- ผลการศึกษาพบว่าผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 1 ใน 5 คน มีภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และนอนไม่หลับภายใน 90 วัน หลังป่วย
- ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะความบกพร่องทางสมองที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ คาดไวรัสอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมอง หรืออาจผ่านทางระบบภูมิคุ้มกัน
- งานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดยังพบด้วยว่าผู้ที่มีปัญหาโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 65%
โรคโควิด-19 ภัยร้ายที่คนทั่วโลกต่างตื่นกลัว ยังคงเป็นโรคลึกลับที่ไม่มีใครระบุที่มาที่ชัดเจนได้ ซึ่งนอกจากโรคนี้จะคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วกว่า 1.3 ล้านคน ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 54 ล้านคนแล้ว ผลวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับโรคนี้ยังพบว่า แม้ผู้ป่วย โควิด-19 จะหายจากโรคนี้แล้ว แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวตามมาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปอด รวมทั้งอวัยวะภายในอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหาย หรือแม้แต่ผลกระทบต่อสมอง โดยล่าสุดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ยังพบผลที่น่าตกใจ โดยพบว่ามีความเสี่ยงที่ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีอาการป่วยทางจิตตามมาภายใน 90 วัน ซึ่งถือว่ามากกว่ากลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ ถึง 2 เท่า
ความเห็นผู้เชี่ยวชาญ
ศาสตราจารย์ พอล แฮร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า อาการทางจิตที่เกิดขึ้น จะไล่ไปตั้งแต่ ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม เนื่องจากสมองได้รับความเสียหายตามมาอีกด้วย พร้อมชี้ว่า แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ควรจะเร่งสืบสวนหาสาเหตุ และค้นหาวิธีการรักษาอาการป่วยทางจิตซึ่งเป็นผลพวงจากโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เนื่องจากจำนวนคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคทางจิตจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าที่แพทย์จะรองรับไหว
โดยผลการวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซ็ต ไซคาเอียทรี (The Lancet Psychiatry) โดยรวบรวมข้อมูลจากพลเมืองในสหรัฐอเมริกาจำนวน 69 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากกว่า 62,000 คน โดยผลการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ที่มีปัญหาเป็นโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว จะมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 65%
ด้านไมเคิล บลูมฟิลด์ ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ระบุว่า ผลการศึกษาดังกล่าวยิ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสมอง และจิตใจของผู้ป่วยซึ่งจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยทางจิต ซึ่งอาจจะเป็นเพราะภาวะทางสุขภาพจิตของผู้ป่วยเองหรือเกี่ยวกับตัวยาที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยทางจิตก็ได้
ขณะที่ศาสตราจารย์ไซมอน เวสเซลลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแห่งสถาบันคิงส์ คอลเลจลอนดอน ระบุว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางจิต จะเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสะท้อนผลการศึกษากับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รายงานออกมาก่อนหน้านี้
ส่วนศาสตราจารย์ ทิล ไวก์ส จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ แห่งสถาบันคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า ความผิดปกติทางจิตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนี่เปรียบเหมือนยอดของผู้เขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาแล้ว ดังนั้นหน่วยงานสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมรูปแบบต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิตจำนวนมาก และเร่งหาทางในการรักษา
ตัวก่อความเครียดทางด้านจิตใจ
จากการติดตามศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 62,000 คนของทีมวิจัยเป็นเวลา 3 เดือนหลังจากตรวจพบโรค และนำข้อมูลของคนกลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างหลายพันคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคนิ่วในไต หรือกระดูกหัก ทีมวิจัยพบสัดส่วนของอาการป่วยทางจิตดังนี้
พบผู้ป่วยทางจิต 18% ของผู้ป่วยโควิด-19
พบผู้ป่วยทางจิต 13% ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
พบผู้ป่วยทางจิต 12.7% ของผู้ป่วยกระดูกหัก
แต่หากไม่นับรวมกลุ่มผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว จะคิดเป็นสัดส่วนดังนี้
พบผู้ป่วยทางจิต 5.8% ของผู้ป่วยโควิด-19
พบผู้ป่วยทางจิต 2.8% ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
พบผู้ป่วยทางจิต 2.5% ของผู้ป่วยกระดูกหัก
สำหรับอาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล จะมีภาวะผิดปกติในการปรับตัว หลังจากมีปัจจัยกดดัน ทำให้เกิดความตึงเครียดจนไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนภาวะวิตกกังวลทั่วไป ผู้ป่วยจะมีความเครียดหรือกังวลมากไปในหลายเรื่อง บางครั้งอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของความกังวลได้ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และสุดท้ายคือภาวะป่วยทางจิตหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติทางจิตใจหลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต นอกจากนี้ยังพบปัญหาความผิดปกติทางด้านอารมณ์ แต่มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย
ผลการศึกษาที่ออกมาครั้งนี้จึงนับว่ามีนัยสำคัญต่อวงการแพทย์ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่จะต้องเร่งหาทางรับมือกับผู้ป่วยทางจิตเวชที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ตราบใดที่ทั่วโลกยังไม่สามารถคุมการระบาดของไวรัสมรณะให้ลดจำนวนลงได้