“บุญลือ” ปธ.กมธ.กีฬาฯ พร้อมดันแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 ให้ตอบโจทย์การพัฒนากีฬาได้จริงในทุกมิติ ทุกยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาต้องปฏิบัติได้จริง เอื้อประโยชน์ตั้งแต่คนเล่นกีฬาทั่วไปจนถึงนักกีฬาอาชีพที่สร้างชื่อเสียงและรายได้เข้าประเทศ
วานนี้ (2 ก.ย.) ห้อง 402 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในที่ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (2565-2570) โดยมีกรรมาธิการและคณะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการได้เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ซึ่งได้เชิญ น.ส.ดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ดร.วริทธิ์ พิพิธพจนการณ์ ผู้แทนกองงานคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 และ ฉบับที่ 7 เข้าร่วมประชุม
คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเห็นว่า ข้อบกพร่องของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 1-5 เป็นแผนที่ดำเนินการจัดทำโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพียงลำพัง มิได้เชิญหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมจัดทำแผน จึงเกิดปัญหาในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้
จากข้อจำกัดของหน่วยงาน และศักยภาพในการปฏิบัติ ผลการประเมินแผนจึงพบว่า ล้มเหลว วัตถุประสงค์ของแต่ละยุทธศาสตร์บรรลุตามตัวชี้วัดในระดับต่ำมาก
ในส่วนการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2560-2564) นั้น เริ่มมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการศึกษาปัญหาของแผน 1-5 และได้เริ่มแก้ไขปัญหาเรื่องการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการกีฬาของประเทศ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น มาร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา ด้วยการยกร่างแผน 6 ร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น
โดยทุกหน่วยงานได้เสนอโครงการด้านการกีฬาในความรับผิดชอบ และร่วมกันพิจารณาโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานนั้นๆ สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม แผน 6 จึงเน้นการทำงานแบบเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายมากขึ้น มีงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการทำงาน มีคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ หรือซูเปอร์บอร์ดคอยดูทิศทาง รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ และอุตสาหกรรมกีฬา เกิดขึ้นควบคู่กันไป
ซึ่งขณะนี้แผน 6 ได้เดินทางมาถึงครึ่งแผนหลัง และได้มีการจัดทำการประเมินแผนในระยะครึ่งแผนแรกปี 60-62 ไปเรียบร้อยแล้ว
ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการได้แสดงความห่วงใยในประเด็นการประเมินผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ไปสู่การปฏิบัติ ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการประเมินผลหรือไม่ และผลเป็นอย่างไร และในระยะ 2 ปีสุดท้ายของแผน 6 คือ ปี 2563-2564 นั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้การจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ฉบับปรับปรุง ระยะสิ้นสุดแผนหรือไม่ และมีผลการดำเนินการเป็นอย่างไร
รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570) อย่างไร มีแผนและขั้นตอน รวมทั้งมีแผนงบประมาณในการดำเนินการอย่างไร
ด้าน น.ส.ดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการประเมินผลแผน 6 ในระยะครึ่งแผนแรกไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแผน 6 ฉบับปรับปรุง (ปี 2563-2565) แต่มีปัญหาในเรื่องการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่ล่าช้า ประกอบกับมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องยกยอดการจัดทำแผน 6 ปรับปรุง ไปเป็นแผน 7 (ปี 2565-2570) ในคราวเดียว
โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการจัดจ้างการทำแผน 7 ตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งจะเรียนเชิญผู้แทนคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำแผน 7 เพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญในการดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ดร.บุญลือ ได้กล่าวสรุปว่า “แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีความสำคัญต่อการพัฒนาการกีฬาของประเทศเป็นอย่างยิ่ง การจัดทำแผน 7 นั้น ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงระดับอาชีพที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ประเทศ ต้องปฏิบัติได้จริงทุกยุทธศาสตร์ และต้องแก้ปัญหาการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติได้ ที่สำคัญต้องมีความชัดเจนในการปฏิบัติเรื่องต่างๆ เช่น สนามกีฬา อาสาสมัครการกีฬา (อสก.) Sport City e-Sports กีฬาคนพิการ และการกระจายอำนาจลงสู่ภูมิภาค เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสรุปผลการประเมินแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 1 -6 ว่ามีผลเป็นอย่างไร และมีแผนการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 เมื่อใด อย่างไร แล้วเสนอต่อคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบต่อไป