โครงการธุรกิจเยียวยาสังคม

 

สถานการณ์บ้านเมืองจากนี้ไป ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่า New Normal กันจริงๆจังๆ เรื่องของปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ การแสวงหากำไร หรือรายได้ คงจะถูกทดแทนด้วยการช่วยเหลือจุนเจือทางสังคมมากกว่า

 

ชอบใจโครงการ Caf’e Amazon for Chance ที่เป็นหนึ่งใน โครงการธุรกิจเพื่อสังคม ต่อยอดจากการนำความสำเร็จของ ธุรกิจคาเฟ่อเมซอน มาสร้างคุณค่าทางสังคม ผ่านบริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด ในการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

 

การเริ่มต้นด้วยการให้โอกาส เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะถ้าไม่มีโอกาส ก็ไม่มีการเริ่มต้น ตรงนี้ต่างหาก คือ แนวคิดวิถีใหม่ ที่สังคมไทยควรที่จะเรียนรู้และยอมรับในการอยู่ร่วมกันทางสังคมด้วยการช่วยเหลือเยียวยา มากกว่าที่จะฉวยโอกาส

 

คาเฟ่ที่ว่านี้ ได้ให้โอกาส คนพิการทางการได้ยิน และ ผู้บกพร่องการเรียนรู้ ให้มีงานประจำมีรายได้ที่แน่นอน รวมถึงการสร้างศักยภาพให้กลุ่มดังกล่าว ในด้านธุรกิจกาแฟ มีการเริ่มอบรมจากหลักสูตรบาริสต้าที่ศูนย์ฝึกอบรม Amazon Inspiring Campus ตามมาตรฐานของ ร้านคาเฟ่ อเมซอน และเข้าฝึกงานที่ ร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก่อนที่จะไปปฏิบัติงานจริง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมพนักงานทั่วไป

 

ตั้งแต่ปี 2562-2563 ร้านกาแฟ Caf’e Amazon for Chance เปิดดำเนินการแล้ว 8 สาขา ที่มหิดลศาลายา 2 สาขา สาขาหอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา สาขาสนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต สุวรรณภูมิ สาขาโรงพยาบาลแหลมฉบัง สาขา ปตท.สำนักงานใหญ่ สาขานาวิกโยธิน และสาขากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งมีผู้พิการทางการได้ยินเข้าร่วมงานจำนวน 16 คน และพิการทางการเรียนรู้จำนวน 2 คน ผู้สูงวัย 5 คน ทหารผ่านศึกที่พิการและครอบครัว จำนวน 3 คน โดยมีแผนที่จะขยายอีกหลายสาขา นอกจากนี้ เพิ่มจำนวนผู้ที่จะได้รับโอกาสไปยังกลุ่มเด็กหญิงจากบ้านเด็กหญิงธัญญาพรต่อไปด้วย

 

ปัจจุบันคาเฟ่อเมซอนมีกว่า 3 พันสาขาทั่วประเทศ มีการเปิดกิจการร้านกาแฟในต่างประเทศหลายประเทศ เป็นแบรนด์ร้านกาแฟของไทย ที่เริ่มบุกตลาดต่างประเทศและได้รับความสนใจเกินคาด

 

ในอีกมิติการที่คาเฟ่อเมซอนได้เป็นผู้นำในการนำนวัตกรรมด้านวัสดุรีไซเคิลจากบริษัทกลุ่ม ปตท.มาใช้ภายในร้านเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและได้ให้โอกาสกับสังคม เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างนวัตกรรมกับโครงการธุรกิจเพื่อสังคม เป็นการเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมในยุค New Normal ที่น่าสนใจ

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thairath.co.th/news/society/1886361

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *