กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดแถลงข่าวความสำเร็จของนิทรรศการ “บทเรียนในความมืด : Dialogue in the Dark” นิทรรศการจากประเทศเยอรมนี หวังสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากการมองเห็น และเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่อย่างมีคุณค่า จัดแสดง ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่าการค้นหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น “การสังเกต” คือ ขั้นตอนแรกในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ตา หู จมูก ลิ้นและร่างกาย ในการรับรู้สภาพแวดล้อม แต่คนส่วนใหญ่ใช้การมองเห็นเป็นสัมผัสแรกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ และเป็นสัมผัสที่เกิดการพัฒนาไปมากที่สุดสัมผัสหนึ่ง จนบางครั้งอาจมากจนเราลืมไปว่า ยังมีสัมผัสส่วนอื่นๆ อีกที่อยู่ในร่างการของเราอีก และเราจะเป็นอย่างไรหากเราขาดประสาทสัมผัสส่วนนี้ไป และที่สำคัญเมื่อถึงเวลานั้น เราจะเลือกสัมผัสใดมาทดแทนการมองเห็น ซึ่งนิทรรศการ “บทเรียนในความมืด : Dialogue in the Dark” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงความสำคัญของประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ในร่างกาย
ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา นิทรรศการบทเรียนในความมืดได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมรวมกว่า 120,000 คน ซึ่งมีจากหลากหลายกลุ่มคน อาทิ นักเรียนนักศึกษาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบนวัตกรรมเครื่องใช้สำหรับ ผู้พิการทางสายตา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้าชมเพื่อสร้างความเข้าใจในความต้องการของผู้พิการ นอกจากนี้ นิทรรศการบทเรียนในความมืด ยังได้รับรางวัล Best Innovation for Parenting อันดับที่ 2 จากงาน Amarin Baby & Kids Fair ครั้งที่ 6 โดยการโหวตของผู้อ่านนิตยสาร Real Parenting และบุคคลทั่วไปทั้งประเทศ ให้เป็นสุดยอดนวัตกรรมสำหรับครอบครัว อีกด้วย
สำหรับในปีที่ 8 นี้ อพวช. มีแนวทางในการพัฒนากิจกรรมเสริมนิทรรศการให้ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น เพิ่มกิจกรรมพิเศษโดยดึงบุคลากรทางด้านการศึกษาเข้ามาเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากนิทรรศการบทเรียนในความมืด ให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกทางหนึ่ง เพื่อปลูกฝังการอยู่ร่วมกันกับผู้พิการทางสายตาแบบเท่าเทียม เรียนรู้ถึงข้อจำกัดและเห็นศักยภาพของผู้พิการทางสายตากับการดำรงชีวิตในสังคมปกติ และท้ายสุดผู้เข้าร่วมกิจกรรมเองจะเกิดเรียนรู้ได้อีกมากมายจากการมองไม่เห็น
ด้าน ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา อดีตผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่านิทรรศการ “บทเรียนในความมืด” เป็นแนวคิดของ Dr.Andreas Heinecke ชาวเยอรมัน ซึ่งสร้างเป็นนิทรรศการชั่วคราวและถาวร โดย อพวช. ได้นำมาจัดแสดงครั้งแรกในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้เข้าชม จึงมีการเจรจาต่อสัญญาในการนำมาจัดแสดงต่อ ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องการใช้เวลาว่างอย่างมีคุณภาพในการแสวงหาความรู้ เพิ่มประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ตนเองได้เข้ามาใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้ปฎิบัติหน้าที่เป็นไกด์นำทางภายในนิทรรศการนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของของผู้พิการทางสายตาให้เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม โดยในปัจจุบันมีเปิดให้บริการ 21 ประเทศ 28 เมืองเท่านั้น สำหรับประเทศไทย อพวช. ได้รับลิขสิทธ์แต่เพียงผู้เดียว
ผศ.ดร.รวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า นิทรรศการบทเรียนในความมืดจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเชื่อมต่อ ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ เข้าใจและยอมรับคนอื่นมากขึ้น พร้อมสร้างความตระหนักในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างจากตัวเราได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
สำหรับผู้สนใจเข้าเข้าชมนิทรรศการบทเรียนในความมืด จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. สามย่าน เปิดให้บริการเป็นรอบ ๆ ทุกวัน โดยในวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.30 -18.30 น. จองและสอบถามเงื่อนไขในการเข้าชมที่ โทร. 02 160 5356 ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://www.nsm.or.th/ ,https://www.facebook.com/NSMthailand หรือ https://www.facebook.com/didthailand (ขนาดไฟล์: 0 )