- “ปรับทัศนคติตัวเราก่อน”
เด็กเหมือนฟองน้ำ ที่ซึมซับทุกอย่าง ถ้าเรายังเชื่อว่าความพิการคือ เรื่องน่าสงสาร โชคร้าย น่ากลัว น่ารังเกียจ ลูกจะซึมซับสิ่งเหล่านั้นได้ไม่ยาก - “อย่าตกอกตกใจในความอยากรู้”
มันโอเคมากๆ ที่เด็กจะสงสัย “ทำไมเค้าเดินไม่ได้” “ทำไมเค้าตาบอด” การมีท่าทีปกติ ตอบคำถามตรงไปตรงมา ด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติ ทำให้เด็กเข้าใจว่าการคุยเรื่องความพิการมันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว - “สอนลูกเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย” แบบตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องใส่ทัศนคติ
“โลกเรามีคนที่เกิดมาตามองไม่เห็นจ้ะ” “แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไร แต่ก็มีคนที่อาจจะได้รับอุบัติเหตุบางอย่างแล้วเดินไม่ได้” “เส้นประสาทของบางคนสั่งการได้ช้า” “บางคนในโลกมีขาข้างเดียว บางคนก็มีขาสองข้าง” - “สอนให้เข้าใจ “ความเหมือน””
ความแตกต่างทางร่างกาย ไม่ได้ทำให้แตกต่างไปในความเป็นมนุษย์ “เพื่อนลูกเค้าอาจจะพูดยังไม่ได้ แต่เค้าก็ชอบให้มีคนมาเล่น ชอบยิ้มมีความสุข เหมือนกับลูกเลย” “เค้าอาจจะมองไม่เห็น แต่เค้าก็มีความสุขเวลาได้ฟังดนตรี” “เค้าคงไม่ชอบให้ใครมาล้อ เหมือนที่เราไม่ชอบให้ใครมาล้อเรา” - หลีกเลี่ยงการสอนด้วยคำว่า “น่าสงสาร”
คนเหล่านี้น่าจะอยากถูกยอมรับด้วยความเข้าใจความแตกต่าง ไม่ใช่ถูกเวทนา หรือถูกมองว่าไม่เหมือนคนอื่น - หลีกเลี่ยงประโยค “เราโชคดี”
“เราโชคดี” คนเหล่านี้โชคร้าย เป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง การสอนให้เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องยกตัวเทียบกับคนอื่น ความเห็นใจเกิดได้ โดยไม่ต้องเพิ่ม “อัตตา” ของตัวลูก - สอนให้ “เห็นใจ” ด้วยความ “เข้าใจ”
“ลูกคิดว่าถ้าเป็นเรา เราจะเผชิญความลำบากในการใช้ชีวิตยังไงบ้าง” “ถ้าเป็นเรา เราอยากให้ใครปฏิบัติกับเราอย่างไร” - “สอนให้เห็นศักยภาพ”
คนเหล่านี้ มีศักยภาพที่ดีเสมอ สอนลูกให้เห็นว่าคนเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเอง พัฒนาตัวเองได้เก่งอย่างไร “ดูสิ พี่เค้าไม่มีแขน แต่แก้ไขโดยการฝึกใช้ปากเขียนได้เก่งมากๆเลย” - “สอนการช่วยเหลือที่เหมาะสม”
การเป็นเด็กใจดี เป็นเรื่องที่เราควรปลูกฝัง ในขณะเดียวกัน การเคารพในผู้อื่นก็เป็นเรื่องสำคัญ สอนลูกว่าก่อนเราจะช่วยอะไร ควรถามความสมัครใจด้วยเสมอ “อยากให้หนูช่วยพาเดินไปมั้ยคะ” เพราะหลายครั้ง ไม่ได้มีใครต้องการรับความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา… แม้ว่าเค้าจะแตกต่าง
ลองเอาไปปรับใช้คุยกับลูก… ให้เป็นเรื่องปกติของโลก
ขอบคุณ: เพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน