กรมการแพทย์เผย 7 มาตรการ บริการ “ฟื้นฟู” ร่างกายหลังรักษา คัดกรอง “โควิด” ก่อนรับบริการ อาการดีให้ฟื้นฟูที่บ้านผ่านระบบวิดีโอคอล นัดหมายล่วงหน้า ลดแออัด ตรวจหาเชื้อในหัตถการเสี่ยง เช่น ฝึกปอด ฝึกกลืน สถาบันสิรินธรฯ เปิดบริการธาราบำบัดแล้ว จำกัดจำนวนคน เว้นระยะห่างผู้ป่วยใน ปรับลดจาก 60 เตียงเหลือ 48 เตียง
เมื่อวันที่ (12 มิ.ย.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายวิถีใหม่ ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จึงต้องปรับระบบให้ประชาชนกลับมาใช้บริการใกล้เคียงปกติที่สุด แต่ต้องเป็นรูปแบบใหม่ (New Normal) ปลอดภัยทั้งประชาชน บุคลากร ลดความแออัด โดยในส่วนของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์เป็นเรื่องสำคัญหลังการรักษา ให้กลับมามีสุขภาพใกล้เคียงปกติที่สุด กลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ 1. กลุ่มผู้ป่วย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองบาดเจ็บ และโรคไขสันหลังบาดเจ็บ ที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว 2. คนพิการที่ต้องรับอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ และ 3. ผู้สูงอายุที่การฟื้นฟูร่างกายหลังรับการรักษาใช้เวลานานกว่าคนหนุ่มสาว
นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า การปรับรูปแบบบริการฟื้นฟูใหม่ มีมาตรการ 7 ด้าน คือ
1. คัดกรองก่อนมาสถานพยาบาล ว่าเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ถ้าเสี่ยงยังไม่ต้องมา หากไม่มีความเสี่ยงมารับบริการได้ แต่ก่อนเข้า รพ. ต้องคัดกรองอีกครั้ง คนมีความเสี่ยงต้องถูกกันออกไปก่อน
2. จัดลำดับความสำคัญและจำแนกประเภทผู้ป่วย แบ่งเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูที่สถานพยาบาล คือ โรคหลอดเลือดสมองที่ตีบหรือแตกทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งระยะ 6 เดือนแรกหลังมีอาการเป็นช่วงสำคัญที่ต้องฟื้นฟู เพราะกล้ามเนื้อ เส้นประสาทที่สูญเสียไปจะฟื้นฟูได้ในช่วงนี้ และกลุ่มเจ็บปวดรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรค อีกกลุ่มคือไม่จำเป็นต้องมาสถานพยาบาล เช่น ผู้สูงอายุ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่อาการไม่เปลี่ยนแปลง สามารถรอได้ หรือฟื้นฟูที่บ้านหรือชุมชนได้
3. ส่งตรวจเชื้อในบางหัตถการที่ฟื้นฟู เช่น ผู้ป่วยกลุ่มที่ฝึกการกลืน ฝึกสมรรถภาพปอด เคาะปอด ฝึกการพูด เพราะการฝึกอาจทำให้เสมหะ น้ำลายกระเด็นออกมาโดยรอบ และอาจเกิดการติดเชื้อได้ จากกลุ่มที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ
4. ปรับสภาพแวดล้อม จัดเก้าอี้ เตียง สถานที่พักต่างๆ มีระยะที่ปลอดภัย 1-1.5 เมตร การบริการฟื้นฟู อาจไม่ต้องอยู่ในห้องแอร์ ไปในที่โล่ง เปิดหน้าต่าง ให้มีการระบายอากาศ มีการถ่ายเท อาจมีโรคอื่นติดต่อผ่านลมหายใจ ไข้หวัด วัณโรค ไม่ใช่แค่โควิด-19 การทำความสะอาดเป็นระยะๆ
5. ทำระบบนัดหมายล่วงหน้าและนัดเป็นช่วงเวลา เพื่อไม่ต้องรอนาน ระยะเวลาอคอยสั้นลง ไม่เกิดแออัดจนติดเชื้อกัน
6. จัดระบบบริการเพื่อการเข้าถึงการฟื้นฟูมากกว่าปกติ เช่น ผ่านระบบวิดีโอคอล ในผู้ป่วยที่เหมาะสม เช่น อาการคงที่ไม่อันตราย ญาติสามารถทำได้ตามที่บุคลากรสอนได้ โดยไม่ต้องมา รพ. หรือบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ส่งยาทางไปรษณีย์
7. สร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นในเครือข่าย ซึ่งเดิมจะส่งต่อเป็นทอดจาก รพ.สต. มา รพ.ชุมชน รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ และ รพ.ใหญ่ๆ ในกทม.และปริมณฑล ก็อาจปรับเป็นส่งต่อ รพ.ชุมชน และใช้การแพทย์ทางไกลมายังสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาเป็นช่วงๆ โดยให้ทุก รพ.ทยอยปรับบริการตามศักยภาพ
นพ.สาธิต สันตดุสิต ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงโควิด สถาบันสิรินธรฯ ได้ปิดบริการบางส่วน เช่น ธาราบำบัด การฝึกการกลืน ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ จำกัดจำนวนคนไข้ส่วนที่ยังรอได้ เพื่อให้บริการคนไข้ที่จำเป็น แต่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ก็เริ่มให้บริการเกือบเต็มรูปแบบ เช่น ธาราบำบัด เริ่มเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยลดจำนวนการลงสระ จากเดิมฟื้นฟูร่วมกันเป็นกลุ่ม จะพยายามเป็นเดี่ยว 1 ต่อ 1 เจ้าหน้าที่สวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมและเฟซชีลด์ เป็นต้น ส่วนการฝึกกลืน หรือการฟื้นฟูที่มีความเสี่ยงก็ให้เจ้าหน้าที่สวมชุด PPE ป้อกงกัน มีเฟซชีลด์ช่วย เป็นต้น