เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ว่าหลังจากมีเหตุการณ์ “ทุบรถ” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ทางกทม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็เข้าไปแก้ไขปัญหาของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากตลาดทันที
หลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์ มีเหตุการณ์ “ทุบลิฟต์” ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก โดยผู้ทุบลิฟต์เป็นชายใช้รถเข็น คาดว่าคงไม่พอใจที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ลิฟต์คนพิการ เนื่องจากต้องกดปุ่มเรียกพนักงานของบีทีเอสแล้ว บางครั้งก็ต้องรอนาน ถ้าฝนตกก็ต้องตากฝน ซึ่งรถไฟฟ้าบีทีเอสกำกับดูแลโดย กทม. แต่ในสัญญาไม่มีการระบุให้บีทีเอสต้องติดตั้งลิฟต์สำหรับคนพิการไว้ด้วย
โดย กทม. เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ โดยได้ลงทุนติดตั้งลิฟต์ไว้ 5 สถานีแรก ประกอบด้วยสถานีหมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช และช่องนนทรี ที่คนพิการจะต้องรอเจ้าหน้าที่บนสถานีคอยเปิดให้ เมื่อกดสัญญาณ โดยลิฟท์ดังกล่าวจะส่งตรงขึ้นชานชาลาเลย ซึ่งได้มีการล็อคเพื่อป้องกันผู้โดยสารคนอื่นๆใช้รถไฟฟ้าฟรี ต่างจากลิฟท์ตัวใหม่ที่ส่งตรงไปยังห้องขายตั๋ว ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่คัดกรองผู้พิการก่อนเข้าบริการได้
นายสามารถ ระบุต่อไปว่า ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องหาทางแก้ปัญหาความยุ่งยากในการใช้งานลิฟต์ชุดเดิม ซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542
“ตนขอเสนอแนะให้กทม. เป็นเจ้าภาพร่วมหารือกับบีทีเอสซี และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยเพื่อหาหนทางปรับปรุงและแก้ไขสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ “ดังนี้
- ทำหลังคากันแดดกันฝนบริเวณที่รอลิฟต์ และตลอดทางลาดสำหรับรถเข็น 2.ให้บีทีเอสซีติดตั้งเครื่องตรวจตั๋วโดยสารที่ชั้นชานชาลา ซึ่งจะช่วยให้บีทีเอสซีไม่ต้องล็อกประตูเข้าลิฟต์ เพราะผู้โดยสารที่ใช้ลิฟต์ทุกคนจะต้องมีตั๋วโดยสาร มิฉะนั้น จะเข้าชานชาลาไม่ได้ ในกรณีเป็นคนพิการก็ต้องมีคูปอง แนวทางนี้มีใช้อยู่แล้วที่ฝั่งขาออกของสถานีหมอชิต และช่องนนทรี ซึ่งคนพิการไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ให้
- หากไม่ใช้วิธีการในข้อ 2 ตนขอเสนอให้มีการสแกนบัตรคนพิการที่ประตูเข้าลิฟต์ที่ถูกล็อกไว้ เพื่อให้คนพิการเท่านั้นที่สามารถใช้ลิฟต์ได้ ผู้โดยสารอื่นไม่สามารถใช้ได้ วิธีการนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารอื่นที่ไม่มีตั๋วโดยสารขึ้นลิฟต์ไปสู่ชั้นชานชาลาได้ และจะช่วยให้คนพิการไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานให้มาเปิดประตูลิฟต์ โดยหวังว่า กทม.จะเร่งรัดหาทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสได้อย่างสะดวก