มีใครบางคนกล่าวว่า…คนพิการเป็นคนจนที่สุด ในหมู่คนจนทั้งหลาย ตรงนี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนว่านอกจากผู้พิการจะมีอุปสรรคจากความไม่สมประกอบทางร่างกาย ยังเป็นกลุ่มคนที่ถูกซ้ำเติมจากการดำรงชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพอีกด้วย
เพราะจากข้อมูลของกรมส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้พิการที่จดทะเบียนทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งหมด โดยจำนวนนี้มีผู้พิการที่อยู่ในวัยแรงงานคืออายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 8 แสนคน หรือร้อยละ 44.5 แบ่งย่อยเป็นผู้พิการที่มีงานทำจำนวน 2.2 แสนคน ผู้พิการที่ทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ 4.5 แสนคน และมีผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงาน แต่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากพิการรุนแรงอีกราว 1.2 แสนคน
จำนวนตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าผู้พิการถึง 5.7 แสนคน ที่ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้พิการกลุ่มนี้ได้อย่างไร และด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด
“ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้เป็นผู้ริเริ่มศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน โดยเขามองว่าการสร้างงานให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพอิสระจนดำรงตนอยู่ได้จะเป็นทางออกที่ช่วยให้ผู้พิการที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ หลุดพ้นจากความยากจน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขี้นได้
“ทางออก หรือแนวทางที่จะช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจน และไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จะต้องให้ผู้พิการ และครอบครัวประกอบอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตนเอง โดยอาชีพเหล่านั้นต้องเป็นอาชีพ อิสระ ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดีเพียงพอ ที่สุดจึงมีการสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมด้านอาชีพ โดยออกแบบหลักสูตรมาเพื่อคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และครอบครัวของผู้พิการให้เข้ารับการอบรมภาคทฤษฎี 93 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 507 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 100 วัน
ทั้งนี้ ผู้พิการ หรือผู้ดูแลผู้พิการจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่ศูนย์ เรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำคือการเพาะปลูก กลางน้ำคือการหาตลาด บริหารต้นทุน ไปจนถึงปลายน้ำคือการแปรรูป ปัจจุบันทางศูนย์ฝึกอาชีพ 3 ด้าน คือการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำใช้เวลา 45 วัน ทั้งยังเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดสูง
“จุดเด่นของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน นอกจากฝึกอาชีพด้านเกษตร ผู้พิการยังจะได้องค์ความรู้ในด้านงานบริการจากการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร เพราะพื้นที่ 33 ไร่ มีการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เหมาะแก่การแวะพัก มีที่พักรองรับคนทุกวัย บุคลากรผู้พิการจะมาปฏิบัติงาน หรือส่งผลิตผลเกษตรมาเป็นวัตถุดิบของร้านอาหาร เสมือนเป็นการสร้างงานอย่างเป็นระบบ”
ขณะนี้อยู่ในขั้นระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” ที่มีผู้พิการกว่า 40 ชีวิตรวมพลังปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ- เชียงใหม่ ล่าสุดมีการระดมทุนได้แล้วกว่า 30 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน แต่ระหว่างที่ศูนย์ยังไม่แล้วเสร็จ ผู้พิการจะเข้าอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพผู้พิการแม่ริม เพื่อเป็นพื้นที่ชั่วคราว โดยเริ่มดำเนินการฝึกอาชีพไปแล้ว 2 รุ่น”
“ศ.วิริยะ” กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยให้โอกาสแก่ผู้พิการเพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกด้อยค่า เพราะเราต้องการพัฒนาศักยภาพ และให้โอกาสในการทำงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับพวกเขา
“ทั้งยังพยายามทำให้พวกเขาปราศจากอุปสรรคจากการเดินทาง หรือการใช้ชีวิต ดังนั้น หากเราขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้ได้ คนพิการจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขเหมือนกับคนปกติทั่วไป เพราะจริง ๆ แล้วความพิการเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญ และความไม่สะดวกเท่านั้นเอง”
“ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เรามีนโยบายสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการมาโดยตลอด ผ่านการจ้างงานผู้พิการทำงาน ตามมาตรา 33 ซึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์มีการจ้างงานผู้พิการมากกว่า 1,000 คน และผ่านการอบรมให้ความรู้ผู้พิการ ตามมาตรา 35 โดยมีการร่วมมือกับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร ทั้งยังเป็นหนึ่งช่องทางการตลาด โดยรับซื้อผักไฮโดรโปนิกส์จากศูนย์อีกด้วย
“สำหรับแผนระยะยาว เราจะนำรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามายกระดับ ระยะแรกจะเปิดหลักสูตรบาริสต้า ทั้งผ่านการจ้างงานผู้พิการเพื่อเข้ามาทำงานที่ร้านทรู คอฟฟี่ และรูปแบบที่สองคือการจัดอบรมเพื่อให้ผู้พิการที่สนใจเปิดร้านกาแฟ มีองค์ความรู้เพื่อนำไปเปิดร้านของตนเอง เบื้องต้นเรามีการนำร่องจ้างงานผู้พิการทางการได้ยินมาเป็นบาริสต้าในร้านของเราแล้ว ทั้งยังมีแผนเพิ่มจำนวนบาริสต้าคนพิการมากขึ้น โดยเน้นสาขาที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว หรือในมหาวิทยาลัยก่อน”
“พิษณุพงศ์ ทรงคำ” ผู้จัดการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุปสรรคในการจ้างงานของสถานประกอบการคือเรื่องความไม่พร้อมของสถานที่ เช่น ทางลาด ห้องน้ำที่มีราวจับ หรือมีขนาดใหญ่ให้รถเข็นเข้าไปได้ รวมทั้งลิฟต์ขนส่ง นอกจากนี้ แม้แต่พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ไม่เอื้อให้ผู้พิการใช้ชีวิต ทั้งเครื่องหมายบนพื้นที่บอกระยะของถนนสำหรับผู้พิการทางสายตา ทางลาดเพื่อให้รถเข็นสามารถสัญจรบนฟุตปาท หรือทางลาดเพื่อข้ามถนน
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหลายฝ่ายมองข้ามผู้พิการ ทั้งยังตอกย้ำให้เกิดความต่างระหว่างคนปกติ และคนพิการมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน จึงเป็นต้นแบบของภูมิสถาปัตย์ ที่ออกแบบเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้ได้ หรือที่เรียกว่า universal design โดยมีทางลาดสำหรับรถเข็น ในห้องน้ำจะมีราวจับ และมีขนาดใหญ่พอให้รถเข็นสามารถเข้าไปใช้ได้ การออกแบบดังกล่าวไม่เพียงเอื้อประโยชน์ต่อผู้พิการ ยังเอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก และคนทั่วไปอีกด้วย เพราะการออกแบบดังกล่าวมีการลบเหลี่ยมคมต่าง ๆ ออกไป เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ” จึงนับเป็นเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นต่อไปในสังคมไทยของเรา
ขอบคุณ… https://www.prachachat.net/csr-hr/news-123291