ชวนทำความรู้จัก ความพิการประเภทที่ 4 ทางจิตใจหรือพฤติกรรม

 

ความพิการประเภทที่ 4 ทางจิตใจหรือพฤติกรรม

 

หมายถึง บุคคลที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ อันจะส่งผลให้มีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางด้านจิตใจหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้ ความคิดและอารมณ์ ซึ่งข้อจำกัดนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการดูแลตนเอง จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ทำให้สังคมมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยทางจิต ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกด้อยคุณค่า ขาดความมั่นใจ รู้สึกเป็นภาระต่อสังคม

 

กลุ่มอาการหรือโรคที่สำคัญ ได้แก่

 

– กลุ่มโรคสมองเสื่อม เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้เกิดความเสื่อมในแง่ความจำและความคิด จึงส่งผลกระทบต่อการควบคุมตนเองหรือการแก้ปัญหา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพและพฤติกรรม เข่น อัลไซเมอร์

 

– กลุ่มอาการที่เกิดจากสมองถูกทำลาย ทำงานผิดปกติ หรือจากโรคทางกาย เข่น อาการประสาทหลอนจากโรคทางกาย อาการหลงผิดจากโรคทางกาย

 

– กลุ่มโรคจิตเภทและโรคที่เกี่ยวข้อง เกิดจากการเสื่อมสภาพการทำงานของสมอง เนื่องจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ จะทำให้มีความผิดปกติด้านอารมณ์ พฤติกรรมและการตัดสินใจ ถ้าเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 ปี ถือว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคจิตเภทมักไม่หายขาด มีอาการกำเริบเป็นช่วง ๆ

 

– กลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น

>> โรคแมเนียหรือที่หลายคนเรียกกันว่า โรคคลุ้มคลั่ง เป็นโรคที่มีอารมณ์ครื้นเครง รู้สึกว่ามีพลังงานมาก มีกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
>> โรคซึมเศร้า จะรู้สึกเศร้า ไม่มีความสนุกสนาน และขาดความสนใจในสิ่งที่เคยสนใจ อาการของโรคจะคงอยู่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ มักเป็นราว 6 เดือนโดยเฉลี่ย แบ่งได้ 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค
>> โรคอารมณ์สองขั้วหรือ Bipolar เป็นโรคที่มีอาการสลับกันระหว่างโรคแมเนียกับโรคซึมเศร้า สามารถเกิดอาการได้เป็นระยะ ๆ โรคนี้สามารถหายเป็นปกติและกลับมาทำงานได้

รูปแบบการดูแล รักษา

 

1.การใช้ยา มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด ยาฉีด นิยมใช้ในการรักษามากที่สุด

ข้อแนะนำ
-ไม่ทำให้ติดยา
-ไม่ใช่ยานอนหลับ แต่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
-อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ง่วงนอน
-ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ

 

2.การรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นการทำให้ชักด้วยกระแสไฟฟ้าขนาดที่เหมาะสม ผ่านเข้าไปในสมอง จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

3.การให้คำปรึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้ ญาติหรือคนพิการได้มีโอกาสซักถามข้อสงสัย หรือระบายความรู้สึก เพื่อให้เข้าใจความเป็นมา สาเหตุ หรืออาการของโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

วิธีให้คำปรึกษา

3.1 สร้างสัมพันธภาพที่ดี ใส่ใจอารมณ์ ความรู้สึกผู้มารับคำปรึกษา
3.2 ประเมินความต้องการผู้มารับคำปรึกษา
3.3 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็นกับผู้รับคำปรึกษาอย่างถูกต้อง
3.4 รับฟัง เข้าใจ ใส่ใจที่จะสะท้อนความรู้สึกและให้กำลังใจ

 

4.การฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุข

 

– ระหว่างการเข้ารับการรักษา >> ให้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลดอาการและการกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น ดนตรีบำบัด สันทนาการบำบัด จากนั้นจึงเริ่มฝึกเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและทำงานกับผู้อื่น

– ระหว่างอยู่บ้าน >>ญาติเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือในการเข้าสังคมด้วยการ ให้กำลังใจ ยกย่อง ให้เกียรติ ตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ เช่น
+ ส่งเสริมความสามารถการดูแลตนเอง
+ ส่งเสริมความสามารถในการใช้ชีวิตในบ้าน
+ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมยามว่าง
+ ส่งเสริมความสามารถในการประกอบอาชีพ
+ ส่งเสริมทักษะทางสังคมและการใช้ชีวิตในชุมชน

 

แนวทางปฏิบัติของผู้ดูแลต่อผู้พิการ

 

– ให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง เพิ่ม ลด ตามคำแนะนำของแพทย์
– งดให้ผู้ป่วยใช้ยาเสพติด หรือสิ่งอื่น ๆ เช่น สูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟ
– กระตุ้น ให้กำลังใจคนพิการในการทำกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพ
– ปฏิบัติต่อคนพิการเหมือนคนทั่วไป
– สนับสนุนและให้กำลังใจ ให้คนพิการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
– ไม่พูดจายั่วยุให้ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิด
– เก็บของที่อาจเป็นอาวุธได้ให้มิดชิด
– เปิดโอกาสให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าสังคมกับคนอื่น
– หมั่นสังเกตอาการ ความผิดปกติของคนพิการ
– สังเกตอาการข้างเคียงจากยา

 

ข้อควรปฏิบัติในการสื่อสารกับผู้ป่วย

 

– พูดให้สั้น ได้ใจความ เข้าใจง่าย
– หากผู้ป่วยมีอาการหลงผิด ให้แสดงความเข้าใจ และให้ข้อมูลตามจริง
– หากผู้ป่วยเห็นภาพหลอน หูแว่ว ไม่ควรโต้แย้งขบขัน ให้รายงานตามสถานการณ์ความเป็นจริง
– หากผู้ป่วยมีอาการก้าวร้าว ให้พูดคุยด้วยความสงบ อ่อนโยน และอย่าสัญญาในสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้
– ติดต่อสื่อสารด้วยดี ทั้งกิริยา วาจา และคำพูด หลีกเลี่ยงการพูดจายั่วยุ หรือการแสดงอารมณ์ในแง่ลบ
– ดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับการทานยาและการตรวจตามเวลานัด

 

ผู้ป่วยทางด้านจิตใจนั้นก็เป็นเหมือนคนปกติ ที่ต้องการความรัก ความเข้าใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากคนรอบรอบข้างมีให้อย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการบำบัดหรือการทานยาให้ถูกต้องตามกำหนด ในไม่ช้าอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติในเร็ววันอย่างแน่นอน

 

 

ขอขอบคุณ  คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *