นับเป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่โรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก เหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญก็พยายามค้นหาทุกวิถีทางในการยุติการระบาด ซึ่งในขณะนี้ มีการค้นพบยาชนิดเดียวที่สามารถต่อกรกับเชื้อไวรัสโคโรนา ต้นเหตุของโรคโควิด-19 ได้ นั่นคือ “ยาเรมเดซิเวียร์” ทว่าคุณสมบัติของยาชนิดนี้ก็ยังไม่สามารถยับยั้งเชื้อโรคได้ ทำได้เพียงย่นระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จาก 15 วัน เหลือเพียง 11 วัน ดังนั้น การค้นหาวิธีการรักษาโรคนี้จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป และนี่คือ 5 วิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา
พลาสมาจากผู้ป่วยที่ฟื้นตัว
นักวิจัยต่างก็เฝ้ารอที่จะเห็นประสิทธิภาพของการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่ฟื้นตัวแล้ว เนื่องจากพลาสมานี้จะมีแอนติบอดีที่สามารถต่อสู้กับโรคได้ ดังนั้น ในทางทฤษฎีจึงสามารถสรุปได้ว่า การให้แอนติบอดีแก่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ วิธีการนี้เป็นวิธีที่ใช้ในการรักษาโรคในอดีต ที่ยังไม่มียารักษาโรค เช่น โรคซาร์สและอีโบลา แม้ว่าผลการทดสอบจะมีหลากหลายก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการที่คล้ายกัน คือการใช้ “ไฮเปอร์อิมมูน โกลบูลิน” (hyperimmune globulin) ซึ่งเป็นแอนติบอดีเข้มข้นที่อยู่ในพลาสมาของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวแล้ว พลาสมาดังกล่าวไม่เพียงแต่ใช้ในการรักษาเท่านั้น แต่ยังอาจจะใช้ในการป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ
ยาต้านไวรัส
ยาต้านไวรัสอย่างเรมเดซิเวียร์ มีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวและแพร่กระจายในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น จึงมีการทดสอบยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ว่าสามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ความหวังใหม่ของเราก็คือยาที่เรียกว่า EIDD-2801 ที่คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์จากองค์กรด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ไม่แสวงหากำไร ของมหาวิทยาลัยเอมอรี จากการทดสอบยาดังกล่าวในสัตว์ พบว่าสามารถลดอาการเจ็บป่วยของโรคซาร์ส และโรคอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Merck ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ Ridgeback Biotherapeutics เพื่อพัฒนายา EIDD-2801 โดยเริ่มทดสอบในมนุษย์แล้วในสหราชอาณาจักร ซึ่งข้อได้เปรียบของ EIDD-2801 ที่ดีกว่าเรมเดซิเวียร์ก็คือ สามารถรับประทานเป็นแบบเม็ดได้ ไม่ต้องฉีดเข้าเส้นเลือด
โมโนโคลนอลแอนติบอดี
โมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody: mAb) เป็นโมเลกุลที่สร้างขึ้นในห้องทดลอง เพื่อลอกเลียนแบบแอนติบอดีในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ โมเลกุลดังกล่าวยังใช้ในการจับเซลล์มะเร็ง หรือเซลล์ไม่พึงประสงค์อื่น เช่น เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และยังใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น มะเร็งและข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้สำเร็จ
โมเลกุลนี้ทำงานโดยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยแอนติบอดีที่ยับยั้งเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ในกรณีของโรคโควิด-19 ก็จะเป็นแอนติบอดีที่ต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งนักวิจัยหลายคนมองว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โมโนโคลนอลแอนติบอดีชุดแรกที่จะใช้ทดสอบในมนุษย์ คือชุดที่ได้รับการพัฒนาโดย AbCellera บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของแคนาดา และบริษัทผลิตยา Eli Lilly
นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบตัวยาที่มีพื้นฐานจากโมโนโคลนอลแอนติบอดีในมนุษย์ด้วย โดยยาดังกล่าวประกอบด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี 2 ชนิด ซึ่งผลิตโดยบริษัทยา Regeneron และยาดังกล่าวจะใช้รักษาทั้งผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก รวมทั้งเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไม่ให้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ด้วย
การจัดการภูมิคุ้มกันโรค
ความน่ากลัวอย่างหนึ่งของโรคโควิด-19 คือ การทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ทำงานมากกว่าปกติ จนไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรง ในกรณีของโรคโควิด-19 มักจะส่งผลกระทบต่อปอด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้อย่างสะดวก ดังนั้น จึงมีการเลือกใช้ยาที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาด ที่สามารถระงับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันก็มีการทดสอบยาที่มีอยู่หลายชนิดในผู้ป่วยโรคโควิด-19
ปัญหาของยาเหล่านี้คือการกดภูมิคุ้มกัน จึงส่งผลให้มีการลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสด้วย และยิ่งทำให้การติดเชื้อแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้น แพทย์จึงลงความเห็นว่าอาจจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เกี่ยวกับระยะเวลาและขนาดของการใช้ยาเหล่านี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วย
การคิดค้นวิธีการรักษาใหม่
มีความเป็นไปได้ในการคิดค้นยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ที่แตกต่างจากตัวยาที่มีอยู่ ทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกาได้เปิดตัว COVID-19 High Performance Computing Consortium เพื่อสร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์เพื่อดูวิธีการที่เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ จากนั้นก็สร้างวิธีการในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะคำนวณและสร้างระบบ AI มาระบุตัวยาที่มีอยู่ และนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 หรือใช้ในการติดตามการรักษาที่มีอยู่เดิมได้
ขอขอบคุณ https://www.sanook.com/news/8184514/