ชวนทำความรู้จัก ความพิการประเภทที่ 6 ทางการเรียนรู้

 

ความพิการประเภทที่ 6 ทางการเรียนรู้

 

หมายถึง เด็กทั่วไปที่มีระดับสติปัญญาปกติหรือสูงกว่า แต่มีความบกพร่องเฉพาะด้าน เช่น การเขียน การอ่าน การคำนวณ หรือบกพร่องในหลายด้านพร้อมกัน จะพบได้ในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

 

พฤติกรรมที่เกิดขึ้น

 

1. บกพร่องด้านการอ่านและสะกดคำ พบได้บ่อยที่สุด โดยเด็กจะมีความยากในการสะกดคำ บางรายอาจจะอ่านไม่ได้
2. บกพร่องด้านการเขียน ซึ่งอาจจะเกิดจากล้ามเนื้อ หรือการเคลื่อนไหวประสานกันบกพร่อง โดยอาการที่แสดงออก เช่น จับดินสอผิดวิธี ลายมืออ่านยาก กล้ามเนื้อมืออ่อนล้าง่าย
3. บกพร่องด้านการคำนวณ โดยจะสับสบเกี่ยวกับจำนวน หรือตัวเลข ไม่เข้าใจหลักคำนวณเบื้องต้น เช่น ไม่เข้าใจศัพท์ทางคณิตศาสตร์ เช่น บวก ลบ คูณ หาร ไม่เข้าใจโจทย์ปัญหา

 

ปัญหาอื่นที่เกิดร่วมกัน

 

– ปัญหาด้านการสื่อสาร มักรู้คำศัพท์น้อย พูดช้า พูดไม่ชัด
– โรคสมาธิสั้น โดยจะวอกแวกง่าย ไม่สามารถทำอะไรต่อเนื่องได้นาน
– บกพร่องด้านการรับรู้ทางสายตา
– บกพร่องด้านกล้ามเนื้อ หรือการประสานการเคลื่อนไหว
– ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ซึมเศร้า หดหู่

 

แนวทางการรักษา ฟื้นฟู

 

– ช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยครูจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ จึงต้องทำความเข้าใจในการเรียนรู้ของเด็ก และปรับวิธีการสอนให้เหมาะสม
– ช่วยเหลือด้านการแพทย์ ตามข้อบกพร่องที่ได้เกิดขึ้น

 

การดูแลเบื้องต้น สำหรับผู้ปกครอง

 

ความบกพร่องทางการเรียนรู้นั้น จะทำให้เกิดพัฒนาการที่แตกต่างออกไปจากปกติ ผู้ปกครองจึงควรดูแลเอาใจใส่ให้สมวัย เช่น
– เด็กอนุบาลควรฝึกเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
– เด็กวัยเรียนควรเน้นด้านการอ่าน การเขียน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ

 

หลักการฝึกกิจวัตรประจำวัน

 

เพื่อลดภาระการดูแลในครอบครัวและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย ในการฝึกควรเริ่มจากประเมินความสามารถเบื้องต้นของเด็ก และเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสม โดยแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มระดับความยาก ซึ่งอาจจะให้ความช่วยเหลือทั้งหมดในทีแรก ก่อนจะค่อย ๆ ลดความช่วยเหลือลง ควรให้แรงเสริมด้วยคำพูดที่เป็นบวก เช่น การชมเชย การให้กำลังใจ

 

– แบ่งขั้นตอนออกย่อย ๆ เริ่มสอนไปทีละขั้น
– เริ่มจากทำให้ดู จับมือทำ บอกขั้นตอน และปล่อยให้เด็กทำเอง
– ใช้คำสอนที่เข้าใจง่าย สั้น กระชับและสิ่งที่สอนสอดคล้องกับสถานการณ์จริง
– ให้กำลังใจเมื่อเด็กทำได้
– ผู้ฝึกต้องอดทนและใจเย็น

 

หลักการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

– สอนในสิ่งที่ง่ายก่อน ควรเริ่มจากสิ่งที่ต่ำกว่าความสามารถของเด็กเล็กน้อย เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ
– ใช้คำสั่งที่สั้น เข้าใจง่าย
– ให้อ่านหรือฟังนิทานและตอบคำถามโดยเริ่มจาก ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และจึงค่อยลงลึกในรายละเอียด
– ฝึกด้านการจัดลำดับข้อมูล
– ฝึกบรรยายภาพจากเหตุการณ์
– ฝึกวาดภาพถ่ายทอดจินตนาการ

 

หลักการฝึกทักษะด้านการอ่านและเขียน

 

อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น จำพยัญชนะหรือสระไม่ได้ หรือเพราะการประสานกันในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือและตา การทราบต้นเหตุที่แท้จริงจะช่วยให้มีการแก้ไขที่ตรงปัญหา
– กรณีจำพยัญชนะและสระไม่ได้ > สอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสหลาย ๆ ด้าน เช่น การเรียนรู้พยัญชนะ กอ ให้ผู้ฝึกออกเสียง แล้วให้เด็กออกเสียงตาม พร้อมกับการลากนิ้วบนกระดาษรูป ก
– กรณีเด็กสะกดคำไม่ได้ > ฝึกโดยการใช้ประสาทสัมผัสหลายด้านร่วมกัน
– กรณีบกพร่องทางกล้ามเนื้อหรือการเคลื่อนไหวประสานกัน อาจส่งผลให้เด็กใช้งานอวัยวะบางส่วนไม่คล่อง งุ่มง่าม ไม่คล่องแคล่ว การทำงานของอวัยวะไม่ประสานกัน เช่น ตากับมือ > ฝึกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อข้อมือและหัวไหล่ โดยใช้กิจกรรมในแนวตั้ง เช่น กิจกรรมยก ลาก ดึง วัตถุรูปทรงต่าง ๆ การให้เด็กช่วยทำงานบ้านแบบง่าย ๆ การฝึกการใช้มือโดยการฝึกตัดกระดาษ ฝึกการเคลื่อนไหวด้วยการแสดงท่าทางประกอบเพลง การกระโดดขาเดียว การเดินบนที่แคบ

 

หลักการฝึกทางด้านคณิตศาสตร์และการคำนวณ

 

– ระดับอนุบาล จะมีปัญหาด้านการเข้าใจความหมายของตัวเลข
– ระดับประถมต้น จะมีปัญหาด้านการบวก ลบ การทดต่าง ๆ
– ระดับประถมปลาย มีปัญหาในการแก้โจทย์ปัญหา
– วิธีการฝึกเบื้องต้น คือสอนให้รู้จักจำนวนขั้นพื้นฐานจากวัตถุที่เป็นรูปธรรมและมีความคุ้นเคย เริ่มจากการฝึกด้วยสิ่งของสามมิติ แล้วค่อยเปลี่ยนมาเหลือสองมิติ เช่น การใช้รูปภาพ การใช้สื่อการสอน
– สอนการเขียนตัวเลข โดยเริ่มต้นจากเส้นประ
– สอนหยิบวัตถุตามจำนวนที่บอก
– สอนจับคู่ภาพกับตัวเลข
– สอนการเรียงลำดับ เท่ากับ ไม่เท่ากับ มากกว่า น้อยกว่า โดยใช้ภาพเป็นสื่อการสอน

 

ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นมาก ดังนั้นแล้วเราต้องใช้ความอดทนกับทุกสถานการณ์ ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ให้เขาเรียนรู้ที่จะ ‘เรียนรู้’ ให้เต็มที่ เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่พร้อมจะถูกดึงออกมาใช้ แค่ต้องให้จังหวะและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แล้วศักยภาพจะค่อย ๆ ถูกดึงออกมา ไม่ช้าก็เร็ว

 

 

ขอขอบคุณ  คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *