านไฟฉาย100ก้อนจะได้สารแม่เหล็กปริมาณ1กก.เพื่อนำมาผสมกับสีและปูนซีเมนต์แล้วนำมาฉาบผิวหน้าอิฐทางเดินแม่เหล็กสำหรับคนพิการทางสายตาพร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสนามแม่เหล็กและอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณไปที่ไม้เท้า
สำนักงานเขตตลิ่งชันเล็งเห็นถึงแนวทางศึกษาในโครงการดังกล่าว ที่จะช่วยทั้งการลดปริมาณขยะจากถ่ายไฟฉายและช่วยสร้างความสะดวกในการสัญจรให้แก่กลุ่มผู้พิการทางสายตา จึงวางรูปแบบการดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่สำนักงานเขตซึ่งเป็นจุดที่ประชาชนทุกกลุ่มต้องเข้าใช้บริการโดยทดลองติดตั้งอิฐทางเดินบริเวณศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด(BangkokFast & Clear : BFC) ห้องฝ่ายทะเบียนชั้น1 ภายในสำนักงานเขตตลิ่งชันเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้พิการทางการเห็นที่มาติดต่อราชการได้สะดวก ซึ่งในจุดดังกล่าวจะมีทั้งไม้เท้าที่ใช้สำหรับเดินทางในช่วงทางเดินดังกล่าว ให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้งานและมีเจ้าหน้าที่เขตฯคอยช่วยอำนวยความสะดวกในการรับบริการเพิ่มเติมอีกด้วยนอกจากนี้สำนักงานเขตตลิ่งชันยังมีการเพิ่มเติมจุดติดตั้งกล่องรับบริจาคถ่านไฟฉายเก่าที่ใช้แล้วจากประชาชนเพื่อเป็นการคัดแยกขยะอันตรายจากต้นทางสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยถ่านไฟฉายที่ได้รับบริจาคก็จะนำไปมอบให้กับทางมหาวิทยาลัยได้นำไปทดลองต่อไป
โครงการสร้างทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องอาจยังไม่สามารถใช้การได้เต็มที่ครบสมบูรณ์100เปอร์เซ็นต์ แต่ถือเป็นโครงการที่สำนักงานเขตตลิ่งชันและกทม.วางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยอาศัยความร่วมมือความรู้จากสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเมืองเพื่อประชาชนในทุกกลุ่ม
หากภาครัฐทุกหน่วยงานร่วมมือกันเห็นถึงสิทธิผู้พิการที่ต่างต้องการการดูแลรับบริการที่เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปและมุ่งการพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ที่สมบูรณ์แบบในอนาคตคนพิการทุกกลุ่มก็จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันเดินทางทำกิจกรรมรับบริการได้อย่างสะดวกและจัดสรรดูแลชีวิตได้ด้วยตนเองได้อย่างมั่นคง
ประชาชนไม่ว่ากลุ่มไหนๆก็ไม่มีใครต้องการเป็นภาระต่อสังคมหากสังคมช่วยกันสร้างความสะดวกสบายอย่างเท่าเทียมทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข.
ญาดา หริรักษาพิทักษ์/รายงาน