คมนาคมตั้งคณะทำงานร่วมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทุกระบบขนส่งสาธารณะเอื้อคนพิการ เริ่มที่รฟม. นัดถก 26 มี.ค.ปรับทางเข้าออกบริการผู้พิการใช้รถไฟฟ้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบบริการรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายมานิต อินทร์พิมพ์ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลทุกคนต้องขึ้นได้ และตัวแทนคนพิการ เข้าร่วม โดยนายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมและภาคีเครือข่ายฯ โดยมีนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อทำงานร่วมกันตามนโยบายของกระทรวงที่เน้นย้ำการดูแลคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการให้เข้าถึงบริการทุกระบบขนส่งสาธารณะ และเพิ่มความเข้มข้นในการออกแบบพัฒนาสิ่งอำนายความสะดวกให้ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืนตามบริบทและสภาพของสังคมไทย โดยมองถึงการเดินทางของผู้พิการ ได้แก่ บันไดเลื่อน ลิฟต์ ทางเดิน ที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย
รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า คณะทำงานจะร่วมกันสำรวจ ศึกษา และแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งประชุมได้รับทราบรายงานผลสำรวจการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการในระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะของภาคีเครือข่ายฯ ซึ่งพบว่ารถฟ้ายังมีปัญหาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในหลายจุด ดังนั้นจะเริ่มแก้ปัญหาการบริการระบบรางของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ก่อน จากนั้นจะขยายผลไปยังระบบขนส่งสาธารณะอื่นต่อไป
นายวรกร ไหลหรั่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมายภาคีเครือข่ายฯ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายฯจะร่วมกับกระทรวงฯขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฎิบัติ โดยในวันที่26 มี.ค.จะประชุมหารือร่วมกับรฟม. เพื่อร่วมแก้ปัญหา ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือเรื่องการออกแบบเข้าถึงทางเข้าออก เช่น 1 สถานีมีตั้งแต่ 3-6ทางเข้าออก แต่ไม่ได้ออกแบบให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทุกทาง ทั้งนี้จะดูที่ความสะดวกของผู้ใช้บริการเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีทุกทางเข้าออกหากสถานีนั้นไม่ใหญ่และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อ อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่าผู้พิการที่อยู่ในกทม.คือคนที่เดือดร้อนสุด เพราะโครงสร้างของการดูแลประชาชนไม่ดูแลเท่าที่ควร ผู้พิการไม่ได้รับประโยชน์จากระบบการบริหารท้องถิ่น ควรต้องรื้อระบบใหม่
ด้าน นายมานิตย์ กล่าวว่า ขณะนี้กทม.ต้องเร่งแก้ไขทางเข้าออกบีทีเอสให้ครบทั้ง 23 สถานีตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งล่วงเลยมา 3 ปีแล้ว ขณะเดียวกันต้องแก้ไขปัญหาเดิมและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นใหม่ เช่น ที่สถานีสำโรงแม้จะมีลิฟต์ 2 ฝั่ง แต่คนพิการสามารถใช้ได้ฝั่งเดียวไม่สามารถข้ามอีกฝั่งได้ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มี 18 สถานี แต่มีทางเข้าออกครบถ้วนให้ผู้พิการแค่3-4สถานีเท่านั้น ทั้งนี้มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งให้การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น