Curious People “สวนบำบัด” แค่ต้นไม้กระถางเดียว…ก็สุขได้แล้ว

รู้ไหมว่าเพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักหนึ่งกระถางก็สามารถช่วยบำบัดหรือส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กพิการได้?

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูความบกพร่องและความเจ็บป่วย แบบหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในแวดวงสุขภาพทั่วโลก นั่นคือการใช้กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพืชและสวน หรือกระบวนการที่เราเรียกว่า ‘สวนบำบัด’ (Horticultural therapy)

 

แม้จะเรียกว่า ‘สวน’ แต่ก็ไม่ได้หมายความถึงการพาตัวเองไปอยู่พื้นที่สีเขียวร้อยไร่พันไร่เท่านั้น แต่ยังเป็นการหยิบเอาจุดเด่นของธรรมชาติ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ จัดสวน หรือแม้กระทั่งเพาะถั่วงอกแปลงเล็กๆ ซึ่งข้อดี นอกจากจะเป็นงานอดิเรกที่ใครๆ ก็ทำได้แล้ว ยังช่วยให้จิตใจ และร่างกายฟื้นพลังกลับคืนมาด้วย

 

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แนวคิดนี้แปลกใหม่หรือดีอย่างไร Curious People พาทุกคนไปค้นหาความหมายของสวนบำบัด ผ่าน นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ แล้วคุณจะรู้ว่า การบำบัดไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

 

 

สวนบำบัดคืออะไร?

 

ความจริงแนวคิดสวนบำบัดมีมานานแล้ว Dr. Benjamin Rush บิดาแห่งจิตวิทยาอเมริกา และผู้ลงนามในคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา เคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับผลดีที่เกิดขึ้นจากการทำสวนในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต กระทั่งในช่วง ค.ศ.1940-1950 โรงพยาบาลบางแห่งก็นำแนวคิดเรื่องการทำสวนมาใช้ฟื้นฟูทหารผ่านศึก ปรากฏว่า สุขภาพร่างกายของพวกเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้แนวคิดกลายเป็นหนึ่งในวิธีที่โรงพยาบาลหลายแห่งนำมาปรับใช้ ทั้งการสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีนักสวนบำบัด เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง จากนั้นแนวคิดนี้ก็เริ่มขยาย และถูกต่อยอดไปสู่มิติอื่นๆ มากขึ้น

 

 

“สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว อาจจะใช้ในการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือเพื่อนันทนาการก็ได้ ซึ่งเป็นความหมายที่กว้างขึ้น”

 

สำหรับเมืองไทย แนวคิดนี้เริ่มเข้ามาเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว โรงพยาบาลศรีธัญญาเป็นแห่งแรกที่ใช้ โดยนำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายความตึงเครียด

 

ต่อมามูลนิธิเพื่อเด็กพิการ จึงได้นำกระบวนการนี้มาทดลองกับเด็กโรคสมองพิการหรือซีพี ซึ่งหลังจากพาเด็กๆ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างชัดเจน เป็นเหตุผลให้มูลนิธิพัฒนาแนวคิดสวนบำบัดขึ้น และจัดอบรมให้กับผู้ปกครองเด็กพิการ พี่เลี้ยง ครู ปัจจุบันมีผู้ผ่านอบรมไปแล้วร่วม 200 คน

 

แต่ถึงจะขึ้นว่าเรียกว่า สวน แต่ในโลกของความเป็นจริง การจะหาพื้นที่สีเขียวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ในเมืองด้วยแล้ว ดังนั้น สวนบำบัดจึงไม่จำเพาะแค่ ‘สวน’ แต่มันอาจหมายถึงต้นไม้สักกระถางหนึ่งที่ปลูกในบ้านหรือในคอนโดมิเนียมก็ได้

 

คุณหมอประพจน์ เล่าว่า ถ้าพูดถึงต้นไม้กระถางก็คงไม่ใช่สวน แน่นอนว่าการมีพื้นที่สีเขียวกว้างขวางย่อมดีกว่า แต่บางครั้งเราอาจนำเพียงส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ก็ได้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ แม้แต่การปั้นดิน ใบไม้สักใบ กิ่งไม้สักกิ่ง ล้วนถือเป็นส่วนหนึ่งของสวนบำบัดได้ทั้งสิ้น

 

 

ไม่ยากอย่างที่คิด

 

คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า แบบไหนที่เรียกว่าสวนบำบัด แบบไหนที่ไม่ใช่ จากคำอธิบายของคุณหมอ บอกว่า สวนบำบัดจะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน อย่างแรกคือ ต้องมีต้นไม้หรือองค์ประกอบของต้นไม้ใบหญ้า ต่อมาคือต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้ เพื่อจัดกิจกรรมให้เหมาะกับผู้เข้ารับการบำบัด และสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น การประเมินความพิการของเด็ก การประเมินกิจกรรม และการประเมินผลหลังกิจกรรม

 

อย่างในหลักสูตรที่สอน ก็จะครอบคลุมเนื้อหา ตั้งแต่สวนบำบัดคืออะไร เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ มีการนำความรู้ด้านการทำสวนกับการบำบัดมาผสมผสานเชื่อมโยงกัน เรียนรู้วิธีการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วเลือกกิจกรรมที่ช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน

 

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร”

 

 

อ่านถึงตรงนี้อาจรู้สึกว่า ยากเย็นซับซ้อนเสียเหลือเกิน แต่คุณหมอยืนยันว่า ไม่ยากอย่างที่คิด และยังสามารถประยุกต์ได้หลากหลายวิธี

 

“ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดต้องประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กพิการก่อน เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ นี่เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม

 

“แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว เราก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจเป็นสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้ เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ คนนำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการทำกิจกรรมอะไร และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร”

 

กิจกรรมสวนบำบัดจึงสามารถออกแบบเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านก็ได้หรือบูรณาการเพื่อพัฒนาหลายๆ ด้านพร้อมกัน เช่น กิจกรรมเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาประสาทสัมผัส พัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ อย่างการดมกลิ่นดอกไม้หรือสมุนไพร การสัมผัสพืชผักเพื่อเรียนรู้รูปทรง การนับเมล็ดพืช เป็นต้น

 

การทำกิจกรรมสวนบำบัดจึงไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เพิ่มเติมความรู้ด้านสวนบำบัดเข้าไป ผู้ปกครองเด็กพิการก็สามารถนำไปใช้ทำกิจกรรมกับลูกได้ ทั้งมันยังช่วยให้ผู้ดูแลรู้สึกผ่อนคลายได้อีกด้วย

 

 

ถึงเวลา ‘สวนบำบัด’

 

แม้ก่อนหน้านี้จะมีบางโรงพยาบาลหยิบกระบวนการนี้มาใช้ และไม่ใช่วิธีบำบัดที่ทำยากนัก แต่น่าแปลกใจว่าทำไมในบ้านเรา แนวคิดเรื่องสวนบำบัดจึงไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

 

ดังเช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ซึ่งระบุวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไว้ถึง 26 รายการ แต่ยังไม่มี ‘สวนบำบัด’ อยู่ในนั้น ด้วยหตุนี้เอง มูลนิธิเด็กพิการจึงพยายามผลักดันให้บำบัดถูกประกาศเป็นกิจกรรมที่ 27

 

“เราต้องการให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือแสดงให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ภายใต้ พ.ร.บ.พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการจัดตั้งศูนย์บริการผู้พิการขึ้น ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยอมรับแล้วว่าศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่ง ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะช่วยให้เกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน”

 

ส่วนในอนาคต เมื่อมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก็จะสามารถผลักดันให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดกิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะทำให้รับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

 

กว่าจะถึงวันนั้น

 

เรื่องกฎหมายคงต้องอาศัยเวลา สิ่งที่ทำได้ก่อน คือการกระจายความรู้ด้านสวนบำบัดออกไป

 

คุณหมอบอกว่าสวนบำบัดในเมืองไทยเวลานี้มีการกระจายไปแล้วประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มนำไปใช้ ที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็ใช้ส่วนบำบัดกับเด็กที่พิการ และน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 แห่งที่ทำกิจกรรมสวนบำบัดให้กับลูกๆ

 

“สำหรับในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ พี่เลี้ยง ครู หรือบุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เพราะพื้นฐานของเราเป็นเกษตรกรรมอยู่แล้ว เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก พัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้ เราสามารถสอนพ่อแม่ สอนคนในชุมชนให้ทำ เราเพียงใส่ความรู้เข้าไปอีกนิดหน่อย”

 

รู้อย่างนี้แล้ว เวลาคุณเห็นดอกไม้ร่วงหล่นบนพื้นหรือมีผักอยู่ในห้องครัว คุณก็สามารถหยิบมันขึ้นมาเพื่อช่วยให้พัฒนาการของเด็กพิการคนหนึ่งดีขึ้นได้

 

เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ: มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.facebook.com/curiouspeople.me/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *