เจาะลึกข้อเสนอสมัชชาเด็กและเยาวชน เติมเต็มโอกาสทุกกลุ่มเยาวชน

 

สมัชชาเด็กและเยาวชน…เวทีสำคัญซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดย สภาเด็กและ เยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย เพื่อให้ตัวแทนเด็กและเยาวชน เครือข่ายเด็กและเยาวชน และสภา เด็กและเยาวชน ร่วมสะท้อนประเด็นปัญหานำไปสู่การแก้ไข รวมถึงการหาแนวทางส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ

 

สำหรับปีนี้จัดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประมวลผลสรุปเป็นข้อเสนอสมัชชาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563 แยกเป็น มติสมัชชาเด็กและเยาวชนระดับชาติ ที่นำเสนอ ประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้รับสิทธิและเข้าถึงโอกาสของหน่วยงานในทุกระดับให้สอดคล้องกับทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ทั้งการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะชีวิต อาชีพ การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และประเด็นการก้าวทันสื่อรู้ทันสิทธิ โดยพัฒนาการเรียนการสอนรวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สิทธิ ทั้งในและนอกห้องเรียน และร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์

 

ขณะที่ มติสมัชชาเด็กและเยาวชนระดับภาค แยกเป็น ภาคเหนือ นำเสนอถึงสิทธิของเด็ก และเยาวชน อาทิ การส่งเสริมกิจกรรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ สร้างการรับรู้ในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคม ภาคใต้ ชูประเด็นครอบครัว โดยสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว สร้างความตระหนักถึงการเลี้ยงดูและการอยู่ร่วมกันในครอบครัว ภาคกลาง เน้นถึงทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยจัดทำหลักสูตรการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 25 ปี เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตมีพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองถึงสื่อที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน โดยประชาสัมพันธ์รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และเข้าถึงสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า การละเมิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อุบัติเหตุบนท้องถนน

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากกลุ่มเด็กต่างๆ อาทิ

 

กลุ่มชาติพันธุ์ เสนอให้มีจุดบริการ One Stop Service ในการให้คำปรึกษา พิสูจน์และขอสัญชาติแบบบริการจบครบในที่เดียว การดูแลสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

 

กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่กับเด็กและเยาวชน

 

กลุ่มเด็กนอกระบบ ชูประเด็นการศึกษาทั้งในและนอกระบบ โดยการใช้หน่วยกิตเทียบเท่าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ปรับเนื้อหาการเรียนการสอนการศึกษาให้สอดคล้องกับการศึกษาในระบบ

 

กลุ่มหลากหลายทางเพศ เสนอให้แก้ไขแบบเรียนเพศศึกษาให้สอดคล้องกับความหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลง แก้กฎระเบียบนโยบายให้คำนึงถึงมิติความละเอียดอ่อนทางเพศและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

 

กลุ่มพิการ เสนอเรื่องโครงสร้างและสวัสดิการทางสังคมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้พิการ ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การประกอบอาชีพ และบริการระบบขนส่งสาธารณะ

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ซึ่งเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มเด็กต่างๆ กล่าวว่า “ได้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีของสมัชชาเด็กและเยาวชนที่เปิดกว้างให้กลุ่มเด็กหลากหลายเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหลากหลาย ทางเพศ ที่เสนอให้มีหลักสูตรที่เข้าใจเพศสภาพมากขึ้น

 

กลุ่มเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขอให้ผู้ใหญ่ในพื้นที่รับฟังเสียงเด็ก กลุ่มเด็กพิการเสนอถึงการทำธุรกรรมทางการเงินที่เข้าถึง กลุ่มเด็กนอกระบบอยากให้มีการเทียบโอนที่มีมาตรฐานและให้เด็กร่วมออกแบบหลักสูตร และกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอให้มีศูนย์ One Stop Service ในการรับเรื่องและแก้ปัญหา หลายประเด็นคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำไปแล้ว ขณะที่หลายเรื่องต้องประสานไปยังหน่วยปฏิบัติให้ดำเนินการ ทั้งนี้ ได้ให้ประมวลข้อเสนอทั้งหมดนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประสานให้มีการเข้าพบนายกฯแล้ว ที่ผ่านมาข้อเสนอต่างๆของกลุ่มเด็กและเยาวชนเสนอผ่านบอร์ดระดับชาติ บางเรื่องอาจถูกเพิกเฉย แต่ครั้งนี้กลไกสภาฯได้เข้ามาเป็นหน่วยประสานให้เกิดการปฏิบัติ รวมถึงการนำเสนอข้อมูลถึงนายกฯโดยตรง เพื่อทำให้เห็นว่าเสียงเด็กมีพลังและเป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่เสียงลอยๆ”

 

ขณะที่ นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดี ดย. กล่าวว่า “ถือเป็นเวทีสะท้อนปัญหาของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ชัดเจน หลักสำคัญคือการเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาต่างๆให้กับเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม บางเรื่องที่นำเสนอ ภาครัฐได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การเสริมทักษะชีวิต การจ้างงาน การพัฒนาหลักสูตร เพียงแต่บางส่วนอาจจะไม่เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง เวทีการให้เด็กและเยาวชนได้นำเสนอปัญหา รวมถึงสิ่งที่อยากเห็นในเชิงนโยบาย เป็นการรวมกลุ่มเชิงสร้างสรรค์ซึ่งภาครัฐต้องรับฟัง ทั้งนี้ ดย.จะนำข้อเสนอดังกล่าวจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เพื่อนำสู่แนวปฏิบัติของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

 

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม หวังว่าทุกเสียงจากสมัชชาเด็กและเยาวชนจะได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำสู่การปฏิบัติให้เกิดผลทุกมิติอย่างแท้จริง ลบภาพการถูกตีกรอบจากผู้ใหญ่

 

เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ที่ต้องเข้าใจ เรียนรู้ และเห็นคุณค่าในการกำหนดอนาคตตนเอง

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์

 

นางสุภัชชา สุทธิพล

นางสุภัชชา สุทธิพล

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thairath.co.th/news/society/1934071

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *