สปสช. หนุน ระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ดึงบทบาท อสม. ดูแลผู้ป่วยสูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เชื่อมโยงโรงพยาบาล และเครือข่ายในพื้นที่ ทุกคน ทุกช่วงอายุ ทุกสิทธิการรักษา
ปี 2559 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำ“ระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง” (Long Term Care : LTC) เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง คือ มีคะแนนประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 11 คะแนน ประชาชนไทยทุกสิทธิและทุกกลุ่มวัย ให้ได้รับบริการด้านสาธารณสุข ที่เชื่อมโยงกับบริการทางสังคม ให้ได้รับบริการดูแลระยะยาวเชิงรุกที่บ้านหรือที่ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ
โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแล เยี่ยมบ้าน ส่งยาถึงบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้รับบริการอย่างครบถ้วน คนที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้านไม่เครียดจนเกินไป ตามที่ สปสช. ให้การสนับสนุนงบประมาณ ให้ดูแลประชาชน เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในระบบ Long Term Care 6,000 บาทต่อปีต่อคน
สำหรับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. เพื่อจัดระบบ Long Term Care (LTC) รวมกว่า 48,975,000 ล้านบาท มีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลจำนวน 4,774 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นการสนับสนุนใน อ.แม่ริม 391,500 บาท ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 324 ราย
ขณะที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งแยงใน (รพ.สต.) อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ริม ประมาณ 12 กิโลเมตร ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน 1,733 หลังคาเรือน ประชาชน 8,887 คน มีจำนวน อสม. 206 คน โรงเรียน 5 แห่ง ศูนย์เด็กฯ 7 แห่ง ศาสนสถาน 13 แห่ง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้เข้าร่วมระบบ Long Term Care (LTC) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง จำนวน 65 ราย ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 10 ราย ผู้พิการ 26 ราย อุบัติเหตุ 6 ราย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 812 ราย ผู้ป่วยโรคไต 25 ราย ผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) เข้าระบบแล้ว 43 ราย ผู้จัดการระบบ (Care Manager) 1 คน ผู้ช่วยเหลือผู้ดูแล ซึ่งเป็นอสม. ที่ผ่านการอบรม 70 ชั่วโมง (Care Giver) 11 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 205,000 บาท
แนวทางการดำเนินงานเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน Long Term Care (LTC) “บุญสืบ ศรีไชยวงศ์” ผอ.รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน อธิบายว่า Care Manager ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ จะทำการประเมินคะแนนความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย พร้อมจัดทำ Care Plan ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงและผู้มีภาวะพึ่งพิง เมื่ออนุกรรมการ LTC ตำบลอนุมัติ แล้ว Care giver จะลงเยี่ยมและให้การดูแลผู้ป่วย พร้อมกับส่งยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบนที่สูง ให้คำแนะนำญาติในการดูแลผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ในการพาลุก นั่ง เดิน อย่างถูกวิธี
ยุพิน งามตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ในฐานะ Care Manager อธิบายว่า การประเมินคะแนนความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย หรือ ADL จากคะแนนเต็ม 20 ได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ADL 11 หรือน้อยกว่า เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว การขับถ่าย จะเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้ง มีจำนวน 28 ราย กลุ่มที่ 2 ADL 7-11 ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ร่วมกับปัญหาทางด้านสมอง มีความสับสนทางสมอง เยี่ยมบ้านเดือนละ 2 ครั้ง มีจำนวน 4 ราย กลุ่มที่ 3 ADL 4-7 คือ กลุ่มติดเตียง ไม่มีปัญหาด้านการกิน กลืน เยี่ยมบ้านสัปดาห์ 1 ครั้ง จำนวน 7 ราย และ กลุ่มที่ 4 ADL 0-4 คือติดเตียง มีปัญหาการกิน การกลืน เยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 4 ราย
โดยตัวอย่างกรณี แม่อุ้ยเป็ง หรือนางเป็ง ปันธิยะ อายุ 99 ปี ชาว ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ 2 มีโรคประจำตัว อัลไซด์เมอร์ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีอาการหลงลืม อยู่ร่วมกันกับลูกสาว ลูกเขย และหลาน ดูแลผลัดเปลี่ยนกัน แม้แม่อุ้ยเป็ง จะสามารถนั่ง เดินไปเข้าห้องน้ำได้ แต่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับ “วิเชียร ปันธิยะ” อายุ 44 ปี เกิดอุบัติเหตุเลือดออกในสมองเมื่อเดือนเมษายน จากผู้ป่วยที่อาการหนัก ต้องเจาะคอ และกลับไปฟื้นฟูร่างกายที่บ้าน ได้รับความร่วมมือทั้งจาก รพ.สต ทีม อสม. ความใส่ใจของญาติ และทีม รพ.นครพิงค์ ทำการติดตามอาการผ่านระบบเทเลเมดิซีน ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ปัจจุบัน วิเชียร ยังไม่ได้อยู่ Long Term Care เนื่องจากอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
บัวแก้ว มูลสม อายุ 52 ปี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.โป่งแยง และในฐานะ Care Giver บอกว่า ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย Long Term Care เคสแม่อุ้ยเป็ง เดือนละ 2 ครั้ง นำยามาส่ง ชวนพูดคุย ให้คำแนะนำญาติ แนะนำอาหารการกิน ทำกายภาพบำบัด นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่ร่วมกับ Care Manager ในการดูแลหมู่บ้านอื่นด้วย
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งแยง โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงตำบลโป่งแยง ที่ อบต. เพื่อใช้ดำเนินงานและสนับสนุนงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
“วัน ม่วงมา”นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งแยง ระบุว่า เนื่องจากพื้นที่โป่งแยง เป็นภูเขา อสม. เดินทางลำบาก ทางอบต. ได้ให้การสนับสนุนยานพาหนะเมื่อได้รับการร้องขอ เพื่อรับ-ส่งผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง กรณีต้องไปเข้ารับการรักษาที่ รพ.นครพิงค์ หรือ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน หรือเพื่อให้ Care Giver ใช้เดินทางไปเยี่ยมผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ห่างไกล
ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของ อบต.โป่งแยง ร่วมลงพื้นที่เพื่อประเมินผู้มีภาวะพึ่งพิง และจัดทำฐานข้อมูลอำนวยความสะดวกผู้ที่เดินทางลำบาก จัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยเอดส์ ผู้มีภาวะพึ่งพิง และอบต.โป่งแยง สร้างระบบยืนยันสิทธิเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพแบบออนไลน์ในปีนี้เป็นปีแรก เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ที่เดินทางลำบาก และลดการรวมกลุ่มของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การส่งยาถึงบ้าน และดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง โดย อสม. ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล และคนดูแลไม่เครียดจนเกินไป อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ ระบบเทเลเมดิซีน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งสปสช.ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยทางไกลด้วยเทเลเมดิซีน ในปีงบประมาณ 2564