“ภาคี 3 ประสาน” ร่วมมือลดโรคซึมเศร้า-เพิ่มทางเลือกการรักษา

 

‘โรคซึมเศร้า’ เป็นโรคที่มีมานานแต่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงสองสามปีมานี้ บางคนอาจจะรู้จักโรคนี้จากคนใกล้ตัว และบางคนอาจจะรู้จักจากนักร้อง นักแสดงที่ออกมาเปิดเผยว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนอาจรู้จักโรคนี้เมื่อคนที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ทุกองค์ประกอบทำให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคทางจิตเวชชนิดนี้ และทำให้หลายคนหันมาดูแลสุขภาพจิต กล้าที่จะพบจิตแพทย์และลบความคิดเดิมๆ ที่ว่า พบจิตแพทย์ = บ้า ทิ้งไป

 

ในวันที่ 1 – 7 พฤศจิกายนของทุกปีตรงกับสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปีนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดกิจกรรมตลอดทั้ง 7 วัน ภาพใต้ธีม ‘Working Together สุขภาพจิตไทย ก้าวไปพร้อมกัน’ และในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนาเรื่อง ‘ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคซึมเศร้าสำหรับประชาชน’ ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งภาคีเครือข่ายหรือที่เรียกว่า ‘ภาคีเครือข่าย 3 ประสาน’ ประกอบไปด้วย กรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

 

โรคซึมเศร้า เป็นได้ รักษาได้

 

“ทุกคนเคยเศร้า” แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในทางการแพทย์จะดูว่าถ้าความเศร้าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น จากเดิมที่เรียนหรือทำงานงานได้ แต่ความเศร้าทำให้เราไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ ความสามารถในการดูและตัวเองลดลง ให้สงสัยเลยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า

 

“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความอ่อนแอทางจิตใจ แต่ทางการแพทย์แล้วเราเชื่อว่าอารมณ์ซึมเศร้าที่มากกว่าปกติเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้” รศ.นพ.พิชัย อิฏฐสกุล ตัวแทนจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า

 

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ตัวแทนจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เสริมว่า ซึมเศร้ามีสองแบบคือ ภาวะกับตัวโรค ภาวะซึมเศร้าทางจิตเวชเกิดจากการปรับตัวซึ่งทำให้เกิดอารมณ์เศร้า แต่อาการทางอารมณ์และพฤติกรรมจะไม่รุนแรงมาก พอดีขึ้นอาจจะกลับไปเป็นปกติได้เอง ทำให้บางคนคิดว่าโรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้

 

แต่ถ้าเป็นภาวะซึมเศร้านานเกิน 2 อาทิตย์ อาจจะอยู่ในส่วนของโรคซึมเศร้า ถ้าถามว่าหายเองได้มั้ย บางคนอาจจะหายได้ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าไม่มาก และสามารถจัดการตัวเองได้ แต่ขอแนะนำว่าควรให้จิตแพทย์ช่วยดูแล เพราะเราไม่รู้หรอกว่าโรคซึมเศร้าที่เราเป็นมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน กระบวนการรักษาจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคทั้งการทานยา และการทำจิตบำบัด

 

“เราได้สร้างความตระหนักรู้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ และยาก็ไม่แพง เรามีระบบการเฝ้าระวังเกิดขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ระบบคัดกรอง การคีย์ข้อมูลเข้าไปในฐานข้อมูล มีการเพิ่มศักยภาพของบุคลากร แพทย์และพยาบาลที่จบใหม่ทุกปีจะได้รับการอบรมเรื่องโรคซึมเศร้า ซึ่งนับว่าเป็นความเข้มแข็งอย่างหนึ่งของระบบการบริหารจัดการโรคซึมเศร้า เมื่อแพทย์มีความรู้ที่ทันสมัยขึ้น ก็นำไปสู่การรักษาที่มากขึ้น และเราได้ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัย) เราพยายามดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยมาร่วมมือกัน” นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการทำงานของกรมสุขภาพจิตด้านการรักษาและให้บริการโรคซึมเศร้า

 

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต

 

บทบาทที่แตกต่างของ ภาคี 3 ประสาน

 

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้กำกับมาตรฐานวิชาชีพของจิตแพทย์ในประเทศไทย ดูแลตั้งแต่การเรียน การสอน การสอบ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมวิชาการสำหรับจิตแพทย์ และเน้นการให้แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้กับแพทย์ประจำบ้านหรือจิตแพทย์ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการระบาดของโควิด-19 ราชวิทยาลัยจึงมีโจทย์ว่า จะต้องทำอย่างไรให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการใช้ Telemedicine หรือการรักษาผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ในการรักษาโรคทางจิตเวช เพื่อทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่โรงพยาบาล

 

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นฝ่ายซัพพอร์ตจิตแพทย์ที่มีปัญหาในการปฏิบัติงาน เช่น การทำจิตเวชสัญจร ที่จะลงพื้นที่ไปทุกภาคทั่วประเทศไทยเพื่ออัปเดตความรู้ให้กับจิตแพทย์ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายด้านจิตเวช เมื่อเครือข่ายเข็มแข็งการดูแลคนไข้ก็ได้รับความร่วมมือมากขึ้น ทางสมาคมยังมีบทบาทในการให้ความรู้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตผ่านเฟซบุ๊คเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ทั้งผลักดันให้เกิดแผนการป้องกันการฆ่าตัวตายและจัดการกับโรคซึมเศร้า โดยตระหนักว่าโรคซึมเศร้าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการฆ่าตัวตาย

 

กรมสุขภาพจิต มีบทบาทในการวางแผนตั้งรับปัญหาสุขภาพจิตเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงนี้ทางกรมจะเน้นเรื่องการเข้าถึงยาที่มีราคาสูงเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วย  ไม่เฉพาะแค่โรคซึมเศร้าแต่รวมถึงยาที่ใช้ในโรคทางจิตเวชอื่นๆ ด้วย และอีกบทบาทที่สำคัญคือ การทำงานควบคู่กับนโยบาย ‘คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน’ ถือเป็นความท้าทายของกรมสุขภาพจิตที่จะทำอย่างไรให้แพทย์ทั้ง 3 มีองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตที่ตรงกับอาชีพ

 

ใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรให้ไกลจากซึมเศร้า

 

ถ้าในฐานะผู้ใช้เราต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแบบ 100% ข้อความที่เราโพสต์สามารถถูกแคปเอาไปโพสต์ต่อ และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ถ้าไม่มั่นใจว่าข้อความจะเกิดความเสี่ยงหรือไม่ แนะนำว่าไม่โพสต์ดีกว่า หรืออาจจะตั้งเป็น Only me หรือเฉพาะฉัน

 

สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ เรากำลังโพสต์ในฐานะอะไร อย่างบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องระวังว่า เราไม่ได้มีหมวกแค่ใบเดียว เวลาแสดงความคิดเห็นลงบนโซเชียลมีเดียอาจมีคนนำข้อความนั้นไปกล่าวอ้างในฐานะของจิตแพทย์ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้

 

ถ้าในฐานะของผู้เสพข่าวสารอาจจะต้องถามตนเองว่า เราใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้นานแค่ไหนและส่งผลกับเราอย่างไร ถ้ารู้สึกเครียดอาจจะต้องหยุด เวลาเราเสพข่าวบนโซเขียลมีเดียจะเห็นว่าเราเสพข่าวเดิมซ้ำๆ เมื่อเลื่อนกด news feed ก็จะมีข่าวเดิมขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งขอแนะนำให้เซ็ตเวลาว่าวันนึงจะเสพข่าวแค่เท่านี้พอ และคำนึงถึงความสามารถของตัวเราในการรับมือกับความเครียดได้ในระดับไหน ถ้าเริ่มรู้สึกถึงปัญหาก็หยุดใช้ก่อน

 

ยิ่งในปัจจุบันมีเรื่องการเมืองเกี่ยวข้อง หลายคนได้รับข้อมูลเยอะมากและบางคนไม่รู้ว่าควรเชื่อข้อมูลไหน ทำให้เกิดความเครียดหนัก” รศ.นพ.พิชัย กล่าวถึงวิธีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านสุขภาพจิต

 

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ตัวแทนจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

 

4 ข้อสรุปโรคซึมเศร้า

 

นพ.บุรินทร์ได้สรุปทิ้งท้ายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไว้ 4 ข้อว่า หนึ่ง ‘ซึมเศร้าเราคุยกันได้’ โดยมีเครือข่ายให้ประชาชนกล้าที่พูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่กระบวนการที่สองคือ ‘ซึมเศร้าเราเข้าถึงได้’ ที่ตอนนี้เรามีเครือข่ายเยอะขึ้น เช่น สายด่วนสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณะสุข โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งไม่ต้องห่วงที่จะเข้ามารับการดูแลเพืื่อให้ตนเองอาการดีขึ้น

 

สามคือ ‘ซึมเศร้าเราหายได้’ การเข้ารับการรักษาสามารถทำให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ สิ่งที่สำคัญคือจะทำยังไงให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องจนดีขึ้น สุดท้ายคือ ‘ซึมเศร้ายังใช้ชีวิตได้’ เราอยากให้คนไข้โรคซึมเศร้ากลับไปใช้ชีวิตได้ ซึ่งพวกเขาสามารถเล่าประสบการณ์ว่าเคยเป็นมาก่อน คนอื่นที่ฟังก็จะได้เรียนรู้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2020/11/669

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *