“ดร.สถิตย์” เสนอใช้เงินตาม พ.ร.บ.โอนงบฯ มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา

 

“ส.ว.สถิตย์” อภิปรายร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ เสนอใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างการจ้างงาน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมแบ่งบางส่วนเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกันตน ผู้ถือบัตรสวัสดิการ และผู้รับเยียวยาทุกกลุ่ม เพื่อจัดสวัสดิการเยียวยาเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น และนำงบที่เหลือแต่ยังจำเป็นต้องใช้ไปตั้งเป็นงบปี 64

 

วานนี้ (22 มิ.ย.) ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายในการประชุมวุฒิสภา วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ…. ว่า แม้ปัจจุบัน จะมีการออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 แล้วก็ตาม แต่ยังสามารถมีมาตรการทางการคลังเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563

 

ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ… วงเงินรวม 88,254 ล้านบาท เป็นการโอนงบประมาณจากรายการที่ยังไม่มีเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพัน ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น รายจ่ายประจำในหมวดค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การเดินทางไปราชการต่างประเทศ, รายจ่ายลงทุนบางรายการที่ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามแผนที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 35 (1) ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับหน่วยรับงบประมาณอื่นมิได้ เว้นแต่มีพระราชบัญญัติให้โอนหรือนำไปใช้ได้เสียก่อน

 

วงเงินโอนงบประมาณรายจ่ายจำนวน 88,254 ล้านบาท จำแนกที่มา ตามมาตรา 4 ได้ดังนี้ 1) งบประมาณที่รับโอนจากหน่วยรับงบประมาณ และรายจ่ายบูรณาการ ทั้งสิ้น 53,149 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 39,893 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 11,096 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 28,796 ล้านบาท, งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 13,256 ล้านบาท เป็น รายจ่ายประจำ 2,166 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 11,090 ล้านบาท 2) งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ เป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 35,303 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ จะพบว่า การจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบฯ สอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ดังนี้ สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อปรับสัดส่วนใหม่ จะอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของงบประมาณรายจ่าย ยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.0-7.5 ของงบประมาณรายจ่าย, สัดส่วนงบชำระต้นเงินกู้ เมื่อปรับสัดส่วนใหม่ จะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของงบประมาณรายจ่าย ยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1.5-3.5 ของงบประมาณรายจ่าย

 

ดร.สถิตย์ เห็นว่า พ.ร.บ.โอนงบฯ เป็นมาตรการทางการคลังที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

 

1) ควรนำงบประมาณที่โอนมา ไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่น โดยดำเนินมาตรการ หรือโครงการที่ต่อเนื่องหรือต่อยอดกับ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ซึ่งนอกจากจะบรรเทาความยากจนแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ อีกทั้งจะเป็นการชับเคลื่อนและสร้างรากฐานความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว

 

2) ควรใช้งบประมาณที่โอนมาส่วนหนึ่งในการบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 10 ล้านคน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.9 ล้านคน ผู้ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลัง 15 ล้านคน ผู้ได้รับเงินจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9 ล้านคน และประชาชนในกลุ่มเปราะบางประกอบด้วย ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กแรกเกิด 13 ล้านคน ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลแบบบูรณาการในการให้สวัสดิการ การเยียวยา และการจัดสรรงบประมาณไปยังเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

 

3) ควรนำรายการที่ถูกโอนงบประมาณตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ มาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของงบประมาณเดิมที่ได้ตั้งไว้เท่าที่ยังเหมาะกับสถานการณ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *