ขสมก.สำรวจความเห็นทุกภาคส่วน สร้างความเชื่อมั่นแผนฟื้นฟูฯฉบับใหม่

 

ขสมก. รับฟังเสียงนักวิชาการ ,ตัวแทนประชาชน ผ่าแผนด้านการให้บริการและการแก้ปัญหาขาดทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ พร้อมเสนอ ครม. กันยายนนี้

 

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดือนกันยายนนี้ ซึ่งช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ขสมก.มีบทสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากตัวแทนประชาชนผู้ใช้รถเมล์, ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลด้านการลงทุนและให้ความรู้(Influencer) และนักวิชาการจากTDRIที่จะมาผ่าแผนฟื้นฟูฯขสมก.ฉบับใหม่ ในมุมมองแต่ละคนให้ได้ร่วมวิเคราะห์ไปด้วยกัน

 

ผ่าแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ฯ กับ 5 เป้าหมายการดำเนินการ ตอบโจทย์หรือไม่ ในมุมผู้ใช้บริการ
เป้าหมายที่ 1 : ลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ค่าโดยสารอัตราใหม่ 30 บาท/คน/วัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) บัตรรายเที่ยว บัตรรายเดือน สำหรับนักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป

 

นายพงษ์ (นามสมมติ) แอดมินเฟสบุค แฟนเพจ รถเมล์ไทยแฟนคลับ ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 1.5 แสนคน ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. มามากกว่า 29 ปี กล่าวถึงเป้าหมายการลดค่าครองชีพ และอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่าย 30 บ.ไม่จำกัดเที่ยว/คน/วัน ว่า “การลดภาระค่าครองชีพประชาชน เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพตกวันละประมาณ 200-300 บาท (บางคนอาจจะมีค่าใช้จ่ายประจำวันที่ถูกกว่านี้) แต่ค่าเดินทางสำหรับใครหลายๆ คนในปัจจุบันคิดเป็น 37% ของค่าใช้จ่ายรายวันทั้งหมด ยกตัวอย่าง ออกมาจากบ้าน เสียค่าวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างไป-กลับ 24 บาท ค่ารถเมล์ถูกสุด 8 บาท แพงสุด 25 บาท ไปกลับก็ 16-50 บาท นี่ยังไม่นับคนที่เดินทาง 2-3 ต่อ หรือเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟฟ้า ในการเดินทางไปทำงาน ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่านี้ ซึ่งในบางรายอาจสูงถึง 50% ของค่าใช้จ่ายประจำวัน

 

แต่การลดค่าครองชีพ ควรที่จะลงไปถึงทุกกลุ่มคน เนื่องจากบัตรเติมเงินปกติ 30 บาท/คน/วัน / บัตรรายเดือนสำหรับคนทั่วไป เหมาะสำหรับคนที่เดินทางด้วยรถเมล์หลายต่อหรือเดินทางด้วยรถปรับอากาศเพียงต่อเดียวทั้งขาไปและขากลับ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ใช้บริการด้วยรถโดยสารธรรมดา ที่ค่าโดยสารสูงสุดคนละ 12 บาทตลอดสาย/เที่ยว ไป-กลับคนละ 24 บาท อีกทั้งในอนาคตจะมีการใช้บัตรรายวัน 30 บาท ทั้งในรถ ขสมก. และรถเอกชน ซึ่งแน่นอนว่ารถ ขสมก. ต้องมาใช้รถปรับอากาศทั้งหมด แต่รถเอกชนยังมีรถธรรมดาให้บริการอยู่ มองว่าหากผู้โดยสารกลุ่มที่นั่งรถธรรมดาเพียงต่อเดียว เมื่อใช้บัตรค่าโดยสารวันละ 30 บาท จะไม่คุ้มค่ากับการใช้บัตรนี้

 

เป้าหมายที่ 2 : บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เส้นทางเดินรถไม่ทับซ้อนกัน รวม 162 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางของ ขสมก.จำนวน 108 เส้นทาง และเส้นทางของเอกชน จำนวน 54 เส้นทาง

 

นายชัย (นามสมมติ) แอดมินเฟสบุค แฟนเพจ เพจ Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ ยอดผู้ติดตามกว่า 6.3 หมื่นคน  เผยมุมมองและข้อเสนอแนะ เรื่องการปรับปรุงเส้นทางเดินรถเพื่อการบรรเทาการจราจรติดขัด ว่า เส้นทางที่มีรถเมล์วิ่งทับซ้อนกันนั้น ในช่วงเวลาเร่งด่วนตนกลับเห็นว่าเส้นทางเหล่านี้  มีผู้ใช้บริการอย่างหนาแน่นจริง แต่ละคันมีคนยืนแน่นจนบางครั้งรับผู้โดยสารเพิ่มแทบไม่ได้ ไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ ตนมองว่า นั่นเพราะถนนเส้นนั้นๆ มีประชาชนอาศัยอยู่ และมีอาคารสำนักงานที่คนต้องเดินทางมาทำงานหรือทำธุระ จึงมีความต้องการใช้รถเมล์สูงกว่าถนนเส้นอื่นๆ ซึ่งหากขสมก. จะลดความซับซ้อนโดยให้เหลือรถเมล์ไม่กี่สายในถนน 1 เส้น ก็ต้องมาดูว่าจะสามารถรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในถนนเส้นนี้ เพียงพอหรือไม่ รวมถึงหากผู้โดยสารต้องใช้วิธีการต่อรถ ก็อยากฝากเรื่องจุดต่อรถว่ามีความพร้อมหรือยัง สิ่งนี้รวมไปถึงฟุตบาท และการจัดผังเมืองในกทม.

 

หากทาง ขสมก.จะมีการวางเส้นทางใหม่จริงๆ ก็อยากให้มีการสำรวจกลุ่มประชากรในแต่ละพื้นที่ สำรวจความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละพื้นที่ทั้งเรื่องที่พักอาศัย การเดินทาง โรงเรียน ฯลฯ เพราะประชาชนในกทม.ส่วนใหญ่ซื้อบ้าน/คอนโด หรือเช่าที่พักอาศัย โดยดูจากเส้นทางรถเมล์ปัจจุบัน  หากในอนาคตมีการเปลี่ยนเส้นทาง ผู้โดยสารต้องปรับตัว ทาง ขสมก. ก็ควรมีแผนในการปูความพร้อมเรื่องการแนะนำเส้นทางให้กับผู้โดยสารเสียแต่เนิ่นๆ

 

เรื่องการจราจร ต่างประเทศก็มีแคมเปญมาแสดงอยู่บ่อยๆ เรื่องรณรงค์ให้คนมาใช้รถโดยสารสาธารณะภาพที่เราเห็นบ่อยๆ คือภาพ 2 ภาพที่เปรียบเทียบการเดินทางของคน 50 คน ขับรถคนละคัน เกิดเป็นภาพรถติดยาว กับภาพที่ 2 คือทั้ง 50 คนมาขึ้นรถเมล์คันเดียวกันในรถเมล์ 1 คัน ผลคือลดการจราจรไปได้มาก ตนจึงมองว่า ที่ ขสมก.จะมองว่ารถเมล์ทับซ้อนกันบนถนนเส้นเดียวกัน เป็นปัญหาจากการจราจรไม่ถูกต้องซะทีเดียว รถเมล์ให้บริการบนถนนเยอะๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วรถยนต์ส่วนตัวต่างหากที่เป็นปัญหาจราจร

 

เป้าหมายที่ 3 : เพื่อลดมลภาวะและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย โดยการใช้รถ NGV และรถ EV ที่ประกอบในประเทศไทย

 

นายกรวิชญ์ (นามสมมติ) แอดมินเพจเมล์เดย์ (Mayday) ยอดผู้ติดตามกว่า 7.4 หมื่นคน กล่าวถึงแผนการลดมลภาวะ เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการและส่งเสริมรถประกอบในไทย ว่า “อยากให้ ขสมก. เปลี่ยนมาใช้  รถไฟฟ้าชานต่ำ และการอุดหนุนรถที่ใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่ประกอบในไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้รถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะลดมลภาวะในเมืองได้ทั้งทางเสียงและอากาศ ซึ่งการลงทุนนี้ของรัฐ ไม่เพียงแค่คนใช้รถเมล์เท่านั้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หมายถึงคุณภาพชีวิตของคนทั้งเมือง

 

ในส่วนของการใช้รถที่ต่อภายในประเทศนั้น หากควบคุมให้ได้มาตรฐาน อย่างเช่น ในอดีตที่ธนบุรีประกอบยนต์เคยต่อรถให้ต่างประเทศอย่าง Mercedes-Benz ในสิงคโปร์ หรือล่าสุดที่เชิดชัยต่อรถให้รถโดยสารปรับอากาศ Isuzu เพื่อส่งไปกัมพูชา  ถือเป็นศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยโดยฝีมือคนไทยทั้งสิ้น และหากขสมก. มาอุดหนุนด้วยการใช้รถโดยสารที่ประกอบในไทยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนและพัฒนาคุณภาพแรงงานไทยอีกด้วย

 

เป้าหมายที่ 4 : แก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.อย่างยั่งยืน โดยแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับดังกล่าวนั้น มีเป้าหมายจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาฯ (EBITDA) เป็นบวกในปี 2572 
และ เป้าหมายที่ 5 : เพื่อไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ

 

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า แนวทางของแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ฉบับใหม่นี้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.อย่างยั่งยืน นำไปสู่การไม่เป็นภาระของภาครัฐในอนาคต และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ขสมก.จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดที่ประกอบการให้สอดรับกับรายได้ที่มีจากการเก็บอัตราค่าโดยสารซึ่งเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด รวมถึงจะต้องทดสอบพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ  ซึ่งในเรื่องนี้ ขสมก.จะต้องจัดทำการศึกษาด้านการตลาด (Market Study) อย่างละเอียด และด้านเทคนิคมากขึ้น เพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการของผู้โดยสาร ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ รวมถึงสอดคล้องกับจำนวนรถที่เพียงพอและปริมาณผู้โดยสาร และกำหนดแผนฯ ให้มีความละเอียด รอบคอบ รัดกุม

 

ในเฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘ลงทุนแมน’ เพจด้านการวิเคราะห์ การลงทุนและให้ความรู้ในสื่อโซเชียล ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านคน  โพสต์ข้อความถึงแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ใจความตอนหนึ่งว่า “แผนฟื้นฟูใหม่ จะไม่มีการซื้อรถเมล์ใดๆ ทั้งสิ้นอีกต่อไปแล้ว เพราะในแผนนี้บอกว่าซื้อรถใหม่ไป ถ้าให้รัฐบริหารเองก็ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วก็เป็นหนี้แสนล้านเหมือนเดิมอีก  โดยรัฐจะมีหน้าที่จ้างเอกชนให้เดินรถทั้งหมด และรัฐทำหน้าที่กำกับดูแล ตัวอย่างโมเดลที่ประสบความสำเร็จแล้วก็คือ BTS และ MRT เรียกได้ว่าโมเดลนี้เป็นโมเดลที่น่าสนใจ มันต่างจากเดิมตรงที่ รัฐไม่ต้องเสียเงินซื้อรถใหม่เองเพราะถ้าซื้อเอง ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐจะบริหารได้กำไรหรือไม่

 

การให้เอกชนมาบริหาร พิสูจน์มาในหลายโครงการแล้วว่า มีประสิทธิภาพกว่า และรัฐไม่ต้องแบกภาระหนี้เหมือนก่อน สิ่งที่รัฐต้องทำก็คือ คอยกำกับดูแลค่าโดยสาร สภาพรถ ให้ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเงื่อนไขจะครอบคลุมทั้งแอร์ไม่เย็น รถเสีย ไม่มีคนขับ รถไม่พร้อม ถ้าเอกชนทำผิดก็จะโดนปรับ” เรียกยอดกดไลค์จากชาวโซเชียลกว่า 1.6 หมื่นราย และมียอดแชร์แสดงความเห็นด้วยออกไปมากกว่า 2 พันครั้ง

 

นอกจากการรับฟังเสียงภาคประชาชนบนโซเชียลแล้ว ทาง ขสมก. ยังได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ ขสมก.ฉบับใหม่ แก่หน่วยงานอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี คณะกรรมการลานกีฬาพัฒน์ 1 คลองจั่น ชุมชนคนรักรถเมล์ รถเมล์ไทยดอทคอม กลุ่ม May Day ประชาชนทั่วไป ฯลฯ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอีกด้วย

 

ดร.สุเมธ  องกิตติกุล  ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์TDRI

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/news1/detail/9630000092632

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *