ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมให้บริการทั้ง กทม. นครปฐม ภายใต้การทำงานร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นอกจากให้บริการประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังเป็น “สถานที่ฝึกปฎิบัติ” ของนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล และทั่วประเทศ
ปัจจุบัน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มีจำนวนเตียงราว 80 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยราว 3.5 แสนคนต่อปี มีแพทย์ 80 คน และอยู่ระหว่างการศึกษาต่อ 20 คน รวมถึงพยาบาลรวม 300 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาด้านกระดูกและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการรักษามากขึ้น นำมาซึ่งการเปิดศูนย์บริการทางการแพทย์ใหม่ 9 ศูนย์ เพื่อให้ครอบคลุมบริการ และเพียงพอต่อความต้องการ ลดความแออัด เพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในบางบริการที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้บริการเอกชนซึ่งมีราคาแพง หรือ ต่อคิวนาน เช่น ล้างไต และ ตรวจการนอนหลับ
“รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร” ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว “หนึ่งศรัทธา สู่ล้านการเกื้อกูล” ว่า การเปิดศูนย์บริการทางการแพทย์ใหม่ 9 ศูนย์ ได้แก่ “ศูนย์ล้างไต” ซึ่งจะเปิดบริการ 48 เตียง รักษาได้ 3 รอบต่อวัน สามารถดูแลคนไข้ได้ประมาณ 120 คนต่อวัน ถือเป็นการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ โดยระบบน้ำภายในศูนย์ล้างไต ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมันไม่มีสารเคมี เตียงสั่งทำพิเศษ รวมถึงนำเทคโนโลยีเชื่อมต่อเก็บข้อมูลคนไข้ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมดราว 300 ราย
“ที่ผ่านมา พบว่าตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ผู้ป่วยต้องรอคิวนานเป็นปี ขณะที่การตรวจรักษาสำหรับโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้”
ถัดมา คือ “ศูนย์ตรวจการนอนหลับ” ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยต้องจองคิวใน รพ.รัฐ เป็นปี ที่นี่รองรับได้ 3 เตียงต่อคืน ไม่รวมการตรวจในช่วงกลางวันมากกว่า 10 คนต่อวัน “ศูนย์ออกซิเจนความดันสูงบำบัด” (Hyperbaric Oxygen Therapy : HBO) เพิ่มจำนวนเครื่องรวม 4 เครื่อง เพิ่มความสามารถในการดูแลผู้ป่วย โดยเครื่องออกซิเจนความดันสูงบำบัด 1 เครื่อง สามารถใช้ได้ 6 คนต่อวัน
ดังนั้น หากมีทั้งหมด 4 เครื่อง จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 24 คนต่อวัน ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และมีปัญหาการขาดเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะปลายทางต่างๆ, ผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจน, ตาบอดเฉียบพลัน, หูดับเฉียบพลันซึ่งอันตรายต้องรีบรักษา, ผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนจากการได้รับแก๊สพิษ และผู้ป่วยที่มีแผลตามร่างกายจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
“คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ” Acute Respiratory Infection Clinic (ARI clinic) และโรคติดเชื้อทางการสัมผัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ คางทูม เริม เป็นต้น “ศูนย์กุมารเวชกรรม” (Pediatric Medicine) ให้บริการกลุ่มผู้ป่วยเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 15 ปี ทั้งผู้ป่วยทั่วไป และ ภาวะวิกฤต “ศูนย์ห้องผ่าตัด” (Operating Room) ให้บริการทางวิสัญญีวิทยาและการผ่าตัดในระดับทุติยภูมิ ในสาขาศัลยกรรมทั่วไป รวมทั้งหัตถการตรวจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ
“หอผู้ป่วยสามัญชั้น G” เปิดให้บริการจำนวนเตียง 18 เตียง โดยให้บริการผู้ป่วยชาย 9 เตียงและผู้ป่วยหญิง 9 เตียง “ห้องพักบุคลากร” ห้องพักจำนวน 37 เตียง ให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และทีมงาน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการรักษา และ “หน่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน” (Emergency department) ให้บริการผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่มีภาวะเร่งด่วนจนถึงภาวะที่คุกคามต่อชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมตั้งเป้าสร้าง “ศูนย์อุบัติเหตุ” เพื่อรองรับการเรียนการสอนและดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุในพื้นที่ช่วงรอยต่อระหว่าง จ.นครปฐม และ กทม. รวมถึงรับส่งต่อผู้ป่วยจากภาคใต้ตอนบน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการดูแลปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยไฟไหม้ เพิ่มอุปกรณ์การแพทย์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะเกิดขึ้นระยะ 1-2 ปีนี้
สำหรับทิศทางในปี 2564-2565 รศ.นพ.ธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฯ วางแผนเปิดคลินิกให้บริการด้านสูตินรีเวช เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยเด็ก, กลุ่มผู้ป่วยวัยเจริญพันธุ์ และบริการด้านศัลยกรรมทั่วไปให้มากขึ้น ตอบโจทย์การรักษาแบบครบวงจรทุกช่วงอายุ รวมถึง มีแผนลงทุนในการสร้างหน่วยให้เคมีบำบัด หน่วยวันเดย์ทรีตเม้นท์ หรือ “คีโมเทอราปี” (Chemotherapy) เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยบางรายไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่จำเป็นต้องได้รับยาด้วยทีมพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ
“การใช้รังสีในการรักษา ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกัน การวินิจฉัยแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีก้อนเนื้อที่สามารถผ่าตัดได้ และหลังผ่าตัดจำเป็นต้องได้รับการฉายแสง หรือ พบว่า มีก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะต้องได้รับการฉายแสงอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยต้องรอคิวฉายแสงรักษามะเร็งเป็นเวลานาน ดังนั้น การสร้างหน่วยวันเดย์ทรีตเม้นท์ จะสามารถตอบสนองการรักษา โดยเฉพาะเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่ามีภาวะเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกมากขึ้นในอนาคต” รศ.นพ.ธีระ กล่าว
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างตึกสำหรับผู้ป่วยจำนวน 200 เตียง ห้องผ่าตัดเพิ่มขึ้นจากเดิม 8 ห้อง เป็น 16 ห้อง ห้องไอซียูจากเดิม 12 ห้อง เป็น 20 ห้อง ประสิทธิภาพรองรับผู้ป่วยจากเดิม 3.5 แสนคนต่อปี เป็น 7 แสนคนต่อปี ช่วยชีวิตคนไข้ได้มากขึ้นกว่าเดิม คาดจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ปี 2564 และ ในอนาคต มีแผนสร้างอาคารอีกหลังจำนวน 200 เตียง
ทำให้ รพ. สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 400 เตียง หรือเกือบล้านคนต่อปี เพิ่มพยาบาลจากเดิม 300 คน เป็น 500 คน และเป็น 800 คนในอนาคต เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ให้เป็นโรงพยาบาลที่ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์ ทั้งแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ต่อยอดด้านต่างๆ สำหรับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้สามารถมาฝึกวิชาได้ในอนาคต