ความพิการประเภทที่ 7 ออทิสติก
คือความผิดปกติด้านพัฒนาการของเด็กใน 3 ด้านหลัก ๆ คือ
1.ด้านสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
2.ด้านภาษาและการสื่อความหมาย
3.ด้านพฤติกรรมและความสนใจ
เด็กจะชอบแยกตัวอยู่เพียงลำพัง ทำให้ขาดการเรียนรู้จากสิ่งรอบข้าง พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ จึงไม่เหมาะสมตามวัย ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
พฤติกรรมที่เกิดขึ้น
– ชอบอยู่คนเดียว ไม่สนใจผู้อื่น
– เข้ากับใครได้ยาก ไม่ชอบสบตา
– แสดงความต้องการของตัวเองไม่ได้ หรือถ้าได้ วิธีการแสดงออกก็ไม่เหมาะสม
– พัฒนาการทางภาษามีความบกพร่อง
– ชอบส่งเสียงประหลาด หรืออาจพูดไม่ได้
– ไม่เข้าใจคำสั่ง แม้เป็นคำง่าย ๆ
– ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ
– สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น
– เล่นกับเพื่อน หรือของเล่นไม่เป็น
– มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น ใส่เสื้อผ้าแบบเดิม กินอาหารแบบเดิม
– มีความบกพร่องด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว
หลักการกระตุ้นพัฒนาการ
– เข้าใจโลกของเด็ก โดยเข้าใจทั้งความรู้สึกนึกคิดและความรู้สึกของเด็กก่อนที่จะสอนให้ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ
– กระตุ้นพัฒนาการแบบองค์รวม เด็กควรได้รับการกระตุ้นการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
– ฝึกตามลำดับของพัฒนาการ ให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้ป่วย
– จัดโปรแกรมตามความเหมาะสม ทั้งในด้านความถนัดและจุดแข็ง จุดอ่อน
– ฝึกระเบียบวินัย ให้รู้จักวางแผนเพื่อจัดการตนเอง
– เรียนรู้จากของจริง เพื่อสร้างความคุ้นเคย และช่วยให้เด็กเรียนรู้ง่ายขึ้น
– เรียนรู้จากภาพ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในทันที
– เริ่มฝึกจากสิ่งง่าย ๆ แล้วค่อยเพิ่มความยากขึ้น
– ฝึกซ้ำ เพื่อให้เด็กทำได้ดีขึ้น ช่วยให้ทำได้ จำได้ และรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัยต่อสิ่งใหม่
ทักษะพื้นฐานที่ควรฝึก
– การมองหน้า สบตาและมองตาม
– ฝึกสมาธิและการควบคุมตนเอง
– ฝึกให้ฟังและทำตามคำสั่ง
– ฝึกให้รู้จักชื่อของตนเองและผู้อื่น
– ฝึกให้รู้จักเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
– ฝึกเรื่องอารมณ์ ให้รู้จักสีหน้าและอารมณ์ที่แตกต่างกัน อันจะช่วยให้ผู้ป่วยมีการแสดงออกและจัดการกับอารมณ์ตนเองได้
– ในการฝึกด้านการสื่อสาร สำหรับเด็กที่ยังพูดไม่ได้ ควรใช้ท่าทางร่วมด้วย โดยสอนคำศัพท์จากของจริง เลือกของที่อยู่ใกล้ตัวก่อน สามารถใช้รูปภาพแทนได้ในกรณีที่หาของจริงไม่ได้ จากนั้นสอนให้เด็กเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสถานการณ์จริง
– ปรับระบบรับความรู้สึก ในคนปกติจะมีการทำงานที่ประสานกัน แต่สำหรับเด็กที่มีภาวะนี้อาจมีปัญหาในบางระบบหรือหลายระบบร่วมกันได้ ผู้ปกครองควรมีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะประกอบด้วย
1.การรับสัมผัส ปัญหาที่พบบ่อยคือ ไวต่อความรู้สึกมาก อาจเกิดพฤติกรรมหลีกหนีหรือต่อต้านสัมผัส
2.การทรงตัวและการเคลื่อนไหว ปัญหาที่พบบ่อยคือ มีการทรงตัวไม่ดี รู้สึกไม่มั่นคง ปลอดภัย ในที่สูงหรือต้องเปลี่ยนสมดุลร่างกาย
3.การรับรู้กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ ปัญหาที่พบบ่อยคือ เด็กต้องได้รับการกระตุ้นที่มากกว่าปกติ
4.การได้ยิน พฤติกรรมที่เกิดขึ้นค่อนข้างหลากหลาย เช่น ร้องไห้เมื่อได้ยินเสียง
5.การมองเห็น เด็กออทิสติกส่วนใหญ่มีการมองเห็นได้ในภาวะปกติ แต่สิ่งที่แปลผลและตอบสนองออกมาอาจผิดเพี้ยนไป เช่น ไวต่อแสง มีความยากลำบากในการแยกแยะภาพที่คล้ายกัน
6.การดมกลิ่น ปัญหาที่พบบ่อยมีทั้งในรูปแบบการต่อต้าน หรือประเภทที่ชอบดมกลิ่นมากกว่าปกติ เช่น คลื่นไส้ต่อกลิ่นบางชนิด หรือชอบดมวัตถุ แม้ว่านั่นเป็นสิ่งอันตรายที่ไม่ควรดม เช่น ขยะ กาว
7.การรับรส ปัญหาที่พบบ่อยมีทั้งในรูปแบบการต่อต้าน หรือประเภทที่ชอบตัวกระตุ้น เช่น เด็กที่คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อทานอาหารที่มีรสจัด หรือเด็กที่ชอบรับประทานอาหารที่มีรสเข้มข้น โดยจะปฏิเสธอาหารรสจืด
ผู้มีภาวะทางออทิสติก จะเป็นผู้ที่มีปัญหาในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน แต่ว่ากันว่าเพราะคนกลุ่มนี้เองที่ช่วยให้เกิดสิ่งประดิษฐ์หลาย ๆ อย่างขึ้นมาบนโลก ต้องขอขอบคุณในความพยายามและความมั่นคงที่ช่วยให้เกิดการจดจ่ออยู่กับบางสิ่ง แบบที่ว่าคนปกติคงไม่มีความอดทนขนาดนั้น พยายามกันต่อไปนะคะ