อาการ “ปวดหลัง” อาการที่ทำให้ใครหลายคนได้รับผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับสาวๆ วัยทำงาน ที่ต้องนั่งจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ จนไม่มีการลุกขึ้นไปพักสายตาเลย ทั้งนี้อาการดังกล่าวก็ยังปรากฏขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหนๆ เช่น ลุก นั่ง เดิน หรือนอน จนบ่อยครั้งเราเองอาจไม่ทราบสาเหตุของการปวดนั้นได้เลย ขณะที่บางทีก็ไม่รู้จะรักษาอาการปวดหลังด้วยวิธีไหนดี มาค่ะ…วันนี้ MIRROR จะพาทุกคนไปรู้จักอาการปวดหลัง ว่า “ปวดหลัง” แต่ละแบบถือเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคหรือไม่?
อาการ “ปวดหลัง” สัญญาณบ่งบอกโรค
สาเหตุทั่วไปของการ “ปวดหลัง
อาการ “ปวดหลัง” คืออาการเจ็บหรือปวดบริเวณหลัง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกับอาการปวดหัว ทั้งนี้อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ยิ่งในปัจจุบันจะพบมากขึ้นในสาวๆ วัยทำงาน จากการทำงานติดโต๊ะโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ทั้งนี้งหากปวดมากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดอาการ “ปวดหลัง” โดยทั่วไปมักเกิดจากพฤติกรรม เช่น การนั่งมากเกินไป การยกของหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นในลักษณะปวดเมื่อย รู้สึกกล้ามเนื้อตึงเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวดร้าวไปลงไปที่ ขา ก็อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็ได้
อาการปวดหลัง บ่งบอกโรค
ปวดหลังร้าวลงขา ปวดเมื่อไอหรือจาม – โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการ “ปวดหลัง” แบบร้าวลงขา หรือปวดเมื่อไอหรือจาม ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก นั่งทำงานอยู่ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานาน แล้วไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงความเสื่อมตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นอาการออฟฟิศซินโดรม ทั้งนี้ถ้าหากปล่อยไว้นาน อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึง “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” อันเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลัง ปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือรากประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนไม่อาจขยับตัวได้ โดยการปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อไอ จาม เบ่งถ่ายขณะเข้าห้องน้ำ รู้สึกชาขา แอ่นหลังหรือก้มหลังแล้วรู้สึกปวดร้าวลงขามากขึ้น ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง
ปวดตึงหลังเฉียบพลัน ปวดหลังบริเวณกว้าง – กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลัน
“ปวดหลัง” แบบตึงหลังเฉียบพลัน ปวดหลังบริเวณกว้าง มักเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อหลังของเรา ถูกใช้งานมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุโดนกระแทกที่หลังโดยตรง จนทำให้ “กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลัน” ทันที ทั้งนี้โรคนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เกิดจากกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการคล้ายๆ กับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา อาการที่พบบ่อยๆ คือ ปวดเกร็งหลัง จนต้องแอ่นหลังตลอดเวลา และกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งเป็นลำชัดเจน
ปวดหลังแบบขัดๆ ภายในข้อ ก้มหลังได้ไม่สุด – โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
อาการปวดหลังแบบขัดๆ ภายในข้อ ก้มหลังได้ไม่สุดจะรู้สึกตึงๆ ขัดๆ ที่หลังในขณะที่ก้ม หากกระดูกสันหลังทรุดมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้าง จนนำไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ จนเป็นสัญญาณของ “โรคกระดูกสันหลังเสื่อม” ซึ่งในช่วงแรกๆ มักจะไม่มีอาการปวดใดๆ จนเมื่อมีอาการปวดหลัง เนื่องจากข้อต่อที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่าง เกิดเสื่อมลงมากจนทรุดตัว ถึงจะเริ่มมีอาการปวดหลัง ทั้งนี้อาจต้องเอกซเรย์จึงทำให้ทราบว่าเป็นโรคนี้
ปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง – โรคไต นิ่ว
อาการปวดหลังบริเวณเหนือบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง มักเกิดจากความผิดปกติภายใน เช่น โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือมีถุงน้ำในไต ทำให้ไตทำงานได้น้อยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไตติดเชื้อ ไตวายเรื้อรัง จนถึงขั้นไตหยุดทำงานถาวร นอกจากนี้โรคกระเพาะ ลำไส้ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ก็ส่งให้เกิดอาการปวดหลังบริเวณนี้เช่นกัน แต่โรคเหล่านี้มักจะมีอาการปวดท้องควบคู่กันด้วย สาวๆ เองอาจต้องระมัดระวังอาการ “ปวดหลัง” เหล่านี้ไว้ด้วยนะจ้ะ
ปวดหลังไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ – วัณโรคกระดูกสันหลัง
ทั้งนี้ เมื่อสาวๆ เกิดอาการ “ปวดหลัง” และมัก “มีไข้” ขึ้นตอนกลางคืน โดยที่ผู้ป่วยจะปวดหลังแบบไม่ทราบสาเหตุ ซีด และร่างกายโดยรวมอ่อนเพลีย อาจมีการติดเชื้อบางอย่าง เช่น แบคทีเรีย หรือวัณโรคกระดูกสันหลัง ซึ่ง “วัณโรคกระดูกสันหลัง” เกิดจากเชื้อวัณโรคชนิดเดียวกับที่ทำให้เป็นวัณโรคปอด หรือที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมาเชื้อแพร่กระจายไปที่กระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังทางระบบท่อน้ำเหลืองหรือหลอดเลือดดำ เข้าสู่ส่วนหน้าของกระดูกสันหลังส่วนที่ติดกับหมอนรองกระดูกสันหลัง แล้วเข้าไปทำลายกระดูกและหมอนรองกระดูก เมื่อถูกทำลายจะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูกหมอนรองกระดูกเลื่อน และเมื่อเข้าสู่ช่องไขสันหลัง จะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลัง จนทำให้เป็นอัมพาตที่ขา แต่ถ้าเป็นวัณโรคที่กระดูกและเกิดมีพยาธิสภาพเช่นเดียวกันก็จะให้เกิดอัมพาตที่แขนได้ หากปวดแบบนี้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด เพื่อตรวจและทำการรักษาโรคต่อไป
อย่างไรก็ตามสาวๆ ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปนะคะ หากแค่มีอาการ “ปวดหลัง” ตามปกติ แล้วรู้สาเหตุอย่างเช่น เรานั่งนานเกินไป หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ แนะนำให้รีบขยับร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถทันที เพียงเท่านี้เราก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรคต่างๆ แล้ว นี่คือวิธีการป้องกันโรคภัยที่อาจเกิดจากอาการปวดหลังได้
ขอขอบคุณ https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1880199