เปิดอก “คนพิการ” ในสมรภูมิโควิด โดย The Coverage

ในภาพอาจจะมี 5 คน, ข้อความ

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจแก่กลุ่มคนพิการอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะการเข้าถึง “บริการสุขภาพ” ที่ยากลำบากขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยจะคลี่คลายลง และกลุ่มคนพิการก็ได้รับการดูแลจนผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์มาได้ หากแต่ปัญหา-อุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ล้วนเป็น “บทเรียนสำคัญ” ต่อการพัฒนาระบบแทบทั้งสิ้น

 

ข้อมูลและความคิดเห็นที่สะท้อนผ่านเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปประจำปี 2563 “หลักประกันสุขภาพคนพิการในยุค New Normal” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดและได้รับการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

 

ทั้งหมดเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

 

“จรรยา บัวสร” ผู้แทนสำนักงานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย บอกเล่าถึงอุปสรรคที่หลายคนมักมองข้าม คือมาตรการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งผู้พิการจะมองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียง จึงอยากเสนอให้ “เพิ่มสิทธิประโยชน์” เครื่องมือวัดไข้ระบบเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ปรอทวัดไข้-เครื่องวัดความดันโลหิต ที่ควรมีระบบเสียงบอกด้วย

 

นอกจากนี้ “จรรยา” ยังได้นำปัญหาการรับบริการสุขภาพในชีวิตประจำวันของผู้พิการประเภทต่างๆ มาอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มล่ามภาษามือออนไลน์ การวินิจฉัยของแพทย์เรื่องสิทธิประโยชน์ใส่ดวงตาปลอมที่่มักจะลงความว่าเป็นการ “ศัลยกรรม” จึงเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้

 

ด้าน “กัญญาวีร์ แขวงโสภา” ผู้แทนจากสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) สะท้อนว่า การเลื่อนนัดอย่างมีกำหนดของโรงพยาบาลภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การทำหัตถบำบัด การฝึกพูด การเรียนรู้ของเด็กออทิสติกต้องหยุดชะงัก

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ยิ่งทำให้พัฒนาการของเด็กหยุด และทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง ครอบครัวเกิดความเครียด จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. จัดทำสื่อเรื่องบริการฟื้นฟูสภาพด้านการแพทย์ในทุกแขนง เพื่อให้ครอบครัวนำไปใช้ที่บ้านได้

 

“วันเสาร์ ไชยกุล” ผู้แทนเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ วิเคราะห์ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นชัดถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพผู้พิการที่ขาดการดูแลหรือการเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้ได้อีก

 

“ถ้ามีกลไกสุขภาพระดับชุมชนเข้ามาจัดการในระดับพื้นที่น่าจะทำให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วกลไกเหล่านี้ก็มีอยู่ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพสุขภาพระดับท้องถิ่น กองทุน LTC ของ สปสช. ศูนย์บริการคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฉะนั้นประเด็นอยู่ที่จะทำอย่างไรให้กลไกเหล่านี้ร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพในระดับพื้นที่” วันเสาร์ ระบุ

 

เขา เสนอว่า สิ่งที่ควรทำในขั้นตอนเร่งด่วนคือ 1.เอกซเรย์พื้นที่ว่ามีจำนวนคนพิการเท่าใด ปัญหาและความต้องการเป็นอย่างไร 2.เอกซเรย์คนทำงานในพื้นที่ว่ามีองค์กร เครือข่ายในพื้นที่หรือไม่ เพื่อให้เกิดการจับคู่กับหน่วยงานรัฐในการขับเคลื่อนระบบในพื้นที่

 

นอกจากนี้ ในระยะยาวยังมีเรื่องการพัฒนาวิจัยวัสดุอุปกรณ์สิ่งของทางการแพทย์ที่ทางเครือข่ายอยากเห็นการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สายสวนปัสสาวะ สายอาหาร ฯลฯ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีราคาถูกลงและเมื่อราคาถูกลงก็อาจเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ได้

 

สอดคล้องกับที่ “นิตยา ศรีวงศ์” สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย เสนอว่า จากการสำรวจคนพิการในช่วงโควิด-19 พบว่ามีความต้องการผ้าอ้อมค่อนข้างมาก จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้จาก สปสช. เป็นการถาวร เพราะผ้าอ้อมเป็นค่าใช้จ่ายประจำและต้นทุนค่อนข้างสูงถึงชิ้นละ 20-30 บาท

 

ตอกย้ำด้วยมุมมองของ “วิเชียร หัสถาดล” สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ผ้าอ้อมสำหรับคนพิการติดเตียงและที่นั่งรถเข็นยังไม่เพียงพออย่างมาก ส่วนเรื่องการซ่อมรถเข็น ก็ยังไม่สามารถเบิกจาก สปสช. ได้เต็มราคาค่าซ่อม

 

ทางด้านผู้แทนจากสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย “พิศมัย สุวรรณรังสี” แสดงความกังวลเรื่องราคายา โดยระบุว่า แม้ สปสช.จะดูแลเรื่องยาผู้ป่วยจิตเวชอย่างดีมาก แต่ทุกวันนี้ก็ยังมียาบางรายการที่ราคาแพง ทำให้แพทย์ไม่สามารถจ่ายยาให้มากได้

 

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องการ “ตั้งกองทุนจิตเวชชุมชน” แม้จะมีกองทุนนี้แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมการบำบัด รักษา ฟื้นฟูหรือส่งเสริมป้องกัน ไม่ครอบคลุมการสนับสนุนค่าเดินทางให้ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการลงพื้นที่เยี่ยมคนไข้มากกว่า

 

“คนไข้มักจะบ่นว่าไม่เคยได้รับบริการฟื้นฟู ดังนั้นอยากฝาก สปสช.พัฒนาการบริหารจัดการกองทุนนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น” พิสมัย แสดงความคิดเห็น

 

ในตอนท้าย วีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. ยืนยันว่า สปสช.ให้ความสำคัญและรับฟังเสียงสะท้อนจากการรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ข้อเสนอจากผู้พิการในปีก่อนๆ เราได้นำไปปรับปรุง ฉะนั้นเสียงสะท้อนที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ก็จะได้นำไปสู่การพัฒนาสิทธิและบริการของผู้พิการให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต

 

เพื่อนๆสามารถติดตามบทความดีๆแบบนี้ได้ที่เพจ The Coverage

หรือสามารถ Add Friends เพื่อติดตามหัวข้อใหม่ๆที่ทางเพจ The Coverage จะนำมาเสนอได้ตาม
QR Code ด้านล่างนี้เลยนะคะ

 

ในภาพอาจจะมี ข้อความ

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.facebook.com/thecoverage.info/posts/2997006407048340

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *