Rising Phoenix เส้นทางนักกีฬาสู่พาราลิมปิก โดย ThisAble.Me

 

“ผมฝันถึงเวลาที่คนพิการจะมีส่วนร่วมในการแข่งกีฬาโอลิมปิก”

 

หากประโยคนี้ถูกพูดขึ้นเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว คนฟังคงคิดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ คนพิการจะแข่งกีฬาได้อย่างไร’ แต่เวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า คนพิการสามารถแข่งกีฬาได้ และที่สำคัญ คนพิการเข้าสู้การแข่งขันสนามใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อย่างพาราลิมปิกเกมส์

 

Rising Phoenix หรือ พาราลิมปิก จิตวิญญาณแห่งฟินิกซ์ เป็นสารคดีจากเน็ตฟลิกซ์ ที่แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 3 เรื่องใหญ่คือ จุดเริ่มต้นของกีฬาพาราลิมปิก,  การจัดงานพาราลิมปิกในแต่ละครั้ง และเรื่องราวของนักกีฬาคนพิการ ที่บางคนทั้งฝ่าฟันอดีตอันโหดร้าย บางคนต้องต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม และหลายคนต้องฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

 

ก่อนจะเป็นพาราลิมปิกเกมส์

 

ย้อนเวลากลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.ลุดวิก กุตต์แมนน์ (Dr.Ludwig Guttmann) ศัลยแพทย์ประสาทและนักประสาทวิทยาชาวยิวย้ายจากเยอรมนีมาทำงานในเบร็สเลา (ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์) เมื่อเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มส่อเค้าความรุนแรง จนกระทั่งเขากลายเป็นแพทย์ในโรงพยาบาล Stoke Mandeville ในสหราชอาณาจักร

 

ปี 1944 ดร.ลุดวิกเริ่มรักษาทหารบาดเจ็บที่ไม่ได้รับการดูแล ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยหวังใช้ประโยชน์ของกีฬาช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย เขาจึงเริ่มจัดการแข่งขันกีฬาครั้งแรกในวันที่ 29 ก.ค.1948 ซึ่งตรงกับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในลอนดอน โดยใช้ชื่อว่า Stoke Mandeville Games ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 16 คน ทุกคนต่างเป็นคนพิการที่ต้องนั่งวีลแชร์

 

หลังจากปีนั้น Stoke Mandeville Games ถูกจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี จำนวนผู้เข้าแข่งขันก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้มีแค่คนอังกฤษเท่านั้น ผู้คนจากประเทศอื่น เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน จนในปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี การแข่งขันกีฬาคนพิการครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ก็เริ่มต้นขึ้น จาก Stoke Mandeville Games กลายมาเป็นพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 1 ซึ่งที่มาของชื่อพาราลิมปิก (Paralympic) มาจากคำว่า parallel หมายถึงการจัดคู่ขนาดกับโอลิมปิก แต่การจัดพาราลิมปิกคู่กับโอลิมปิกเริ่มต้นอย่างเป็นทางการจริงๆ เมื่อปี 1988 ที่จัดในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

 

ประเทศเจ้าภาพกับพาราลิมปิก

 

ใน Rising Phoenix พาราลิมปิกที่ถูกพูดถึงคือ พาราลิมปิกปี 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งในตอนนั้นบราซิลแบกรับแรงกดดันจากความคาดหวังของสื่อ อย่างมาก เพราะการจัดพาราลิมปิกสองครั้งก่อน ทั้งจีนและสหราชอาณาจักรต่างจัดออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก

 

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ก่อนถึงวันแข่งขัน การจัดงานพาราลิมปิกเจออุปสรรคมากมาย เค้าลางความวุ่นวายเริ่มขึ้นตั้งแต่การประกาศชื่อคณะกรรมการจัดงานที่ไม่มีคำว่าพาราลิมปิก และยิ่งช็อคไปกว่านั้นเมื่อพบว่า บราซิลไม่มีเงินเพื่อจัดการแข่งขันพาราลิมปิก  ทั่วโลกต่างตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลต่างวิ่งวุ่นหาหนทางจัดงาน จนสุดท้ายในวันที่ 7 ก.ย.2016 พาราลิมปิกก็จัดขึ้นที่บราซิลและจบลงอย่างงดงาม

 

แม้บางอุปสรรคจะสามารถจบลงได้อย่างงดงาม แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง เช่นในปี 1980 รัสเซียปฏิเสธที่จะเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิก และพาราลิมปิก จนทำให้พาราลิมปิกในครั้งนั้นต้องจัดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์แทน

 

เรื่องราวจากเหล่านักกีฬาพาราลิมปิก

 

เบเบ วิโอ (Bebe Vio) เป็นนักกีฬาฟันดาบ ชาวอิตาลี

“นกฟีนิกซ์มีชีวิตและตายได้ ถูกเผาและมีชีวิตใหม่ได้ พวกเขาเห็นฉันทุกช่วงตั้งแต่มีชีวิตอยู่ ถูกเผา ตาย และฟื้นขึ้นมาใหม่”  เบเบ วิโอ

 

Rising Phoenix จึงเป็นทั้งความหมายและฉายาของเบเบ หญิงสาวผู้รักในการฟันดาบ ที่เสียแขนและขาทั้งสองข้างเพราะโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อเธออายุ 11 ปี ตั้งแต่วันนั้น เธอใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งจะลงแข่งขันพาราลิมปิก และเป็นจริงเมื่อปี 2016 เบเบลงแข่งขันฟันดาบเป็นครั้งแรก และคว้าเหรียญทองกลับมาให้ชาวอิตาลี

 

เอลลี โคล (Ellie Cole) นักกีฬาว่ายน้ำ ชาวออสเตรเลีย

ในออสเตรเลียเด็กทุกคนต้องเรียนว่ายน้ำ เช่นเดียวกับเอลลีที่แม้ถูกตัดขาข้างหนึ่งเพราะเนื้องอก และแน่นอนว่าสำหรับเธอการว่ายน้ำไม่เป็นอุปสรรคเลย แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เอลลีไม่รู้สึกว่าพิการ จากความชอบกลายเป็นอาชีพ เธอกลายเป็นนักกีฬาและได้ 4 เหรียญทองจากการแข่งขันว่ายน้ำในพาราลิมปิก 2012

 

ฌอง บัปติสต์ อะเลซ (Jean-Baptiste Alaize) นักกีฬากระโดดไกล ชาวฝรั่งเศส

ฌองโตมาพร้อมกับสงครามกลางเมืองในประเทศบุรุนดี ในปี 1993 ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ Tutsi และ Hutu เขาวัย 3 ขวบโดนมีดฟันที่ขา แขน หัว และหลังและเห็นแม่ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตา หลังฟื้นขึ้นมาฌองพบว่าเขาเสียขาไปหนึ่งข้างและต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า จนกระทั่งวันหนึ่ง มีครอบครัวชาวฝรั่งเศสรับอุปการะเขา แม้ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่เขาก็ต้องเผชิญกับคำดูถูกเหยียดหยาม เพียงเพราะมีร่างกายและสีผิวที่แตกต่าง คำดูถูกเหล่านี้ทำให้เขาเลือกที่จะเป็นนักกีฬากระโดดไกล เพราะรู้สึกว่า การวิ่งและกระโดดทำให้เขาได้หนีจากบางสิ่งบางอย่างในอดีต

 

แมตต์ สตุตซ์แมน (Matt Stutzman) นักกีฬายิงธนู ชาวอเมริกัน

แมตต์เป็นนักกีฬายิงธนูที่หลงรักการแข่งรถ และเคยมีความฝันว่าอยากเป็นไมเคิล จอร์แดน นักกีฬาบาสเกตบอลชื่อดัง ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีแขนทั้งสองข้าง ก็ไม่เคยคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เพราะครอบครัวบุญธรรมบอกเขาเสมอว่า “ลูกทำได้” ครั้งหนึ่งเขาอยากลองปีนต้นไม้ พ่อก็สนับสนุนให้ลองทำอย่างเต็มที่ โดยไม่มีใครช่วย นั่นทำให้แมตต์รู้ว่า เขาทำทุกอย่างได้เหมือนกับคนอื่น หลังจากนั้นแมตต์ได้ลองทุกอย่างที่อยากทำ ทั้งขี่วัวกระทิง แข่งรถ รวมถึงการเป็นนักกีฬายิงธนูด้วย

 

ทาเทียนา แม็คแฟดเดน (Tatyana McFadden) นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ชาวอเมริกัน เชื้อสายรัสเซีย

ทาเทียนาเป็นเด็กชาวรัสเซียที่เกิดมาพร้อมกับความพิการ แม่แท้ๆ ของเธอไม่มีเงินพอจะเลี้ยงดู จึงส่งทาเทียนาไปบ้านเด็กกำพร้า และโชคดีเธอได้ครอบครัวอุปการะตอนอายุ 6 ขวบ บ้านใหม่และวีลแชร์คู่ใจทำให้เธอรู้สึกถึงอิสระ จนเธอกลายเป็นนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง นอกจากผลงานด้านกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้เธอแล้ว ทาเทียนายังเป็นผู้ที่ทำให้เกิด กฎหมายความเที่ยงธรรมทางกีฬาและสมรรถภาพทางกาย ที่ทำให้คนพิการสามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในโรงเรียนได้

 

นักกีฬาทั้ง 5 คนที่หยิบยกมาเล่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักกีฬาทั้งหมดที่ปรากฏในสารคดีเรื่อง Rising Phoenix เรื่องราวชีวิตของพวกเขาหลายคนแสดงให้เราเห็นถึงการสูญเสีย บางคนต้องสูญเสียแขนขาและชีวิตในวัยเด็กให้กับโรคร้าย บางคนสูญเสียให้กับสงคราม อีกหลายคนพบเจอกับการเลือกปฏิบัติ การกลั่นแกล้ง และคำพูดดูถูก แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง และความเข้าใจของคนในครอบครัว ก็ทำให้พวกเขาผ่านเรื่องเลวร้ายเหล่านั้น มีชีวิตอิสระ ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ และท้ายที่สุด ความฝันของพวกเขาก็สำเร็จ

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1984 แม้จะไม่ได้รางวัลกลับมา แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงการนักกีฬาคนพิการไทยในการแข่งขันระดับโลก หลังจากปีนั้น ประเทศไทยก็เข้าร่วมพาราลิมปิกฤดูร้อนทุกปี การแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อน 2016 เป็นการแข่งขันที่ประเทศไทยได้รับรางวัลมากที่สุด จำนวน 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง รวมเป็น 18 เหรียญ

 

วีลแชร์เรซซิ่งเป็นกีฬาที่นักกีฬาไทยได้รับเหรียญมากที่สุด หนึ่งในนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่มีชื่อเสียงคือ ประวัติ วะโฮรัมย์ ผู้ที่เคยได้ 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงินและ 1 เหรียญทองแดงจากการเข้าแข่งขันพาราลิมปิก 5 ครั้ง อีกคนคือ เรวัติร์ ต๋านะ เจ้าของ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินและ 1 เหรียญทองแดงจากพาราลิมปิก และทำลายสถิติโลกวีลแชร์เรซซิ่งในปี 2017 ประเภท 5,000 เมตร ชาย T54 จากรายการ 44th Swiss Nationals & Daniela Jutzeler Memorial Arbon

 

วีลแชร์ฟันดาบก็เป็นกีฬาอีกหนึ่งชนิดที่สร้างชื่อเสียงให้ไทยในวงการกีฬาคนพิการ จากความสามารถของ สายสุนีย์ จ๊ะนะ ที่เคยคว้า 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง จากการเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกถึง 4 ครั้ง และยังเป็นนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบมือวางอันดับ 1 ของโลกประเภท Epee B ตั้งแต่ปี 2018 – 2020 จากการจัดอันดับของ International Wheelchair and Amputee Sports Federation (IWAS)

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2020/09/658

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *