เปิดสเปก “รถมอเตอร์ไซค์” เมืองไทย ปลอดภัยน้อยสุดในโลก

 

เชื่อหรือไม่ว่า…ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ชั่วโมงละ 1.6 คน

 

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ หรือ Injury Surveillance ของโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข 28 แห่ง รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุขนส่งที่เกี่ยวข้องกับจักรยานยนต์ จำแนกตามประเภท ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และคนเดินเท้า พบว่า 89% เป็นผู้ขับขี่ 65% เป็นผู้โดยสาร และ 56% เป็นคนเดินเท้า

 

 

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ในฐานะหัวหน้า โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย (Social Mobilization for Motorcycle safety) ให้ข้อมูลว่า กลไกการเกิดการบาดเจ็บของผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 91% เกิดจากการชนกับพาหนะอื่น 34% ชนกับรถจักรยานยนต์ โดยผู้บาดเจ็บรุนแรงอายุน้อยที่สุด คือ 7 ปี

 

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ มีผู้บาดเจ็บรุนแรงที่อายุ 12 ปี เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มากกว่าผู้โดยสาร 69% เป็นผู้บาดเจ็บรุนแรงที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และเป็นช่วงอายุที่ขับขี่และชนกับคนอื่นมากที่สุด

 

“จากข้อมูลการเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรง แสดงให้เห็นถึงปัญหาการขับขี่ก่อนวัยอันควรและการไม่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นปัญหามานานกว่า 20 ปี ที่ต้องได้รับการแก้ไขครั้งใหญ่ เช่น ใบขับขี่ชั่วคราวสำหรับผู้ขับขี่อายุ 15-17 ปี ควรจำกัดเวลาขับขี่ในช่วง 6 โมงเย็น ถึงตีห้า การห้ามซ้อนท้าย และการจำกัดปริมาตรของกระบอกสูบไม่เกิน 50 ซีซี หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย ให้ข้อสังเกต

 

คุณหมอชไมพันธุ์ บอกด้วยว่า เรื่องการจำกัดปริมาตรกระบอกสูบเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหากปริมาตรกระบอกสูบมีปริมาณน้อย จะเชื่อมโยงถึงเรื่องการจำกัดความเร็วของรถได้ จากข้อมูลที่ได้รับคือ หากเปรียบเทียบรถจักรยานยนต์ที่ขายในประเทศไทยกับต่างประเทศ พบว่ารถจักรยานยนต์ที่ขายในประเทศไทยมีปริมาตรกระบอกสูบ 125 ซีซี เท่ากัน แต่ไทยให้ความเร็วมากกว่า ขนาดวงล้อกว้างกว่า ขนาดความยาวเบาะมากกว่า ในขณะที่หน้ายางแคบกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง

 

“คุณลักษณะเป็นข้อสังเกตว่า รถจักรยานยนต์ที่ขายในประเทศไทยมีคุณลักษณะที่รองรับการโดยสารได้หลายคน โฉบเฉี่ยว ใช้ความเร็วได้ สามารถนำไปดัดแปลงสภาพได้ง่าย และพลิกคว่ำได้ง่ายกว่ารถจักรยานยนต์ที่ขายในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น”

 

หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงการโฆษณารถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน พบว่า มีลักษณะที่ส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ เช่น ภาพยกล้อหน้าขณะเข้าเส้นชัยในงานเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ภาพผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย และภาพเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์เพื่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้ มีงานวิจัยเชิงสังคม พบว่า การใช้รถจักรยานยนต์ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ทำให้ชีวิตเด็กเปลี่ยนไป กลับบ้านช้า ประสบอุบัติเหตุ พัวพันการก่ออาชญากรรม และการสร้างครอบครัวที่อ่อนแอ เป็นต้น

 

ด้าน ศิริวรรณ สันติเจียรกุล ผู้แทนจากโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำนวนหลายคนในประเทศไทยเป็นที่แปลกใจของชาวต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย และเป็นการใช้งานที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่น นอกจากนี้ ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ผลทดสอบขับขี่ เพื่อควบคุมการทรงตัวของรถ ที่ความเร็ว 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจักรยานยนต์ที่หน้ายางกว้างขึ้นจะช่วยผู้ขับขี่ควบคุมรถขณะเคลื่อนเปลี่ยนทิศทางได้มีเสถียรภาพกว่ารถหน้ายางแคบ

 

“นอกจากยางรถแล้ว ยังพบว่าตะกร้าหน้ารถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน สาเหตุจากการควบคุมรถขาดเสถียรภาพ บดบังแสงไฟส่องสว่าง และง่ายต่อการเป็นที่วางหมวกนิรภัยขณะขับขี่” ศิริวรรณบอก และว่า ทั้งนี้ การจำกัดขีดความสามารถของเครื่องยนต์สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มือใหม่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์

 

ศิริวรรณ ยังบอกด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่นได้จำกัดขนาดเครื่องยนต์และประสิทธิภาพของรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในประเทศ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และพบว่าสามารถลดการเสียชีวิตลงได้ถึง 25% แต่น่าเสียดายที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้มาตรการนี้กับการส่งออกรถจักรยานยนต์ใหม่จากญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น

 

ทั้งนี้ คุณหมอชไมพันธุ์ ได้เสนอแนะในตอนท้ายว่า การดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ควรมีการขับเคลื่อนภาคราชการ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดที่มีน้ำหนักอย่างน้อย 30% และควรมีรถจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยเพื่อให้ประชาชนเลือกใช้งาน โดยรถจักรยานยนต์ที่หน้ายางแคบ ขนาดวงล้อกว้าง มีความเร็วควรปรับลดจำนวนให้หมดไปมุ่งสู่จักรยานยนต์ที่มีหน้ายางกว้าง ขนาดวงล้อเล็ก 12 นิ้ว และจำกัดความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีความปลอดภัยเท่าเทียมกับประเทศที่เป็นเจ้าของและควบคุมในการผลิตด้วย

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thairath.co.th/lifestyle/auto/1980469

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *