โรคเบาหวาน ที่ไม่หวานสมชื่อ

Diabetes

 

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ มากมาย ทั้งฟันและเหงือก ตา ไต หัวใจ หลอดเลือดแดง ทุกคนจึงควรป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดโรคเบาหวาน แต่หากใครไม่สามารถป้องกันตนเองได้หรือเป็นตามกรรมพันธุ์ ก็ควรที่จะควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้อยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

 

โรคเบาหวานคืออะไร

 

โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงตั้งแต่ 126 มก./ดล. (โดยวัดได้จากตอนหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมง) เนื่องจากการขาดอินซูลินหรือดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลไปใช้ได้หมด จึงเหลือน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมาก ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นประจำจะทำให้เป็นโรคเบาหวาน และในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่างๆ ได้

 

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 

  1. เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน มักพบในเด็กและวัยรุ่น
  2. เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย และส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประเภทนี้มักไม่อาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้ ควรจะควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย

 

ฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

 

อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย เพราะร่างกายคนเรานั้นรับประมานอาหารเข้าไปทุกวัน มีการเปลี่ยนแป้ง , โปรตีนให้เป็นน้ำตาล หากไม่มีอินซูลิน ก็จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ และยังทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ อินซูลินสร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต

 

ใครบ้างที่เสี่ยงเบาหวาน

 

  • อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25
  • มีความดันโลหิต หรือมีน้ำตาลในเลือดสูง (เป็นโรคใดโรคหนึ่ง ความเสี่ยงต่ออีกโรคก็เพิ่มขึ้น) มีระดับไขมันในเลือดสูง
  • สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กก.
  • ไม่ออกกำลังกาย ดื่มสุรา และ/หรือสูบบุหรี่

 

คุณเป็นเบาหวานหรือไม่

 

ตรวจว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และ ได้ผลดีโดยอาศัยเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้

 

  • มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • มีอาการของโรคเบาหวาน ร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ตามมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ณ 2 ชั่วโมง ภายหลังทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่รับประทานเข้าไป
  • มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 6.5 ขึ้นไป
  • กลุ่มที่เจาะน้ำตาลหลังงดน้ำงดอาหารแล้วได้ค่า 100-125 mg คือถือว่ามีความผิดปกติแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน ซึ่งถ้าไม่ควบคุมและออกกำลังกาย มีความเสี่ยงที่จะเป็เบาหวานในอนาคต

 

สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน

 

  • น้ำหนักเกิน ความอ้วน ขาดการเคลื่อนไหว ขาดการออกกำลังกาย
  • กรรมพันธุ์
  • ความเครียดเรื้อรัง
  • อายุที่มากขึ้น มีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากขึ้น
  • โรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อตับอ่อน
  • การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน

 

อาการของเบาหวานที่ต้องสังเกต

 

  • ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
  • กระหายน้ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำมากจากการปัสสาวะ
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้
  • หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น
  • คันตามตัว ติดเชื้อได้ง่าย เป็นเชื้อรา ตกขาวบ่อย
  • ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
  • ขาชาอันเนื่องมาจากปลายประสาทเสื่อม
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นแผลแล้วหายยาก

 

ผลกระทบของโรคต่อร่างกาย

 

อาการเฉียบพลัน คือ อาจมีอาการหมดสติ มีอันตรายถึงชีวิต อาการแทรกซ้อนทำให้เกิดภาวะไตวาย ไตเสื่อม ระบบประสาทชา แผลหายยาก แผลเน่า ลุกลามจนต้องตัดอวัยวะ ตามัว จอตาเสื่อม สมรรถภาพทางเพศเสื่อม อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

 

โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

 

  • ตา อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัย ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม ทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ และอาจทำให้ตาบอดในที่สุด
  • เท้า เบาหวานไปที่เส้นประสาท ทำให้มีอาการชาปลายมือปลายเท้า เกิดแผลได้ง่ายและ อาจก่อให้เกิดความพิการ
  • ไต มักจะเสื่อม จนเกิดภาวะไตวาย
  • เป็นการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ
  • ภาวะคีโตซีส ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก หายใจหอบลึก มีไข้ กระวนกระวาย
  • ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง อัมพาต หัวใจขาดเลือด

 

การรักษา

 

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งยังไม่มีทางรักษาให้ขายขาด การรักษาจึงเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด รวมถึงความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในการรักษาผู้ป่วยจึงต้องพบแพทย์ตามกำหนด ติดตามอาการเป็นระยะๆ

 

สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ

 

  • เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ
  • พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม
  • รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
  • ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิควันละ 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์
  • รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ระวังอย่ารับประทานยาใด ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
  • ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย
  • ติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ขอขอบคุณ  https://bim100icon.com/2018/04/19/โรคเบาหวาน-ที่ไม่หวานสม/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *